แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ คชก. ตำบลวินิจฉัยสั่งให้โจทก์ผู้เช่าออกจากที่พิพาทและโจทก์ไม่อุทธรณ์ต่อ คชก. จังหวัดก็ตาม แต่การที่โจทก์ไม่ออกจากที่พิพาท คู่กรณีหรือผู้มีส่วนได้เสียก็จะต้องใช้สิทธิทางศาลตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524การที่จำเลยนำรถแทรกเตอร์เข้าไปไถไร่อ้อยของโจทก์ในที่พิพาทโดยไม่มีอำนาจกระทำได้ ย่อมมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และบุกรุก.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกับพวกได้นำรถแทรกเตอร์ จำนวน 4 คันบุกรุกเข้าไปไถในที่ดิน ซึ่งโจทก์ครอบครองเพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่ที่ดินและพืชไร่ในที่ดินดังกล่าวของโจทก์ เป็นเหตุให้ต้นอ้อยพันธุ์ของโจทก์ที่ปลูกไว้ถูกรถแทรกเตอร์ที่จำเลยทั้งสองกับพวกนำเข้าไปเหยียบย่ำเสียหายเป็นบริเวณเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่โดยอ้างว่าเป็นการกระทำตามกฎหมายและมติของคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมประจำตำบลหนองโพธิ์ จำเลยทั้งสองยังได้นำรถแทรกเตอร์บุกรุกเข้าไถในที่ดินของโจทก์เนื้อที่เหยียบย่ำต้นอ้อยและพืชไร่ของโจทก์ส่วนอื่นจนเกิดความเสียหายเป็นบริเวณเนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่น้อยกว่า 300,000 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362, 365(1)(2), 358, 359(4), 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365(2), 359(4), 91, 83 อันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายสองบท แต่กฎหมายกำหนดโทษไว้เท่ากัน ให้ลงโทษฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(2) จำคุกกระทงละ 1 ปี ปรับกระทงละ3,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นจำคุกจำเลยคนละ 2 ปี และปรับคนละ6,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 ซึ่งเป็นบทกฎหมายพิเศษกำหนดอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและของผู้ให้เช่ากับผู้เช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไว้แตกต่างจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่คณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบล หรือ คชก.ตำบล ได้วินิจฉัยสั่งให้โจทก์ออกไปจากที่พิพาท โจทก์ไม่อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัด หรือ คชก.จังหวัด เป็นผลให้คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบล ถึงที่สุดตามความในมาตรา 5 และ 56 เมื่อโจทก์ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ คชก.ตำบล ย่อมมีความผิดตามความในมาตรา 62 และการเช่าที่พิพาทของโจทก์ได้สิ้นสุดลงแล้วการปลูกอ้อยของโจทก์เป็นการปลูกครั้งเดียวเก็บเกี่ยวได้หลายครั้งเมื่อเสร็จการเก็บเกี่ยวครั้งแรกหลังจากการเช่าที่พิพาทได้เลิกหรือสิ้นสุดลงแล้ว แม้การเก็บเกี่ยวอ้อยยังจะต้องรอให้งอกขึ้นมาแล้วเก็บเกี่ยวได้อีกโจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะเก็บเกี่ยวอ้อยในที่พิพาทนั้นต่อไปได้อีก ตามความในมาตรา 39 การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปไถต้นอ้อยในที่พิพาทซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิใด ๆ อีกแล้วย่อมไม่มีความผิดนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 ที่ได้บัญญัติอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ไว้เป็นพิเศษก็ได้บัญญัติถึงคู่กรณีหรือผู้มีส่วนได้เสียในการเช่าที่พิพาทที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคชก.จังหวัด หรือ คชก.ตำบล แล้วแต่กรณีว่าคู่กรณียื่นอุทธรณ์ต่อคชก.จังหวัด หรือไม่ ก็มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ต่อศาลได้ และในการพิจารณาคดีของศาลในเรื่องนี้ให้ถือว่า คำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะกรรมการดังกล่าวเป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาตามคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของ คชก.ตำบล หรือ คชก.จังหวัดโดยอนุโลมตามความในมาตรา 58 และถ้าหากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ คชก.ตำบล หรือ คชก.จังหวัด ที่ห้ามมิให้ผู้นั้นขัดขวางการทำงานของผู้มีสิทธิในที่นาหรือที่ให้ผู้นั้นออกจากนา โดยไม่มีเหตุอันสมควรจะต้องได้รับโทษ ตามความในมาตรา 62 เช่นนี้แล้วแสดงว่าผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ คชก.ตำบล หรือคชก.จังหวัด คู่กรณีหรือผู้มีส่วนได้เสียในการเช่าที่พิพาทไม่พอใจในคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบล หรือ คชก.จังหวัด ก็จะต้องใช้สิทธิทางศาลแม้แต่ คชก.ตำบล หรือ คชก.จังหวัด ก็มีสิทธิร้องขอต่อศาลได้ด้วยการที่จำเลยทั้งสองดำเนินการนำรถแทรกเตอร์เข้าไปไถไร่อ้อยของโจทก์โดยไม่มีอำนาจจะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ย่อมมีความผิดตามฟ้องศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.