คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 758-759/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ธนาคารโจทก์ที่ 2 มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการประกอบกิจการการเงินการธนาคาร แต่กิจการใดที่กระทำให้กิจการหลักของโจทก์ที่ 2 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โจทก์ที่ 2ย่อมจะกระทำได้ การเล่นกีฬาของพนักงานของโจทก์ที่ 2ตามระเบียบของธนาคารโจทก์ที่ 2 เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดของพนักงาน ทำให้งานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ แสดงว่าการเล่นกีฬาเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้กิจการหลักมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังนั้นการที่โจทก์ที่ 2 สั่งให้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานลงแข่งขันกีฬา จึงเป็นการสั่งให้ปฏิบัติงานตามทางการที่จ้างของโจทก์ที่ 2 เมื่อโจทก์ที่ 1 ประสบอันตรายจากการเล่นกีฬา จึงเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง
เงินค่าครองชีพที่จ่ายให้ลูกจ้างเท่ากันทุกเดือน เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างเพื่อเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน ถือว่าเป็นค่าจ้าง.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นพนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรโจทก์ที่ 2 ซึ่งต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนตามกฎหมาย ส่วนจำเลยมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการเกี่ยวกับกองทุนเงินทดแทนในสำนักงานกองทุนเงินทดแทน โดยมีคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนทำหน้าที่ปฏิบัติงานโจทก์ที่ 1 ได้รับแต่งตั้งจากโจทก์ที่ 2 ให้เป็นนักกีฬาไปแข่งขันกีฬาแชร์บอลในการแข่งขันกีฬาประเพณีวันสหกรณ์ประจำปี พ.ศ. 2530 ซึ่งตามระเบียบของโจทก์ที่ 2ถือว่าเป็นการปฏิบัติงานของนายจ้าง โจทก์ที่ 1 ได้รับบาดเจ็บจากการแข่งขัน ทำให้เส้นเอ็นที่หัวเข่าขวาฉีกขาดต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ขณะที่โจทก์ที่ 1 ประสบอันตรายได้รับค่าจ้างเดือนละ 3,145 บาท และค่าครองชีพเดือนละ400 บาท มีสิทธิได้รับค่าทดแทน 1,347 บาท และโจทก์ที่ 2ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่สถานพยาบาลไปก่อนแล้วเป็นเงิน9,375 บาท โจทก์ทั้งสองได้ยื่นคำขอเพื่อใช้สิทธิเรียกเงินทดแทน แต่พนักงานเงินทดแทนมีคำวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 1มิได้ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าว ต่อมาจำเลยมีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์โจทก์ทั้งสองไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของจำเลย จึงขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนและให้จ่ายเงินค่าทดแทนให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 1,347 บาท หากนับแต่วันฟ้องโจทก์ที่ 1 ไม่สามารถปฏิบัติงานให้นายจ้างได้เนื่องจากเหตุประสบอันตรายดังกล่าว ให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนตามกฎหมายให้โจทก์ที่ 1 ด้วย และค่ารักษาพยาบาลจำนวน 9,375บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ที่ 1 เป็นลูกจ้างประจำของโจทก์ที่ 2ตำแหน่งพนักงานประชาสัมพันธ์ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 2,900 บาทค่าครองชีพเดือนละ 400 บาท แต่โจทก์ที่ 2 มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจการเงินการธนาคาร มิใช่เพื่อการกีฬาการที่โจทก์ที่ 1 ได้รับบาดเจ็บขณะที่ลงแข่งขันแชร์บอลเป็นเรื่องนอกทางการที่จ้างและอยู่นอกเวลาทำงานตามปกติจึงมิใช่เป็นการประสบอันตรายตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 คำวินิจฉัยของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและมติของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจึงชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ค่าครองชีพจะนำมารวมกับเงินเดือนในการคำนวณค่าทดแทนไม่ได้
ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นว่า
1. โจทก์ที่ 1 ได้รับค่าจ้างขณะประสบอันตรายเดือนละเท่าใด
2. โจทก์ที่ 1 ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างหรือเพื่อประโยชน์ของนายจ้างหรือไม่ และมีเหตุเพิกถอนคำสั่งของจำเลยหรือไม่
3. โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับเงินตามฟ้องเพียงใดหรือไม่
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว วินิจฉัยประเด็นข้อ 1 ว่า โจทก์ที่ 1ได้รับเงินเดือนเดือนละ 2,900 บาท และค่าครองชีพเดือนละ 400บาท ส่วนประเด็นข้อ 2 วินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับคำสั่งจากโจทก์ที่ 2 ให้ไปร่วมแข่งขันกีฬาในวันสหกรณ์ ซึ่งเป็นการส่งเสริมความสามัคคีระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการสหกรณ์ที่เป็นวัตถุประสงค์ของโจทก์ที่ 2 ถือว่าเป็นงานพิเศษที่นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างปฏิบัติ เมื่อโจทก์ที่1 ได้รับบาดเจ็บ จึงเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 คำวินิจฉัยของจำเลยไม่ถูกต้องและวินิจฉัยประเด็นข้อ 3 ว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับค่าจ้างเดือนละ3,300 บาท โจทก์ที่ 1 มีสิทธิได้รับค่าทดแทน 1,254 บาท โดยมีสิทธิได้รับเงินทดแทนนับแต่วันที่ประสบอันตราย สำหรับโจทก์ที่ 2 ฟังได้ว่า ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลไปเป็นเงิน 9,375บาท จริง พิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ มท.1111/12302 กับ มท.1111/12303 และให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 1,254 บาท จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 9,375 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการประกอบกิจการการเงินการธนาคาร มิใช่เพื่อการกีฬา และการแข่งขันกีฬาของโจทก์ที่ 1 ก็อยู่นอกเวลาทำงานตามปกติระเบียบฉบับที่ 21 ว่าด้วยการแข่งกีฬาของธนาคาร ฟังไม่ได้ว่าเป็นคำสั่งของนายจ้างให้โจทก์ที่ 1 ไปแข่งกีฬา เพราะไม่ได้มีข้อกำหนดว่าพนักงานของธนาคาร ฯ จะต้องเล่นกีฬาและการเล่นกีฬาเป็นการเฉพาะตัวไม่อาจบังคับกันได้หากโจทก์ที่ 1 ไม่สมัครใจเข้าร่วมแข่งขันกีฬา ธนาคารซึ่งเป็นนายจ้างก็ไม่อาจลงโทษโจทก์ที่ 1 หรือเลิกจ้างได้ เพราะไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติผิดระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวกับสภาพการจ้างการแข่งขันกีฬาของโจทก์ที่ 1 จึงมิใช่การปฏิบัติงานตามทางการที่จ้างพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้โจทก์ที่ 2 จะมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการประกอบกิจการการเงินการธนาคารก็ตามแต่กิจการใดที่หากกระทำแล้วจะทำให้กิจการหลักของโจทก์ที่ 2 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โจทก์ที่ 2 ก็ย่อมจะกระทำการดังกล่าวได้ ตามระเบียบฉบับที่ 21 ว่าด้วยการแข่งกีฬาของธนาคาร ซึ่งเป็นระเบียบที่โจทก์ที่ 2 กำหนดขึ้นในข้อ 3 (3) ก็กำหนดว่า เพื่อเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดของพนักงานจากการปฏิบัติงานประจำวันอันจะส่งผลให้การปฏิบัติงานของพนักงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนข้อ 3 (4)กำหนดว่า เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ภายในและภายนอกของธนาคารแสดงให้เห็นว่า การเล่นกีฬาของพนักงานของโจทก์ที่ 2 ก็กระทำไปเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้กิจการหลักของโจทก์ที่2 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจที่จะสั่งให้พนักงานของตนปฏิบัติได้ การที่โจทก์ที่ 2สั่งให้โจทก์ที่ 1 ลงแข่งขันกีฬาในนามของโจทก์ที่ 2 จึงเป็นการสั่งให้ปฏิบัติงานตามทางการที่จ้างของโจทก์ที่ 2นั่นเอง กรณีเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องพิเคราะห์เลยไปถึงว่าหากโจทก์ที่ 1 ไม่เข้าแข่งขัน โจทก์ที่ 2 จะสามารถลงโทษได้หรือไม่เพราะนอกจากจะไม่ใช่หลักกฎหมายสำหรับใช้ในการพิจารณาว่า การกระทำของลูกจ้างเป็นการปฏิบัติงานในทางการที่จ้างหรือไม่แล้ว ข้อเท็จจริงยังได้ความว่า โจทก์ที่1 สมัครใจเข้าแข่งขันกีฬาตามคำสั่งของโจทก์ที่ 2 และแม้จะเป็นการแข่งขันนอกเวลาทำงานตามปกติ ก็ยังถือว่าเป็นการปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของโจทก์ที่ 2 อยู่นั่นเอง…
จำเลยอุทธรณ์ประการที่สองว่า ค่าครองชีพไม่ใช่เงินเดือนหรือค่าจ้างตามความหมายในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 เห็นว่า โจทก์ที่ 2จ่ายเงินค่าครองชีพให้โจทก์ที่ 1 มีจำนวนเดือนละ 400 บาทเท่ากันทุกเดือน ค่าครองชีพเดือนละ 400 บาท จึงเป็นเงินที่โจทก์ที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างจ่ายให้แก่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างเพื่อเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน ถือว่าเป็นค่าจ้าง…’
พิพากษายืน.

Share