คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 555/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องนำใบหุ้น มาวางประกันการทุเลาการบังคับคดีในชั้นอุทธรณ์ว่า ถ้าจำเลยแพ้คดีโจทก์และไม่นำเงินมาชำระให้โจทก์ตามคำพิพากษา ผู้ร้องยอมให้บังคับเอาจากหลักทรัพย์ที่นำมาวางประกันทันที เป็นการทำสัญญาประกันต่อศาลว่าถ้าจำเลยแพ้คดีผู้ร้องจะชำระหนี้แทน เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้มีจำนวนสูงกว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลย่อมออกคำบังคับแก่ผู้ร้องได้ทันทีโดยไม่ต้องฟ้องผู้ร้องใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 274 จึงไม่ใช่กรณีผู้ร้องทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้โจทก์ ตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 11 เรื่องค้ำประกัน ดังนั้น จึงไม่อาจนำมาตรา 688 ถึง 690 มาใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยไม่สามารถชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งให้ออกคำบังคับแก่ผู้ร้องได้ หาต้องดำเนินการบังคับคดีกับจำเลยก่อนไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยโอนหุ้นบริษัทแชลเลนจ์พรอพเพอร์ตี้ จำกัด จำนวนร้อยละ 16 ของทุนจดทะเบียน 200,000,000 บาท ให้โจทก์ หากโอนไม่ได้ให้ชำระเป็นเงิน โดยคิดราคาหุ้นมูลค่าหุ้นละ 10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 89,600,000 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 80,000 บาท จำเลยอุทธรณ์และยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งคำร้องขอทุเลาการบังคับว่า ถ้าจำเลยหาประกันสำหรับจำนวนเงินที่จะต้องชำระตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นพร้อมดอกเบี้ย จนถึงวันฟังคำสั่งนี้และต่อไปอีก 1 ปี มาวางศาลจนเป็นที่พอใจและภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ก็อนุญาตให้ทุเลาการบังคับไว้ในระหว่างอุทธรณ์ มิฉะนั้นให้ยกคำร้อง ผู้ร้องได้มอบอำนาจให้นายกู้เกียรติ นำใบหุ้นสามัญเลขที่ CPC – 004 ทะเบียนผู้ถือหุ้นเลขที่ 003 บริษัทแชลเลนจ์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด มูลค่าหุ้นละ 10 บาท จำนวน 3,200,000 หุ้น หมายเลขหุ้น 223 200 001 ถึง 226 400 000 โดยผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้น มาวางเป็นหลักประกัน ฝ่ายโจทก์ไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นจึงรับไว้เป็นหลักประกันและอนุญาตให้ทุเลาการบังคับในระหว่างอุทธรณ์ไว้ตามคำสั่งศาลอุทธรณ์โดยให้แจ้งไปยังบริษัทแชลเลนจ์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด และให้ผู้ร้องทำหนังสือสัญญาค้ำประกัน ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยโอนหุ้นบริษัทแชลเลนจ์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด จำนวนร้อยละ 16 ของเงินทุนจดทะเบียน 2,400,000,000 บาท ในมูลค่าหุ้นละ 10 บาท ที่ได้ชำระราคาเต็มแล้วเป็นจำนวน 38,400,000 หุ้น โดยปลอดภาระใด ๆ ให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่โอนหุ้นดังกล่าว ให้จำเลยชำระค่าหุ้นแทนในมูลค่าหุ้นละ 10 บาท ในจำนวน 38,400,000 หุ้น รวมเป็นเงิน 384,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุด จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอให้ศาลออกกหมายบังคับคดีแก่จำเลย และออกคำบังคับแก่ผู้ร้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งออกคำบังคับให้ผู้ร้องปฏิบัติตามหนังสือสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้ต่อศาลชั้นต้น
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำบังคับ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำบังคับของศาลชั้นต้นที่บังคับผู้ร้องให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 29 มิถุนายน 2555 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้ค้ำประกัน โจทก์ต้องดำเนินการบังคับคดีกับจำเลยก่อน หากบังคับคดีกับจำเลยไม่ได้โจทก์จึงจะบังคับคดีเอากับผู้ร้อง เห็นว่า กรณีที่ผู้ร้องนำใบหุ้นจำนวน 3,200,000 หุ้น มาวางประกันการทุเลาการบังคับคดีในชั้นอุทธรณ์ว่า ถ้าจำเลยแพ้คดีโจทก์และไม่นำเงินมาชำระให้โจทก์ตามคำพิพากษา ผู้ร้องยอมให้บังคับเอาจากหลักทรัพย์ที่นำมาวางประกันทันที เป็นการทำสัญญาประกันต่อศาลว่าถ้าจำเลยแพ้คดีผู้ร้องจะชำระหนี้แทน เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้มีจำนวนสูงกว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลย่อมออกคำบังคับแก่ผู้ร้องได้ทันทีโดยไม่ต้องฟ้องผู้ร้องใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 274 จึงไม่ใช่กรณีผู้ร้องทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 11 เรื่องค้ำประกัน ดังนั้น จึงไม่อาจนำมาตรา 688 ถึง 690 มาใช้บังคับตามที่ผู้ร้องฎีกา เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยไม่สามารถชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งให้ออกคำบังคับแก่ผู้ร้องได้
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การที่ศาลชั้นต้นส่งคำบังคับให้จำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2486 มาตรา 22 ให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวมีอำนาจจัดการเก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้และจัดการจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ ทำให้จำเลยซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดไม่มีอำนาจจัดการทรัพย์สินต่อไปได้ การที่จะส่งคำบังคับให้จำเลยเพื่อการชำระหนี้ จำเลยก็ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย โจทก์จึงต้องไปดำเนินการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ในการขอรับชำระหนี้ ข้อฎีกาของผู้ร้องจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาชอบแล้ว ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

Share