คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5554/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองร่วมกันพรากผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กไปจากบิดามารดาผู้ปกครองและหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายไว้เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 313 และ 317 จำเลยทั้งสองมุ่งประสงค์เรียกค่าไถ่เป็นสำคัญ จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 313 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน คือ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2542 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองโดยปราศจากเหตุอันสมควร ได้ร่วมกันพรากเด็กหญิงศศิธรหรือน้องเมย์ ทองเพชร อายุ 6 ปีเศษ ซึ่งยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากนายวีรวัฒน์ ทองเพชร และนางศิริยาภรณ์ เอกญาณกุล บิดามารดาเพื่อหากำไร เหตุเกิดที่แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร และเมื่อระหว่างวันที่ 22กันยายน 2542 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 23 กันยายน 2542 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงติดต่อกัน จำเลยทั้งสองเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ ได้ร่วมกันนำตัวเด็กหญิงศศิธรหรือน้องเมย์ อายุไม่เกิน 15 ปี ไปหน่วงเหนี่ยวกักขังไว้ที่บ้านไม่มีเลขที่ ถนนคอนแวนต์ แขวงสีลม เขตบางรักกรุงเทพมหานคร แล้วเรียกเอาค่าไถ่เป็นเงิน 700,000 บาท จากนางศิริยาภรณ์ มารดาของเด็กหญิงศศิธรหรือน้องเมย์ ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 313, 317

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่หลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 313 วรรคหนึ่ง, 317 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (ที่ถูกมาตรา 317 วรรคสาม) ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่เอาตัวเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไป ให้จำคุก 15 ปี ฐานพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีเพื่อหากำไร ให้จำคุก 5 ปี รวมจำคุกคนละ 20 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นสืบพยานจำเลย เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กระทงละสองในห้าส่วน คงจำคุกคนละ 12 ปี

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “แต่อย่างไรก็ตาม การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้เรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดทั้งสองข้อหาดังกล่าวนั้น เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันพรากผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กไปจากบิดามารดาผู้ปกครองและหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายไว้เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ โดยจำเลยทั้งสองมุ่งประสงค์เรียกค่าไถ่เป็นสำคัญ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 วรรคแรกซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด เพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 หาใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษมาไม่ แม้จำเลยทั้ง 2จะไม่ได้ฎีกาในประเด็นดังกล่าวขึ้นมาก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225และมีอำนาจวินิจฉัยตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ได้ฎีกาขึ้นมาด้วย เนื่องจากเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225 ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่เอาตัวเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 15 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพหลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้สองในห้าส่วน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกคนละ 9 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share