คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5529/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและเรียกค่าเสียหาย โดยโจทก์มิได้ขอให้จำเลยส่งคืนโรงเรือนบนที่ดินแก่โจทก์ จำเลยให้การว่าโจทก์รับซื้อที่ดินพิพาทไว้แล้วผิดสัญญาไม่ยอมให้จำเลยไถ่การขายฝาก ขอให้ยกฟ้อง โดยจำเลยมิได้ฟ้องแย้งขอให้โจทก์รับไถ่การขายฝาก แต่กลับฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นโดยอ้างว่าจำเลยก่อสร้างโรงเรือนบนที่ดินพิพาทโดยสุจริตเพียงประการเดียว คำให้การที่ขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้ใช้ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นจึงขัดกันเองอยู่ในตัว ไม่สามารถที่จะพิพากษาให้เป็นไปตามคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยได้ แต่ต้องพิพากษาไปในทางใดทางหนึ่ง คือหากฟังว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาก็ต้องพิพากษายกฟ้อง โดยไม่จำต้องวินิจฉัยฟ้องแย้งของจำเลย หรือหากฟังว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงอาจจะยกฟ้องแย้งของจำเลยขึ้นพิจารณาต่อไปฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นฟ้องแย้งที่อาศัยเหตุต่างกันกับฟ้องเดิมเป็นฟ้องแย้งที่ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมเป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไข ไม่อาจรวมพิจารณาชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 56728ซึ่งเป็นที่ดินว่างเปล่าแก่โจทก์ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2536 มีกำหนด2 ปี แล้วไม่ไถ่คืน แต่กลับลอบเข้ามาปลูกบ้านอยู่อาศัยบนที่ดินของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาต ต่อมาปลายปี 2538 โจทก์ตรวจพบว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาจำเลยที่ 1 ปลูกบ้านเลขที่ 63/34 รุกล้ำเข้ามาในที่ดินพิพาทบางส่วน โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินและบริเวณออกไปจากที่ดินของโจทก์ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ทำให้โจทก์ขาดรายได้จากการนำที่ดินพิพาทออกให้ผู้อื่นเช่าในอัตราเดือนละ 800 บาท นับแต่วันที่ 9 กันยายน 2536ที่จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 4 ปี7 เดือน เป็นเงิน 44,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและบริวารขนย้ายทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหาย 44,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 800 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินของโจทก์

จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งอย่างคนอนาถาว่า จำเลยทั้งสองขายฝากที่ดินพิพาทไว้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2536เป็นเงิน 200,000 บาท มีกำหนดไถ่คืนภายในเวลา 2 ปี ต่อมาจำเลยที่ 1 ปลูกบ้านราคา 400,000 บาทเศษ เพื่ออยู่อาศัยบนที่ดินพิพาทซึ่งเดิมมีราคาเพียง 500,000 บาท ทำให้ที่ดินมีราคาเพิ่มขึ้นและมีผู้มาขอซื้อในราคา 950,000 บาท ก่อนครบกำหนดสัญญาขายฝากจำเลยที่ 1 ไปขอไถ่ แต่โจทก์ไม่ยอมไปจดทะเบียนให้แก่จำเลยที่ 1อ้างว่ามีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นต้องไถ่ถอนคืนในราคา 500,000 บาท ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถไถ่คืนได้ โจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาขายฝาก จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากที่ดิน จำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริตว่าที่ดินพิพาทยังเป็นของจำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายฝากไว้แก่โจทก์ จนกระทั่งถูกฟ้องเป็นคดีนี้ การปลูกบ้านรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ แต่กลับทำให้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 50,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้น 400,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 และอีก 50,000 บาทแก่จำเลยที่ 2

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า รับคำให้การจำเลยทั้งสอง สำเนาให้โจทก์งดชี้สองสถาน นัดสืบพยานโจทก์ แจ้งวันนัดให้โจทก์ทราบ ไม่มีผู้รับให้ปิดส่วนฟ้องแย้งของจำเลยไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ไม่รับฟ้องแย้ง และสั่งคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่า ศาลไม่รับฟ้องแย้งแล้ว คำขออนาถาจึงตกไป ยกคำร้อง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เกี่ยวเนื่องกับฟ้องเดิมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองให้ขนย้ายทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินและเรียกค่าเสียหายโดยโจทก์มิได้ขอให้จำเลยทั้งสองส่งคืนโรงเรือนบนที่ดินแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การว่าโจทก์รับซื้อที่ดินพิพาทไว้แล้วผิดสัญญาไม่ยอมให้จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนการขายฝาก ขอให้ยกฟ้อง โดยจำเลยทั้งสองมิได้ฟ้องแย้งขอให้โจทก์รับไถ่ถอนการขายฝาก แต่กลับฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองก่อสร้างโรงเรือนบนที่ดินพิพาทโดยสุจริตเพียงประการเดียว จึงเห็นได้ชัดเจนว่าตามคำให้การที่ขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้ใช้ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นขัดกันเองอยู่ในตัว ไม่สามารถที่จะพิพากษาให้เป็นไปตามคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองได้ แต่ต้องพิพากษาไปในทางใดทางหนึ่งคือหากฟังว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาก็ต้องพิพากษายกฟ้องโดยไม่จำต้องวินิจฉัยฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง หรือหากฟังว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงอาจจะยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองขึ้นพิจารณาต่อไป ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จึงเป็นฟ้องแย้งที่อาศัยเหตุต่างกันกับฟ้องเดิม เป็นฟ้องแย้งที่ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม เป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไขไม่อาจรวมพิจารณาชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2700/2535 ที่จำเลยทั้งสองอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้

พิพากษายืน

Share