แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในกรณีที่ศาลฎีกาต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค2ฟังมาแต่ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค2ฟังมายังไม่ชัดเจนพอศาลฎีกามีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่จากพยานหลักฐานในสำนวนได้ ขณะโจทก์จำเลยตกลงซื้อขายที่ดินที่จำเลยมีสิทธิเข้าทำกินในนิคมทุ่งสานโจทก์จำเลยมีข้อตกลงกันด้วยว่าหากทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่จำเลยแล้วจำเลยจะจดทะเบียนโอนที่ดินนั้นแก่โจทก์ต่อไปการซื้อขายที่ดินดังกล่าวระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นสัญญาจะซื้อขายกันเท่านั้นไม่ใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดทั้งข้อกำหนดห้ามโอนที่ดินที่โจทก์จำเลยตกลงซื้อขายกันก็เพิ่งจะประทับตราด้านหลังหนังสือรับรองการทำประโยชน์เมื่อปี2529หลังจากโจทก์จำเลยตกลงกันแล้วเกือบ1ปีจึงเป็นที่เห็นได้ว่าขณะโจทก์ตกลงซื้อที่ดินจากจำเลยโจทก์ไม่ทราบว่าที่ดินนั้นมีข้อกำหนดห้ามโอนตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพพ.ศ.2511การซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์จำเลยในขณะนั้นจึงไม่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามหรือฝ่าฝืนกฎหมายเมื่อจำเลยไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายให้แก่โจทก์เพราะมีข้อกำหนดห้ามโอนที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพพ.ศ.2511โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยได้เมื่อโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้วผลของการเลิกสัญญาคู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมจำเลยจึงต้องคืนเงินค่าที่ดินที่ได้รับชำระจากโจทก์จำนวน65,000บาทแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ปี 2523 จำเลยกู้เงินโจทก์จำนวน 35,000 บาทโดยมอบที่ดิน 1 แปลง ตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (น.ค.1) ให้โจทก์ทำกินต่างดอกเบี้ย ต่อมาปี 2528จำเลยตกลงขายที่ดินแปลงดังกล่าวแก่โจทก์ในราคา 65,000 บาทโจทก์ได้ชำระเงินให้จำเลยจำนวน 30,000 บาท ส่วนที่เหลือจำเลยยอมให้โจทก์หักหนี้เงินที่จำเลยกู้จากโจทก์จำนวน 35,000 บาทดังกล่าว จำเลยสัญญาว่าจะจดทะเบียนโอนที่ดินให้โจทก์เมื่อได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ต่อมาเดือนมีนาคม 2532 โจทก์ทราบว่าจำเลยได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินดังกล่าวจากทางราชการ แล้วนำไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่นางผูก ปทุมา โจทก์ประสงค์จะกลับคืนสู่ฐานะเดิมเนื่องจากนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์จำเลยกระทำโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 65,000 บาท แก่โจทก์ แล้วรับมอบสิทธิการครอบครองที่ดินคืนไปจากโจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้ศาลพิพากษาว่านิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์จำเลยเป็นโมฆะ ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 65,000 บาท แก่โจทก์ และรับมอบสิทธิครอบครองที่ดินจากโจทก์
จำเลยให้การว่า ได้กู้เงินจากโจทก์จำนวน 35,000 บาทจริง และมอบที่ดิน น.ค.1 ให้โจทก์ทำกินต่างดอกเบี้ย ซึ่งภายหลังทางราชการได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินดังกล่าวเป็น น.ส. 3 ก.เลขที่ 2233 และ 2246 เนื้อที่รวม 9 ไร่เศษ จำเลยได้นำไปจำนองแก่ผู้มีชื่อ ต่อมาปี 2532 โจทก์เรียกให้จำเลยชำระหนี้คืนจำเลยไม่มีเงินจะชำระจึงตกลงกันให้จำเลยโอนที่ดินแปลง น.ส.3 ก.เลขที่ 2246 เนื้อที่ 1 ไร่เศษ แก่โจทก์แทน แต่เนื่องจากที่ดินดังกล่าวยังอยู่ในกำหนดห้ามโอนจึงยังโอนกันไม่ได้ จนบัดนี้โจทก์กลับไม่ยอมรับโอนที่ดิน แต่ต้องการเงินจำนวน 35,000 บาทคืนจำเลยไม่เคยตกลงขายที่ดินแปลง น.ส.3 ก. เลขที่ 2233 ให้โจทก์และไม่เคยได้รับเงินค่าที่ดินจำนวน 30,000 บาทจำเลยจึงรับผิดเพียงต้นเงินกู้ 35,000 บาท เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ซื้อที่ดินจากจำเลยโดยรู้ว่าไม่สามารถโอนกันได้ตามกฎหมาย ถือได้ว่าโจทก์ชำระหนี้ให้จำเลยโดยไม่มีความผูกพันธ์ต้องชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 407 และ 411 โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินคืนจากจำเลยพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 65,000 บาท แก่โจทก์ และรับมอบที่ดินคืนไปจากโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมายมีใจความว่าโจทก์ซื้อที่ดินจากจำเลยโดยทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินนั้นอยู่ในกำหนดห้ามโอนตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511การซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์จำเลยจึงมีวัตถุประสงค์ฝ่าฝืนข้อห้ามของกฎหมายโดยชัดแจ้งโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าที่ดินที่ได้ชำระแล้วคืนจากจำเลยนั้น ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังมา แต่ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังมายังไม่ชัดเจนพอศาลฎีกามีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่จากพยานหลักฐานในสำนวนได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเดิมจำเลยกู้เงินโจทก์ไปจำนวน 35,000 บาท โดยจำเลยได้มอบที่ดินในนิคมทุ่งสาน จังหวัดพิษณุโลก เนื้อที่ประมาณ 21 ไร่ตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (น.ค.1) เอกสารหมายจ.1 ให้โจทก์ทำกินต่างดอกเบี้ย ต่อมาปี 2528 จำเลยไม่ชำระเงินกู้แต่ตกลงขายที่ดินดังกล่าวตีใช้หนี้แก่โจทก์ในราคา 65,000 บาทโดยมีข้อตกลงกันว่า หากทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลยแล้ว จำเลยจะจดทะเบียนโอนที่ดินนั้นให้แก่โจทก์ต่อไป โจทก์จึงได้ชำระเงินให้แก่จำเลยเพิ่มอีกจำนวน30,000 บาท ปี 2529 ทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ให้แก่จำเลย 2 ฉบับ มีเนื้อที่รวมกัน 9 ไร่1 งาน 39 ตารางวา โดยมีตราประทับข้อกำหนดห้ามโอนภายใน5 ปี ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพไว้ที่ด้านหลังปรากฏตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.3และจ.4 จำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนโอนที่ดินนั้นแก่โจทก์แต่กลับนำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองแก่นางผูก ปทุมา ต่อมาปี2532 จำเลยได้ทำบันทึกให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.6 มีข้อความว่า จำเลยจะจัดการไถ่ถอนจำนองจากนางผูกและจะจดทะเบียนโอนที่ดินตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์นั้นให้แก่โจทก์แต่เมื่อจำเลยไถ่ถอนจำนองแล้วไม่จัดการโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่า ขณะโจทก์จำเลยตกลงซื้อขายที่ดินที่จำเลยมีสิทธิเข้าทำกินในนิคมทุ่งสานให้แก่กันนั้น โจทก์จำเลยมีข้อตกลงกันด้วยว่า หากทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยจะจดทะเบียนโอนที่ดินนั้นแก่โจทก์ต่อไป การซื้อขายที่ดินดังกล่าวระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นสัญญาจะซื้อขายกันเท่านั้น ไม่ใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด ทั้งข้อกำหนดห้ามโอนที่ดินที่โจทก์จำเลยตกลงซื้อขายกันก็เพิ่งจะประทับตราด้านหลังหนังสือรับรองการทำประโยชน์เมื่อปี2529 หลังจากโจทก์จำเลยตกลงกันแล้วเกือบ 1 ปี จึงเป็นที่เห็นได้ว่าขณะโจทก์ตกลงซื้อที่ดินจากจำเลย โจทก์ไม่ทราบว่าที่ดินนั้นมีข้อกำหนดห้ามโอนตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพพ.ศ. 2511 การซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์จำเลยในขณะนั้นจึงไม่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามหรือฝ่าฝืนกฎหมายดังที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใดเมื่อจำเลยไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายให้แก่โจทก์ เพราะมีข้อกำหนดห้ามโอนที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยได้ เมื่อโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้วผลของการเลิกสัญญา คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมจำเลยจึงต้องคืนเงินค่าที่ดินที่รับชำระจากโจทก์จำนวน 65,000 บาท แก่โจทก์
พิพากษายืน