แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลางก่อนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ของจำเลยหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 8 บัญญัติถึงการฟ้องคดีตามมาตรา 7(1) ต่อศาลภาษีอากรว่าจะต้องมีการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสียก่อนและบทกฎหมายมาตรานี้ หาได้บังคับเฉพาะผู้ถูกประเมินแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ ดังนั้นเมื่อจำเลยได้ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาด โจทก์จึงต้องห้ามมิให้นำคดีมาฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางตามบทกฎหมายดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายจรูญ วัฒนากร ได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งโดยมุ่งทางการค้าหรือหากำไร ต่อมาได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าว ไปเงินได้จากการขายที่ดินดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องนำมารวมคำนวณในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพราะไม่ได้รับยกเว้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๔๒(๙) ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปีภาษี ๒๕๒๓ นายจรูญมิได้นำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ โดยขอยกเว้นไว้ในแบบดังกล่าวว่าเป็นที่ดินที่ได้มาโดยมิได้มุ่งทางการค้าหรือหากำไร ซึ่งไม่ถูกต้องผลการตรวจสอบปรากฏว่านายจรูญต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาพร้อมเงินเพิ่มอีกเป็นเงิน ๘,๐๑๓,๘๔๘.๔๔ บาท แต่เนื่องจากนายจรูญถึงแก่กรรมเจ้าพนักงานประเมินจึงส่งแบบแจ้งการประเมินไปยังจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายจรูญ และส่งให้จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ในฐานะผู้รับมรดกขอให้จำเลยร่วมกันรับผิดนำทรัพย์สินจากกองมรดกของนายจรูญมาชำระค่าภาษีดังกล่าวให้โจทก์
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะส่วนตัว เจ้าพนักงานประเมินมิได้ออกหมายเรียกผู้จัดการมรดกมาไต่สวนจึงไม่มีอำนาจประเมินภาษีจากกองมรดกของนายจรูญ จำเลยได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังมิได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง นายจรูญซื้อที่ดินแปลงที่โจท์ฟ้องโดยมิได้มุ่งทางการค้าหรือหากำไร และยื่นรายการเสียภาษีไว้ครบถ้วนแล้ว
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า นายจรูญมิได้ซื้อที่ดินที่โจทก์ฟ้องมาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร เจ้าพนักงานประเมินมิได้ประเมินเรียกเก็บภาษีการค้าจากนายจรูญ นายจรูญจึงมิใช่ผู้ประกอบการค้าที่ดินการประเมินไม่ชอบ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะฟ้องเกิน ๑ ปีนับแต่นายจรูญถึงแก่กรรม
จำเลยที่ ๔ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาในเบื้องแรกว่า โจทก์มีอำนาจนำคดีนี้มาฟ้องจำเลยทั้งสี่ต่อศาลภาษีอากรกลางในฐานะทายาทของนายจรูญให้ร่วมกันนำทรัพย์สินจาก
กองมรดกของนายจรูญมาชำระค่าภาษีอากร ก่อนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ซึ่งได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไว้หรือไม่ ปัญหานี้แม้ไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ก็ตาม แต่ศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน และศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยว่าคดีนี้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว และได้ความว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังไม่ได้มีคำวินิจฉัย กรณีของโจทก์จึงต้องห้ามมิให้นำคดีมาฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลาง ตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.๒๕๒๘ ซึ่งบัญญัติว่า “คดีตามมาตรา ๗(๑) ในกรณีที่กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรบัญญัติให้คัดค้านหรืออุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยต่อเจ้าพนักงานหรือคณะ กรรมการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดไว้จะฟ้องคดีในศาลภาษีอากรได้ก็ต่อเมื่อได้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาเช่นว่านั้น และได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดคำคัดค้านหรือคำอุทธรณ์นั้นเสร็จสิ้นแล้ว ดังนั้นที่ศาลภาษีอากรกลางรับวินิจฉัยคดีของโจทก์โดยอ้างว่าประมวลรัษฎากรมิได้บัญญัติให้กรมสรรพากร โจทก์มีหน้าที่ต้องอุทธรณ์การประเมินก่อนฟ้องคดีต่อศาล โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องที่ศาลภาษีอากรกลางได้ จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาเพราะบทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติถึงการฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรในกรณีนี้ว่า จะต้องได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสียก่อน และบทกฎหมายมาตรานี้หาได้บังคับเฉพาะผู้ถูกประเมินแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ กรมสรรพากรโจทก์ก็ตกอยู่ในบังคับของกฎหมายดังกล่าวด้วย เป็นดังนี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในปัญหาอื่นอีกต่อไป
พิพากษายืน