คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 556/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

อาหารที่ผลิตขึ้นตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(2)ประกอบกับมาตรา 27(5) จะถึงขั้นเป็นอาหารปลอมต่อเมื่ออาหารที่ผลิตขึ้นนั้นแตก ต่างไปจากคุณภาพ หรือมาตรฐานตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขจนทำให้เกิดโทษหรือเป็นอันตรายเมื่อพยานโจทก์ไม่ยืนยันว่าอาหารที่จำเลยผลิตขึ้นจะเป็นโทษต่อร่างกายหรือจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อาหารดังกล่าวจึงมิใช่อาหารปลอม เป็นแต่เพียงอาหารผิดมาตรฐาน ตามมาตรา 25(3)ประกอบกับมาตรา 28 เท่านั้น ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษตามมาตรานี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 นิติบุคคลจะดำเนินงานหรือปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ของตนด้วยตนเองมิได้ต้องกระทำโดยผู้แทน จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลย ที่ 1 เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินหรือปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำผิดก็ได้ชื่อ ว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 ด้วย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีจำเลยที่ 2เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามแทน จำเลยทั้งสองบังอาจร่วมกันผลิตอาหารปลอมขึ้นเพื่อจำหน่าย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522มาตรา 5, 6, 25, 27, 59 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 26(พ.ศ. 2522) เรื่อง กำหนดโคเป็นอาหารควบคุมเฉพาะ และกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานและวิธีการผลิต ลงวันที่ 13 กันยายน 2522 ข้อ 12ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25, 27, 59 ให้ปรับคนละ20,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 26(พ.ศ. 2522) ข้อ 1(3) (5) และข้อ 12(8) กำหนดให้นมข้นและนมข้นหวานแปลงไขมันมีบักเตรีไม่เกิน 10,000 ต่อนม 1 กรัม ตามคำเบิกความของนางสุมณฑา วัฒนสินธุ์ นักวิทยาศาสตร์โท เจ้าหน้าที่วิเคราะห์อาหารทางจุลชีววิทยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พยานโจทกว่า พยานได้ทำการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างนมที่เจ้าหน้าที่ยึดไปจากบริษัทจำเลยที่ 1 ทั้งสามชนิดแล้ว ปรากฏว่าเฉพาะนมข้นหวานแปลงไขมันตรานกแก้วพบจุลินทรีย์จำนวนถึง 2,890.000 ต่อมิลลิลิตรหรือกรัมเกินกว่าจำนวนตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกำหนดให้มีบักเตรีได้ไม่เกิน 10,000 บาทต่อนม 1 กรัม ปรากฏตามรายงานการตรวจวิเคราะห์เอกสารหมาย ป.จ.3 จึงเป็นอาหารที่ผลิตขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าว ส่วนจะถึงขั้นเป็นอาหารปลอมนั้นต้องปรากฏว่าอาหารที่ผลิตขึ้นดังกล่าวแตกต่างไปจากคุณภาพหรือมาตรฐานที่ระบุไว้จนทำให้เกิดโทษหรือเป็นอันตรายโจทก์มีนางสุมณฑา วัฒนสินธ์ุ เพียงปากเดียวเบิกความว่า จากการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างนมข้นหวานแปลงไขมันตรานกแก้วไม่พบจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ส่วนที่จะเป็นโทษต่อร่างกายหรือจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่นั้นไม่ยืนยัน ถ้ามีจุลินทรีย์มากนับล้าน ๆ กลุ่มก็อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่นทำให้เกิดท้องร่วงท้องเดินได้เห็นว่าคำเบิกความดังกล่าวมิได้ยืนยันว่า จุลินทรีย์หรือบักเตรีที่ตรวจพบนั้นทำให้เกิดโทษต่อผู้บริโภคโดยตรง และปรากฏจากคำเบิกความนางสุมณฑาต่อไปว่า บักเตรีนั้นมีทั้งชนิดที่ทำให้เกิดโทษ และชนิดที่ไม่เป็นโทษ บางชนิดจะทำให้ประโยชน์ทางผลิตอาหาร ประกอบกับโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าการที่มีบักเตรีในนมข้นหวานแปลงไขมันดังกล่าวทำให้ส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหารหรือเกินร้อยละสามสิบจากเกณฑ์ต่ำสุดหรือสูงสุด ดังนั้นนมข้นหวานตรานกแก้วดังกล่าว จึงมิใช่อาหารปลอมตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(2) ประกอบมาตรา 27(5) แต่นมข้นหวานตรานกแก้วดังกล่าวยังเป็นอาหารที่ไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากมีจุลินทรีย์หรือบักเตรีเกินจำนวนที่ระบุไว้ จึงเป็นอาหารผิดมาตรฐานตามมาตรา 25(3) ประกอบกับมาตรา 28 ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษตามมาตรานี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 เพราะเป็นบทมีโทษเบากว่าที่โจทก์ฟ้อง ที่จำเลยอ้างว่า การที่เจ้าหน้าที่ตรวจวิเคราะห์หาบักเตรีในนมรายพิพาททำการตรวจวิเคราะห์โดยผิดหลักวิชาการและมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรมที่กำหนดไว้ กล่าวคือนางสุมณฑาได้นำนมข้นของจำเลยที่ 1 ไปเข้าตู้เพาะเชื้อเป็นเวลานานถึง 14 วัน ซึ่งตามหลักวิชาการควรเก็บนมไว้เพียง 48 ชั่วโมงเท่านั้นเนื่องจากการนำนมของจำเลยที่ 1 ไปเก็บไว้ในตู้เพาะเชื้อนานเกินไปย่อมทำให้บักเตรีที่มีอยู่เพิ่มจำนวนได้ง่าย ข้อนี้เห็นว่านมข้นที่เจ้าหน้าที่ยึดมาจากจำเลยที่ 1 นั้น รวม 3 ชนิด ซึ่งผู้ตรวจวิเคราะห์ได้นำนมข้นทั้ง 3 ชนิดเข้าเก็บไว้ในตู้เพาะเชื้อเหมือนกันแต่ผลการตรวจวิเคราะห์คงพบจุลินทรีย์ที่เกินจำนวน 10,000ต่อกรัม เพียงนมข้นหวานตรานกแก้วเท่านั้น ส่วนนมอีก 2 ชนิด ไม่พบจุลินทรีย์เกินกว่าจำนวนดังกล่าวข้ออ้างของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นนางสุมณฑา ผู้ตรวจวิเคราะห์พยานโจทก์เบิกความว่าจุลินทรีย์หมายถึงบักเตรี รวมทั้งยีสต์และรา ตามรายงานว่าเป็นจุลินทรีย์ ก็เพื่อให้ถูกต้องตามหลักวิชาการเพราะบักเตรีเป็นหนึ่งในจุลินทรีย์ จากคำพยานโจทก์ผู้ทำการตรวจวิเคราะห์นมข้นหวานตรานกแก้วของจำเลยที่ 1ดังกล่าว ฟังได้ว่า คำว่าจุลินทรีย์ในรายการตรวจวิเคราะห์นั้นหมายถึงบักเตรีนั่นเอง จำเลยที่ 1 จึงต้องมีความผิดดังวินิจฉัยข้างต้น
สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 2 รับว่าได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2523 และเป็นตลอดมาจนเกิดเหตุคดีนี้ เห็นว่าบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นเพียงบุคคลสมมติโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายเท่านั้น ดำเนินหรือปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ของบริษัทด้วยตนเองไม่ได้ ต้องกระทำโดยผู้แทน จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินหรือปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บริษัทจำเลยที่ 1 กระทำผิดก็ได้ชื่อว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับ ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติอาหารพ.ศ. 2522 มาตรา 25(3), 28, 60 ปรับจำเลยทั้งสองคนละ 20,000 บาทไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง”.

Share