คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5525/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยพิพาทกันตามสัญญาให้สิทธิดำเนินกิจการโรงแรมภายใต้ชื่อ (THANI) ซึ่งเดิมเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างบริษัท ด. กับจำเลยและต่อมาได้โอนสิทธิให้โจทก์ มีข้อสัญญาเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการไว้ในข้อ 9 ว่า หากมีข้อโต้แย้งใดๆ เกิดขึ้นจากการตีความหรือเกี่ยวกับหน้าที่หรือความรับผิดชอบตามสัญญานี้ จะพยายามทำความเข้าใจและแก้ไขปัญหาระหว่างกันเองก่อน หากข้อโต้แย้งนั้นยังไม่อาจตกลงกันได้ ก็ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนำเสนอต่อสภาอนุญาโตตุลาการของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเพื่อตัดสินชี้ขาดจึงเป็นกรณีที่โจทก์จำเลยตกลงกันใช้วิธีระงับข้อพิพาทตามสัญญาโดยให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 และโจทก์ได้นำข้อพิพาทเสนอต่อสภาอนุญาโตตุลาการของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเพื่อตัดสินชี้ขาดแล้ว ถ้าคณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดข้อพิพาทอย่างไรก็จะมีผลผูกพันโจทก์จำเลยไปตามคำชี้ขาดนั้น ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง มิใช่ผูกพันกันตามสัญญาที่พิพาทกันอยู่ ดังนั้นตราบใดที่คณะอนุญาโตตุลาการไม่มีคำชี้ขาดย่อมไม่อาจถือได้ว่าหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้เป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ในระหว่างนี้โจทก์ยังฟ้องจำเลยให้ล้มละลายไม่ได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการโรงแรม โจทก์ได้มอบอำนาจให้นางจงกลนีดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ จำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการโรงแรม เดิมบริษัทดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายบริการ คำว่า “ธานี” (THANI) สำหรับให้บริการจัดการโรงแรม ภัตตาคาร จัดอาหารและบริการ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2535 จำเลยตกลงทำสัญญาขอใช้สิทธิดำเนินกิจการโรงแรม ภายใต้ชื่อธานี (THANI) กับบริษัทดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ลงนามในสัญญาโดยจำเลยตกลงชำระเงินค่าตอบแทนให้แก่บริษัทดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) คือ ค่าธรรมเนียมการใช้สิทธิเป็นเงิน 60,400 บาท และค่าสมาชิกประจำปีเป็นเงิน 573,600 บาท โดยแบ่งชำระปีละสองคราวๆ ละ 286,800 บาท แต่ละคราวมีระยะเวลาห่างกันไม่เกิน 6 เดือน ซึ่งราคานี้ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีอากรใดๆ หลังจากทำสัญญาจำเลยได้นำชื่อทางการค้าคำว่า “ธานี” (THANI) ไปใช้กับโรงแรมของจำเลยซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 589 หมู่ที่ 5 ถนนหนองคายโพนพิสัย ตำบลโพธิ์ชัย อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย โดยใช้ชื่อโรงแรมว่า “โรมแรมหนองคายแกรนด์ ธานี” และบริษัทดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการตามสัญญาครบถ้วนเรียบร้อยแล้วจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าสมาชิกประจำปีให้แก่บริษัทดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ตลอดอายุสัญญา ซึ่งจำเลยได้ชำระค่าสมาชิกเรื่อยมาและได้เริ่มค้างชำระค่าสมาชิกดังกล่าวระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม 2538 เป็นต้นมา วันที่ 12 มีนาคม 2539 บริษัทดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง สิทธิประโยชน์ใดๆ ตามสัญญาให้สิทธิดำเนินกิจการโรงแรมภายใต้ชื่อธานี (THANI) ที่บริษัทดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) มีต่อบรรดาลูกค้าหรือสมาชิกของบริษัทดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ให้แก่โจทก์โดยมีค่าตอบแทนและโจทก์ได้ตกลงรับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแล้ว วันที่ 15 มีนาคม 2539 บริษัทดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทราบแล้ว วันที่ 1 ตุลาคม 2540 โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้จำเลยทราบเช่นกัน จำเลยไม่ได้โต้แย้งและยังคงใช้ชื่อทางการค้าคำว่า “ธานี” ตลอดมาจนครบกำหนดอายุสัญญา ดังนั้น จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าสมาชิกประจำปีให้แก่โจทก์ แต่จำเลยมิได้ชำระค่าสมาชิกดังกล่าวและยังคงค้างชำระค่าสมาชิกประจำปี 2538 ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคมเป็นเงิน 286,800 บาท ค่าสมาชิกประจำปี 2539 เป็นเงิน 573,600 บาท ค่าสมาชิกประจำปี 2540 ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนเป็นเงิน 286,800 บาท และระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2540 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดอายุสัญญาเป็นเงิน 76,480 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 85,657.60 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,309,337.60 บาท โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระค่าสมาชิกประจำปีหลายครั้งแต่จำเลยเพิกเฉยไหม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ วันที่ 30 ธันวาคม 2541 โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยให้ชำระหนี้ค่าสมาชิกประจำปีที่ค้างชำระตามสัญญาให้สิทธิดำเนินกิจการโรงแรมภายใต้ชื่อธานี (THANI) ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเพื่อเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าสมาชิกประจำปีพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามคำฟ้อง จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาว่า สัญญาเอกสารแนบท้ายคำฟ้องเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงมีคำพิพากษายกฟ้องเพื่อให้คู่ความดำเนินการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ วันที่ 30 มิถุนายน 2548 โจทก์ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสำนักงานสภาอนุญาโตตุลาการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 2/2548 เพื่อให้อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้จำเลยชำระค่าสมาชิกประจำปีที่ค้างชำระตามสัญญาเป็นเงิน 2,753,111.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 1,223,680 บาท เมื่อพิจารณางบดุลของจำเลยประจำปี 2546 ปรากฏว่าจำเลยมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท โดยจำเลยมีหนี้ถึง 585,150,166 บาท ในขณะที่มีทรัพย์สินเพียง 101,082,264 บาท ทั้งจำเลยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน และจำเลยไม่ชำระหนี้ ประกอบกับจำเลยได้โอนทรัพย์สินซึ่งใช้ในการประกอบกิจการให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์เพทาย จำกัด โดยได้แจ้งให้อนุญาโตตุลาการและโจทก์ทราบว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินใดที่จะชำระหนี้ จึงสันนิษฐานได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การว่า จำเลยมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน มิได้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน โจทก์ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสำนักงานสภาอนุญาโตตุลาการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อให้อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดและยังไม่ได้ข้อยุติว่า จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์เป็นจำนวนเท่าใด ก่อนหน้านี้โจทก์ได้ใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เพียง 1,309,337.60 บาท ซึ่งไม่ครบจำนวนที่จะฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้ว เห็นว่า แม้ลูกหนี้จะเป็นหนี้ตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมากกว่า 1,000,000 บาท แต่ต่อมาศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาดังกล่าวและให้โจทก์ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ จึงเป็นกรณีที่ยังไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่าอนุญาโตตุลาการจะพิจารณาให้โจทก์ชนะคดีเป็นจำนวนเท่าใดอย่างไรหรือไม่ หนี้ที่โจทก์เอามาฟ้องคดีนี้จึงไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเป็นเพียงขั้นตอนการใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับการใช้สิทธิเรียกร้องโดยการฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น แม้อนุญาโตตุลาการยังไม่ได้มีคำชี้ขาดให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ก็ตาม แต่มูลหนี้ค่าสมาชิกและเบี้ยปรับตามสัญญาเอกสารหมาย จ.4 เป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนแล้ว โจทก์จึงฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้นั้น เห็นว่า คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์และจำเลยพิพาทกันตามสัญญาให้สิทธิดำเนินกิจการโรงแรมภายใต้ชื่อ (THANI) เอกสารหมาย จ.4 ซึ่งเดิมเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างบริษัทดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กับจำเลยมีข้อสัญญาเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการไว้ในข้อ 9 ว่า หากมีข้อโต้แย้งใดๆ เกิดขึ้นจากการตีความหรือเกี่ยวกับหน้าที่หรือความรับผิดชอบตามสัญญานี้ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะพยายามทำความเข้าใจและแก้ไขปัญหาระหว่างกันเองก่อน หากข้อโต้แย้งนั้นยังไม่อาจตกลงกันได้ ก็ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนำเสนอต่อสภาอนุญาโตตุลาการของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเพื่อตัดสินชี้ขาด จึงเป็นกรณีที่โจทก์จำเลยตกลงกันใช้วิธีระงับข้อพิพาทตามสัญญาโดยให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 และโจทก์ได้นำข้อพิพาทเสนอต่อสภาอนุญาโตตุลาการของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเพื่อตัดสินชี้ขาดแล้ว ถ้าคณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดข้อพิพาทไปอย่างไรก็จะมีผลผูกพันโจทก์จำเลยไปตามคำชี้ขาดนั้นตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง มิใช่ผูกพันกันตามสัญญาที่พิพาทกันอยู่นั้นแต่อย่างใด ดังนั้นตราบใดที่คณะอนุญาโตตุลาการไม่มีคำชี้ขาดย่อมไม่อาจถือได้ว่า หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้ เป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ในระหว่างนี้โจทก์ยังฟ้องจำเลยให้ล้มละลายไม่ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3) ที่ศาลล้มละลายกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share