คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5557/2543

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สาระสำคัญของหลักฐานเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 วรรคแรก อยู่ที่ว่า มีการแสดงให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินกันก็เพียงพอแล้วไม่ได้บังคับถึงกับจะต้องระบุชื่อของผู้ให้กู้ไว้
เอกสารฉบับพิพาทมีสาระสำคัญแสดงให้เห็นว่า จำเลยกู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้โดยไม่ได้ระบุชื่อผู้ให้กู้ลงไว้ แต่ระบุจำนวนเงินและจำเลยลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้กู้ครบถ้วน จึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อกฎหมายว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องโดยยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือจึงมีอำนาจฟ้อง แต่คดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันมีเพียง 32,812 บาท การวินิจฉัยข้อเท็จจริงของศาลชั้นต้น อาจมีผลทำให้คดีต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาให้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาในประเด็นดังกล่าวจากพยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยนำสืบก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1) ประกอบมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 30,000 บาท คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ชำระเงินต้นคืนภายในระยะ 4 เดือน จำเลยได้รับเงินไปครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยคืนแก่โจทก์ โจทก์บอกกล่าวทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 32,812 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากเงินจำนวน 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า ไม่เคยกู้ยืมเงินจากโจทก์ สัญญากู้เงินที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสัญญากู้เงินที่จำเลยลงลายมือชื่อไว้แล้วหายไป ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เอกสารหมาย จ.2 เป็นเพียงแบบพิมพ์สัญญากู้เงินที่มีการลงจำนวนเงินกู้และลายมือชื่อผู้กู้โดยไม่อาจทราบได้ว่าผู้กู้กู้ยืมเงินจากใคร จึงมิใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมอันจะให้รับฟังว่า จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์อุทธรณ์ว่าสัญญากู้ยืมเอกสารหมาย จ.2 เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมที่แสดงว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคแรกหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคแรก บัญญัติว่า “การกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” ฉะนั้น สาระสำคัญของหลักฐานเป็นหนังสือตามบทกฎหมายดังกล่าวจึงอยู่ที่ว่า มีการแสดงให้เห็นว่า มีการกู้ยืมเงินกันก็เพียงพอแล้วไม่ได้บังคับถึงกับจะต้องระบุชื่อของผู้ให้กู้ไว้ด้วยหรือหากไม่ระบุลงไว้จะต้องถือว่าไม่เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม เมื่อเอกสารหมาย จ.2 มีสาระสำคัญแสดงให้เห็นว่า จำเลยกู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้โดยไม่ได้ระบุชื่อผู้ให้กู้ลงไว้ แต่ระบุจำนวนเงินและจำเลยลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้กู้ครบถ้วนตามสาระสำคัญของบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว เอกสารหมาย จ.2 จึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเอกสารหมาย จ.2 ไม่เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อกฎหมายว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โดยยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบก่อนว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ และคดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันมีเพียง 32,812 บาท การวินิจฉัยข้อเท็จจริงของศาลชั้นต้นอาจมีผลทำให้คดีต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรให้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาในประเด็นดังกล่าวจากพยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยนำสืบก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243(1) ประกอบมาตรา 247″

พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share