แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีก่อนจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยให้รื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินแปลงพิพาท โจทก์ทำสัญญาประนอมยอมความกับจำเลยยอมรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินแปลงพิพาท ย่อมมีผลเท่ากับโจทก์ยอมรับว่าที่พิพาททั้งแปลงเป็นของจำเลย การที่โจทก์มายื่นฟ้องว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองที่ดินแปลงพิพาทบางส่วนมาก่อนจำเลยฟ้องขับไล่ โจทก์แล้วหาได้ไม่ เพราะมีประเด็นต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงพิพาทอีก ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีที่ดิน ๑ แปลง ได้ขอออก น.ส.๓ก. เลขที่ ๕๓๖ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙ นายผุย พลัดทุกข์ สามีโจทก์ มีที่ดิน ๑ แปลง นายผุยได้ขอออกโฉนดเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๒๙๗ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๓ ซึ่งมีอาณาเขตรุกล้ำที่ดินโจทก์ด้านทิศเหนือ เนื้อที่ ๒ งาน ในปีเดียวกันนายผุยขายที่ดินแปลงนั้นให้จำเลย โจทก์ได้ครอบครองที่ดินส่วนที่รุกล้ำที่โจทก โดยความสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกิน ๑๐ ปีแล้ว ขอให้พิพากษาว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนที่รุกล้ำดังกล่าวห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง
จำเลยให้การว่า จำเลยซื้อที่ดินของนายผุยเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ หลังจากนั้นโจทก์และนายผุยได้ปลูกบ้านลงบนที่ดินแปลงดังกล่าวจนกระทั่งนายผุยถึงแก่กรรม ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๒๖ จำเลยได้ฟ้องขับไล่โจทก์ให้รื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินของจำเลย โจทก์ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจะรื้อถอนบ้านออกไป เมื่อโจทก์รื้อถอนบ้านออกไปแล้วก็มิได้เข้ามาเกี่ยวข้องอีก จนปี พ.ศ.๒๕๒๘ โจทก์และบริวารบุกรุกเข้าไปบ้าน ยังไม่ถึง ๑๐ ปี ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดชี้สองสถานคู่ความรับกันว่าที่พิพาทอยู่ในเขตที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๒๙๗ ของจำเลย และได้เคยฟ้องร้องกันมาแล้วเกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้ดังที่จำเลยให้การ ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว และพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีก่อนจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องว่าที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๒๙๗ เป็นของจำเลย ให้โจทก์คดีนี้รื้อถอนบ้านเลขที่ ๗๙๑ ออกไปและห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องในที่ดินอีก คดีถึงที่สุดโดยโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๒๙๗ แม้ในคดีก่อนจะไม่ปรากฏว่า ที่ดินพิพาทซึ่งปลูกบ้านเลขที่ ๗๙๑ มีเนื้อที่เท่าใด และมิได้มีการทำแผนที่ว่าอยู่ที่ใดในโฉนดเลขที่ ๒๒๙๗ ดังที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นได้ชัดว่าคู่ความต่างทราบดีว่า ที่ดินพิพาทมีเนื้อที่เท่าใดอยู่ที่ใด จึงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันดังกล่าว ซึ่งมีผลเท่ากับว่า โจทก์ยอมรับว่าที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๒๙๗ ทั้งแปลงเป็นของจำเลยนั่นเอง คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าเมื่อปี ๒๕๑๓ ซึ่งเป็นเวลาก่อนโจทก์ถูกฟ้องในคดีก่อน นายผุยได้ออกโฉนดที่ดิน ๒๒๙๗ ดังกล่าวรุกล้ำที่ดินโจทก์ทางด้านทิศเหนือส่วนหนึ่ง เนื้อที่ประมาณ ๒ งาน โจทก์ครอบครองจนได้กรรมสิทธิ์แล้วขอให้พิพากษาว่าที่ดินส่วนนั้นเป็นของโจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยประเด็นแห่งคดีจึงมีว่า ที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตโฉนดเลขที่ ๒๒๙๗ นั้น เป็นของโจทก์หรือจำเลย เป็นที่เห็นได้ชัดว่าโจทก์จำเลยพิพาทกับในคดีนี้เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินในโฉนดเลขที่ ๒๒๙๗ อีกซึ่งโจทก์จำเลยได้เคยพิพาทกันในประเด็นเดียวกันนี้มาแล้ว ทั้งโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ไว้ และศาลได้พิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้วในคดีก่อนนั่นเอง ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นคดีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ต้องห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๘
พิพากษายืน