คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5541/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คณะกรรมการหมู่บ้านซื้อที่ดินพิพาทเพื่อให้ราษฎรในหมู่บ้านใช้ประโยชน์ร่วมกันที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน คณะกรรมการหมู่บ้านจึงไม่สามารถนำออกขายให้โจทก์ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท
พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจสภาตำบลเป็นผู้ดูแลและรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สภาตำบล ผู้ร้องสอดจึงไม่มีอำนาจขอให้ขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมือเปล่า จำเลยออกโฉนดทับที่ดินของโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเฉพาะส่วนที่ทับที่ดินพิพาทของโจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยขายที่ดินพิพาทให้สภาตำบลหย่วน โจทก์ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทและจำเลยไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกสภาตำบลหย่วนเข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)(ข) และเรียกสภาตำบลหย่วนว่าผู้ร้องสอด

ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องสอดเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์บุกรุกเข้ามาอยู่ในที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์พร้อมบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาท

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และให้โจทก์พร้อมบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 34600 อำเภอเชียงคำจังหวัดพะเยา ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500บาท แทนผู้ร้องสอด

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิครอบครองหรือไม่ เห็นว่า แม้เงินที่นำมาซื้อที่ดินทั้งแปลงซึ่งรวมที่ดินพิพาทอยู่ด้วยจะไม่ใช่เป็นเงินของทางราชการและขณะนั้นยังไม่สภาตำบลหย่วนก็ตาม แต่เงินดังกล่าวก็เป็นเงินที่ชาวบ้านกอมรับจ้างขุดดินตามโครงการที่ทางรัฐบาลจัดสรรเงินจำนวนดังกล่าวมาให้ในรูปค่าจ้างเพื่อพัฒนาหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านกอมได้ร่วมกันสละเงินค่าจ้างส่วนของตนแล้วได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อให้จัดการซื้อที่ดินแปลงนี้โดยมีวัตถุประสงค์จะให้ที่ดินที่ซื้อมาเพื่อใช้เป็นประโยชน์ร่วมกัน หลังจากซื้อที่ดินมาก็ได้สร้างเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกับขุดบ่อเลี้ยงปลาทำการประมงของหมู่บ้าน และอีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นที่ดินพิพาทจะใช้เป็นสถานที่สร้างวัดบ้านกอมเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์ในการซื้อที่ดินทั้งแปลงมานั้นก็เพื่อใช้เป็นสาธารณประโยชน์ที่ราษฎรบ้านกอมจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งรูปแบบการจัดซื้อและเจตนาของการจัดซื้อของชาวบ้านกอมดังกล่าว จึงมีผลทำให้ที่ดินทั้งแปลงที่ชาวบ้านกอมซื้อมาตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) ฉะนั้นเมื่อที่ดินทั้งแปลงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยผลของกฎหมายแล้ว คณะกรรมการหมู่บ้านกอมจึงไม่มีอำนาจจะขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตน โจทก์จึงไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ในปัญหาต่อไปว่า ผู้ร้องสอดมีอำนาจขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทหรือไม่ โดยศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตองค์การบริหารตำบลหย่วน ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ร้องสอดเป็นผู้คุ้มครองดูแลและรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 68 นั้น เห็นว่า ตามมาตรา 68 ดังกล่าวเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล มิใช่เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของสภาตำบลแต่อย่างใด ทั้งประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8บัญญัติว่า บรรดาที่ดินทั้งหลายอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้อธิบดีกรมที่ดินเป็นผู้มีอำนาจดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันได้ตามควรแก่กรณี แต่ในเรื่องที่ดินสาธารณประโยชน์อันเป็นที่ดินที่พลเมืองใช้ร่วมกันได้มีพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 122บัญญัติไว้ให้เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอ ซึ่งต่อมาได้โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 62วรรคสาม นายอำเภอจึงเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินพิพาท ผู้ร้องสอดจึงไม่มีอำนาจขอให้ขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาท ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องสอดที่ขอให้โจทก์พร้อมบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาท นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share