คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 208/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์นำหนี้ของผู้ตายมาฟ้องจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นทายาทให้ล้มละลายหนี้ดังกล่าวจึงมิใช่หนี้ที่จำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดเป็นส่วนตัวแม้จำเลยทั้งสามจะเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายซึ่งจะต้องรับไปทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ของผู้ตายที่โดยสภาพไม่เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ด้วยก็ตาม ก็ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่จะตกได้แก่ตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601 และตามคำฟ้องระบุเพียงว่าจำเลยทั้งสามเป็นทายาทของผู้ตาย โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยแต่ละคนได้รับมรดกไว้เป็นจำนวนเท่าใด เพียงพอที่จะชำระหนี้แทนผู้ตายหรือไม่โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามให้ล้มละลายได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตร ก่อนถึงแก่กรรมผู้ตายค้างค่าจ้างว่าความเป็นเงิน 129,000 บาท ต่อมาเมื่อผู้ตายถึงแก่กรรม ทรัพย์มรดกตกทอดแก่จำเลยทั้งสาม โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสามไม่ชำระ ขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของผู้ตายและทรัพย์ของจำเลยทั้งสามในฐานะผู้รับมรดกโดยเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยทั้งสามเป็นบุคคลล้มละลายศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาในชั้นฎีกาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนายสมพงษ์ผู้ตายให้ล้มละลายได้หรือไม่ เห็นว่าหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นหนี้ของนายสมพงษ์ผู้ตาย หาใช่หนี้ที่จำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดเป็นส่วนตัวไม่ ฉะนั้นแม้จำเลยทั้งสามจะเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนายสมพงษ์ผู้ตาย ซึ่งจะต้องรับไปทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ของผู้ตายที่โดยสภาพไม่เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ด้วยก็ตาม ก็ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่จะตกได้แก่ตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601 และตามคำฟ้องของโจทก์ระบุแต่เพียงว่า จำเลยทั้งสามเป็นทายาทของนายสมพงษ์ผู้ตายโดยไม่ปรากฏว่า จำเลยแต่ละคนได้รับมรดกของนายสมพงษ์ไว้เป็นจำนวนเท่าใด มีจำนวนเพียงพอที่จะชำระหนี้แทนนายสมพงษ์หรือไม่ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามให้ล้มละลายได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีกต่อไป ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนจำเลยทั้งสาม1,000 บาท

Share