แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เมื่อโจทก์สำแดงราคาสินค้านำเข้าเพื่อเสียภาษีอากรและกรมศุลกากรเรียกให้โจทก์เสียภาษีอากรเพิ่มซึ่งมีทั้งอากรขาเข้าภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาล ถือได้ว่ามีการประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามประมวลรัษฎากรแล้ว แม้การเรียกเก็บภาษีอากรทั้งสามประเภทจะต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน หากโจทก์เห็นว่าการประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลไม่ถูกต้องอย่างไร ชอบที่จะอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา30 เสียก่อน ไม่มีกฎหมายใดสนับสนุนให้อุทธรณ์ในกรณีนี้ต่อกรมศุลกากรได้ การที่โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อกองวิเคราะห์ราคาของกรมศุลกากรถือไม่ได้ว่าเป็นการอุทธรณ์ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามประมวลรัษฎากร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกคืนภาษีทั้งสองประเภท การเรียกร้องขอคืนอากรเพราะเหตุที่เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะแล้ว มิใช่มีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 21 เมษายน 2529 ถึงวันที่ 2ธันวาคม 2529 วันที่ 11 มีนาคม 2530 ถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2530และวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2531 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2531 โจทก์ซื้อกระสุนปืนชนิดและขนาดต่าง ๆ เครื่องหมายการค้า “วินเชสเตอร์”จากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรไทย รวม 17 เที่ยวเรือตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้ารวม 17 ฉบับ ซึ่งโจทก์แสดงราคาสินค้าที่ซื้อมาจริงตามบัญชีราคาสินค้าที่ซื้อขายชำระเงินให้เจ้าหน้าที่จำเลยตรวจสอบ ซึ่งเจ้าหน้าที่จำเลยได้ตรวจสอบใบขนสินค้าและบัญชีราคาสินค้าของโจทก์แล้ว เห็นว่าราคาสินค้าที่โจทก์ซื้อมาและแสดงในใบขนสินค้านั้นต่ำกว่าราคาประเมินของจำเลย เจ้าหน้าที่จำเลยจึงประเมินราคาสินค้าโจทก์เพิ่มขึ้นโดยให้โจทก์เพิ่มราคาสินค้า เพิ่มค่าภาษีอากรตามราคาที่ตีเพิ่ม แล้วเรียกชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาล จนเป็นที่พอใจของเจ้าหน้าที่จำเลย เพื่อที่จะให้โจทก์นำของออกจากอารักขาของจำเลย ซึ่งการประเมินราคาเพิ่มและคำนวณเรียกเก็บเงินค่าภาษีอากรดังกล่าว เจ้าหน้าที่จำเลยเป็นผู้กระทำ มิใช่โจทก์เพิ่มราคาอากรเสียภาษีให้เองตามความสมัครใจ และมิใช่เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติว่าให้เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องยื่นใบขนสินค้าเสียภาษีนำของออกถ้าไม่ยื่นกฎหมายถือว่าเป็นความผิด ตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง17 ฉบับนี้เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินราคาและให้โจทก์ชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามราคาที่ประเมินเพิ่มมีรายละเอียดปรากฏตามบัญชีค่าภาษีอากรที่โจทก์ชำระตามยอดเงินที่เจ้าหน้าที่จำเลยประเมินรวม 3,603,893.57 บาท ค่าภาษีอากรตามราคาที่โจทก์ซื้อมาซึ่งถูกต้องรวม 2,520,548.52 บาท และจำนวนเงินที่จำเลยประเมินให้โจทก์ชำระซึ่งไม่ถูกต้องรวม 1,083,345.05บาท ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ซึ่งโจทก์ฟ้องเรียกคืนในคดีนี้ราคาสินค้าที่โจทก์แสดงเพื่อเสียภาษีอากรต่อจำเลยนั้น โจทก์ใช้ราคาที่ซื้อขายโดยถูกต้อง การที่เจ้าหน้าที่จำเลยประเมินให้โจทก์เพิ่มราคาและเสียภาษีอากรเพิ่มนั้นเป็นการไม่ชอบ เพราะจำเลยมิได้ใช้ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเป็นเกณฑ์ประเมินเรียกเก็บค่าภาษีอากรฉะนั้นแม้จะยอมเพิ่มราคาชำระค่าภาษีอากรไปตามคำสั่งให้เพิ่มราคาของเจ้าหน้าที่ประเมินอากรของจำเลย โจทก์ได้เสนอคำโต้แย้งการเพิ่มราคาสินค้าต่อเจ้าหน้าที่ประเมินอากรของจำเลยไว้ที่ด้านหลังใบขนสินค้าขาเข้าทุกฉบับ ซึ่งเจ้าหน้าที่จำเลยได้รับทราบปัญหาโต้แย้งราคาและได้ลงนามรับรองไว้เป็นหลักฐานด้วยแล้วเช่นกันหาใช่เป็นการยื่นใบขนสินค้าเพิ่มราคาอากรไปตามความสมัครใจแต่อย่างใดเมื่อโจทก์ยื่นใบขนสินค้าชำระภาษีอากรนำของออกจากจำเลยดังกล่าวแล้ว โจทก์ได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อจำเลยพร้อมหลักฐานเกี่ยวกับราคาที่ซื้อขายถูกต้อง และต่อมาเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2531และวันที่ 2 กันยายน 2531 จำเลยโดยกองวิเคราะห์ราคา ได้แจ้งผลอุทธรณ์การประเมินอากรให้โจทก์ทราบ สำหรับใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่069-41440 ว่าราคาสินค้าที่เจ้าหน้าที่ได้ประเมินให้โจทก์เพิ่มนั้นชอบแล้ว และสำหรับสินค้าตามใบขนสินค้าเลขที่ 099-41641,129-40325, 049-42020, 049-2104 (ที่ถูกน่าจะเป็น 049-42104)และ 099-42541 ว่าเจ้าหน้าที่ให้ยืนราคาตามที่ประเมินไว้เดิมและมีการเปลี่ยนแปลงราคาประเมินใหม่ซึ่งเฉพาะที่จำเลยกำหนดราคาประเมินใหม่นั้นมีผลจะทำให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์เพียง 37 กว่าบาทเท่านั้น ซึ่งโจทก์ไม่อาจเห็นพ้องหรือยอมรับได้ ขอให้ศาลพิพากษาว่าการประเมินราคาสินค้าของโจทก์เพิ่ม จำเลยกระทำไม่ชอบ และให้จำเลยคืนเงินที่จำเลยประเมินเรียกเก็บมิชอบแก่โจทก์ 1,083,345.05บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จ จำเลยให้การว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2529-2531โจทก์ได้นำกระสุนปืนชนิด และขนาดต่าง ๆ เครื่องหมายการค้า”วินเชสเตอร์” ประเทศกำเนิดสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลียโดยโจทก์สั่งซื้อมาจากประเทศฮ่องกง เข้ามาในราชอาณาจักร ทางเรือรวม 17 เที่ยวเรือ โจทก์ได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยโดยสำแดงรายละเอียดของสินค้าประเทศกำเนิดสินค้า ราคาของหรือสินค้า ประเภทพิกัดและอ้างเอกสารนอกจากนี้โจทก์ทราบว่าโจทก์สำแดงราคาของต่ำกว่าราคาประเมินอันเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด โจทก์จึงได้เพิ่มราคาของหรือสินค้าดังกล่าว ตามราคาอันแท้จริงในท้องตลาด อันเป็นราคาของหรือสินค้าที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินโดยสมัครใจของโจทก์เองทั้งสิ้น จำเลยไม่มีอำนาจบังคับให้โจทก์เพิ่มราคาหากโจทก์ไม่ยินยอมเพิ่มราคา พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยมีอำนาจเพียงสั่งตีราคาสินค้าและสั่งให้โจทก์วางเงินประกันราคาสินค้าเท่านั้น การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ชอบด้วยเหตุผลแล้ว และนอกจากนี้ใบขนสินค้าฯ เลขที่ 049-42020, 049-42104, 069-41440,099-41641 และ 099-42541 โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักรนับถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่าสองปี ฟ้องโจทก์ขาดอายุความในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรตามความในมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ส่วนใบขนสินค้าเลขที่ 069-41440, 099-41641, 099-42541,129-40325 โจทก์ได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้วโดยชอบ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2531 และ 2 กันยายน2531 โจทก์ไม่นำคดีมาฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางภายใน 30 วัน ในประเด็นเกี่ยวกับภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับใบขนสินค้าฯเลขที่ 049-42020, 049-42104, 030-41178, 030-42118, 040-42382,050-41887, 060-41477, 070-40234, 100-43156, 110-43134,021-41696, 021-41695 และ 021-43482 โจทก์ยื่นคำอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยไว้แล้ว ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จึงเป็นการข้ามขั้นตอนของกฎหมายตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร คดีไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลภาษีอากรกลาง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องในประเด็นเกี่ยวกับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล ขอให้ยกฟ้อง ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินเฉพาะอากรขาเข้าที่เกินมาสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า รวม 12 ใบขนให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระให้โจทก์เสร็จ คำขอของโจทก์นอกนี้ให้ยกเสียโจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 21 เมษายน 2529 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์2531 โจทก์ได้สั่งซื้อกระสุนปืนชนิดและประเภทขนาดต่าง ๆ จากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรรวม 17 เที่ยวด้วยกัน ตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า เลขที่ 049-42020, 049-42104,069-41440, 099-41641, 099-42541, 129-40325, 030-41178,030-42118, 040-42382, 050-41887, 060-41477, 070-40234,100-43156, 110-43134, 021-416969, 021-41695 และ 021-43482โดยเฉพาะใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเลขที่ 049-42020,049-42104 นำเข้าในวันที่ 21 เมษายน 2529 เลขที่ 069-41440นำเข้าในวันที่ 13 มิถุนายน 2529 เลขที่ 099-41641 นำเข้าในวันที่16 กันยายน 2529 และ 099-42541 นำเข้าในวันที่ 30 กันยายน 2529เมื่อโจทก์ยื่นเอกสารพร้อมกับใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเพื่อปฏิบัติพิธีการทางศุลกากรปรากฎว่าสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่พอใจราคา จึงสั่งให้โจทก์เพิ่มราคาสินค้าทุกใบขน เมื่อเพิ่มราคาแล้วพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงได้ประเมินราคาให้โจทก์เสียภาษีอากรเพิ่มขึ้น โจทก์ได้ยอมเสียภาษีอากรเพิ่มขึ้นและได้ขอสงวนสิทธิโต้แย้งราคาไว้ในด้านหลังใบขน ต่อมาโจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินต่อกองวิเคราะห์ราคาของจำเลยทั้งอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาล โดยมิได้อุทธรณ์การประเมินภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร
ข้อต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกคืนภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์สำแดงราคาสินค้าเพื่อเสียภาษีอากร พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเห็นว่าไม่ถูกต้อง จึงให้โจทก์เสียภาษีอากรเพิ่ม ซึ่งมีทั้งอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลแยกกันอยู่ชัดเจนกรณีเช่นนี้ถือได้ว่ามีการประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามประมวลรัษฎากรแล้ว หากโจทก์เห็นว่าการประเมินไม่ถูกต้องอย่างไรชอบที่จะอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรมาตรา 30 เสียก่อนเมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วันแม้การเรียกเก็บภาษีการค้ากับภาษีบำรุงเทศบาลซึ่งต่อเนื่องเชื่อมโยงกับการเรียกเก็บภาษีอากรขาเข้า ก็ไม่มีกฎหมายใดสนับสนุนให้อุทธรณ์การประเมินต่อกรมศุลกากรแทนได้ ทั้งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ได้เป็นหน่วยงานที่ประมวลรัษฎากรกำหนดไว้ต่างหาก การที่โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อกองวิเคราะห์ราคาของจำเลย ถือไม่ได้ว่าเป็นการอุทธรณ์ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลตามประมวลรัษฎากร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
อุทธรณ์ข้อต่อไปเกี่ยวกับอายุความ ตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า เลขที่ 049-42020, 049-42104, 069-41440,099-41641 และ 099-42541 ทั้ง 5 ใบขนนี้ โจทก์ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2529 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2531 นับเป็นเวลาเกิน 2 ปี การที่นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยมีอำนาจตรวจสอบภาษี ถ้าเห็นว่าไม่ถูกต้องก็อาจสั่งให้โจทก์เสียภาษีอากรเพิ่มเติมเมื่อโจทก์เสียภาษีอากรเพิ่มเติมโดยมีข้อคัดค้านก็ตาม ถ้าเห็นว่าไม่ควรจะเสียภาษีอากรเพิ่มเติมก็ต้องร้องขอคืนเงินอากรที่เสียเพิ่มเติมตามมาตรา 10 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช2469 ซึ่งกำหนดให้สิทธิในการเรียกร้องขอคืนอากรเพราะเหตุที่เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริง เป็นอันสิ้นไปเมื่อครบกำหนด 2 ปีนับแต่วันที่นำของเข้ามาในราชอาณาจักร สินค้าโจทก์ทั้ง 5 ใบขนนำเข้ามาเกิน 2 ปีจึงขาดอายุความ ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะแล้ว มิใช่มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามอุทธรณ์โจทก์”
พิพากษายืน