คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5560/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องอ้างว่าพินัยกรรมของผู้ตายเป็นโมฆะเนื่องจากพยานในพินัยกรรมลงลายมือชื่อโดยไม่เห็นผู้ตายพิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้าโดยโจทก์มิได้ปฏิเสธความถูกต้องของลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ตายตลอดจนลายมือชื่อของพยานในพินัยกรรม ตามคำฟ้องจึงไม่มีประเด็นว่าลายมือชื่อของพยานในพินัยกรรมบางคนเป็นลายมือชื่อปลอมหรือไม่การที่โจทก์นำสืบว่าลายมือชื่อของพยานสองในสามคนในพินัยกรรม เป็นลายมือชื่อปลอมย่อมเป็นการนำสืบนอกประเด็นตามคำฟ้องรับฟังไม่ได้ ที่ศาลวินิจฉัยปัญหาที่ว่าลายมือชื่อพยานปลอมหรือไม่ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นตามคำฟ้องอันเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเน้นหรือเด็นหรือเน๊นอรนพหรืออระนพ ผู้ตาย กับนางสุข อรนพ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2518 ผู้ตายถึงแก่กรรมโดยมิได้ทำพินัยกรรม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำร้องขอของโจทก์เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2538 ต่อมาวันที่ 27 เมษายน 2538 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งเดิมโดยตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกแทน อ้างว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 ตุลาคม 2512 ยกทรัพย์มรดก คือที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 135 หมู่ที่ 6 ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และที่ดินสวนยางพาราเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 6 ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา รวม 2 แปลงให้แก่จำเลย ความจริงพินัยกรรมดังกล่าวทำในขณะที่ผู้ตายชรามากแล้ว สติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ หูไม่ได้ยิน ตาฝ้าฟาง พูดจาไม่รู้เรื่องไม่สามารถแสดงเจตนาทำพินัยกรรมและไม่สามารถพิมพ์ลายนิ้วมือในพินัยกรรมได้ทั้งพยานในพินัยกรรมลงลายมือชื่อโดยไม่เห็นผู้ทำพินัยกรรมพิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้าพยานพินัยกรรมดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ ปัจจุบันจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 137หมู่ที่ 6 ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นที่ดินสวนยางพารา ขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 ตุลาคม 2512 เป็นโมฆะ ให้จำเลยส่งมอบที่ดินส.ค.1 เลขที่ 137 หมู่ที่ 6 ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา แก่โจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินแปลงดังกล่าว

จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2512 ผู้ตายได้ไปทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินซึ่งเป็นที่ดิน 2 แปลง คือที่ดินนาตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 135เนื้อที่ 3 ไร่เศษ กับที่ดินสวนเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นบุตรเลี้ยงพินัยกรรมดังกล่าวทำถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนด ทั้งขณะที่ทำพินัยกรรมนั้นผู้ตายมีสติสัมปชัญญะดี หูได้ยิน ตามองเห็น พูดจารู้เรื่อง มิได้หลงลืม และได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานรวม 3 คน ดังนั้นเมื่อผู้ตายถึงแก่กรรม พินัยกรรมจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายขอให้ยกฟ้อง

โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกเทศบาลนครหาดใหญ่ ผู้ซึ่งซื้อที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) เลขที่ 137 ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา บางส่วนจากจำเลยเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต

จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยร่วมซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยโดยสุจริตมีค่าตอบแทนจำเลยร่วมเข้าครอบครองที่ดินตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2538 และนับแต่นั้นจำเลยร่วมได้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสวนสาธารณะอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พินัยกรรมตามฟ้องเป็นพินัยกรรมที่ชอบด้วยกฎหมายไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่น พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ลายมือชื่อของนายตั้ง ปานะบุตรกับนายสุนันท์ บุญชุบ พยานในพินัยกรรมเป็นลายมือชื่อปลอม พินัยกรรมเอกสารหมายจ.5 จึงมีนายดุรงค์ ชัยพฤกษ์กุล เป็นพยานเพียงคนเดียว และตกเป็นโมฆะนั้น เห็นว่าโจทก์ฟ้องอ้างว่าพินัยกรรมของผู้ตายเป็นโมฆะเนื่องจากพยานในพินัยกรรมลงลายมือชื่อโดยไม่เห็นผู้ตายพิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้า โดยโจทก์มิได้ปฏิเสธความถูกต้องของลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ตาย ตลอดจนลายมือชื่อของพยานในพินัยกรรมแต่อย่างใด ประเด็นตามคำฟ้องจึงมีว่าพินัยกรรมของผู้ตายเป็นโมฆะเนื่องจากพยานในพินัยกรรมลงลายมือชื่อโดยไม่เห็นผู้ตายพิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้าหรือไม่ และไม่มีประเด็นว่าลายมือชื่อของพยานในพินัยกรรมบางคนเป็นลายมือชื่อปลอมหรือไม่ การที่โจทก์นำสืบว่าลายมือชื่อของนายตั้งกับนายสุนันท์ พยานสองในสามคนในพินัยกรรม เอกสารหมาย จ.5 เป็นลายมือชื่อปลอมย่อมเป็นการนำสืบนอกประเด็น ตามคำฟ้องรับฟังไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองรับวินิจฉัยในปัญหาที่ว่าลายมือชื่อของนายตั้งกับนายสุนันท์เป็นลายมือชื่อปลอมหรือไม่ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นตามคำฟ้องอันเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเมื่อโจทก์มิได้ฎีกาว่าพินัยกรรมของผู้ตายเป็นโมฆะด้วยสาเหตุที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ย่อมไม่มีทางที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยปัญหาในประเด็นข้อนี้ให้เป็นคุณแก่โจทก์ได้ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องเสียนั้น ศาลฎีกาคงเห็นพ้องด้วยในผล”

พิพากษายืน

Share