แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่มีการแบ่งส่วนราชการตาม พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการกรมสรรพากรกระทรวงการคลัง พ.ศ.2515 ให้สำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 7รับผิดชอบเขตพื้นที่บางกอกน้อย ซึ่งเป็นภูมิลำเนาและสถานที่ประกอบการค้าของโจทก์นั้นเป็นเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินภายในของจำเลยเพื่อให้เกิดความคล่องตัวมีประสิทธิภาพ เมื่องานตรวจสอบภาษีรายของโจทก์เป็นงานที่ดำเนินการค้างมาจากงานกองภาษีการค้าและยังไม่เสร็จสิ้น กองภาษีการค้าถูกยุบเลิกไป ว.เจ้าพนักงานตรวจสอบภาษีรายของโจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี 6 ฝ่ายตรวจสอบ สำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 8 ย่อมมีอำนาจดำเนินการต่อไปได้จนกว่าจะเสร็จงาน ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.164/2525 โจทก์จึงไม่อาจอ้างว่าสำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 8 ไม่มีอำนาจตรวจสอบและประเมินภาษีรายของโจทก์ แม้หลักฐานเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายและภาษีการค้าหัก ณ ที่จ่ายสำหรับปี 2519 และปี 2520 ที่โจทก์ถูกทางราชการหักภาษีไว้เป็นภาพถ่ายมาจากต้นฉบับเอกสารที่อยู่ในความอารักขา หรือในความควบคุมของทางราชการ การอ้างภาพถ่ายเอกสารลักษณะเช่นนี้เท่ากับเป็นการอ้างสำเนาเอกสารจะต้องมีบุคคลดังที่ระบุไว้ในมาตรา 93(3) แห่ง ป.วิ.พ. รับรองความถูกต้องแล้วจึงจะรับฟังได้ก็ตาม แต่ตาม มาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 ให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งตามมาตรา 125 แห่ง ป.วิ.พ. บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอีกฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเอกสารมาเป็นพยานหลักฐานยันตน จะต้องคัดค้านการอ้างเอกสารหรือความถูกต้องของสำเนาเอกสารก่อนวันสืบพยานหรือก่อนศาลพิพากษาแล้วแต่กรณีแต่โจทก์มิได้คัดค้านว่าต้นฉบับเอกสารไม่มีหรือเอกสารนั้นปลอมหรือสำเนาไม่ถูกต้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ดังนั้น ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีอำนาจรับฟังสำเนาพยานเอกสารดังกล่าวแทนต้นฉบับได้ เมื่อโจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงว่าโจทก์มีรายได้จากการประกอบกิจการของโจทก์ โจทก์ย่อมมีเงินได้ที่จะต้องเสียภาษีภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65,65 ทวิ และ65 ตรี เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานใดมาแสดงว่าเป็นรายจ่าย จึงต้องถือว่าโจทก์มีเงินกำไรสุทธิที่จะต้องเสียภาษีตามจำนวนที่เป็นรายรับการที่เจ้าพนักงานประเมินคำนวณกำไรสุทธิของโจทก์โดยยินยอมให้มีการหักค่าใช้จ่ายด้วยการนำเอาข้อมูลจากกรมโยธาธิการที่เป็นหน่วยงานที่ควบคุมงานก่อสร้างสถานที่ราชการที่โจทก์ดำเนินการซึ่งจะต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าแรงก่อสร้างมาเป็นแนวทางตรวจสอบกิจการก่อสร้างของโจทก์ แล้วคำนวณกำไรสุทธิด้วยการหักค่าใช้จ่ายให้แก่โจทก์เป็นค่าวัสดุก่อสร้างและค่าแรงก่อสร้างรวมจำนวนถึงร้อยละ 80 นับว่าเป็นการกระทำโดยมีเหตุสมควรและเป็นธรรมแก่โจทก์ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจที่จะกระทำได้ ในการตรวจสอบภาษีรายของโจทก์ โจทก์มอบอำนาจให้ ส. มาให้การต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีจำเลยเพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นเจ้าพนักงานประเมินได้มีหนังสือถึงโจทก์สามครั้ง ให้โจทก์ไปพบพร้อมกับส่งเอกสารให้แก่เจ้าพนักงานประเมิน โจทก์ก็เพิกเฉยไม่ได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษีของจำเลย เมื่อโจทก์ถูกประเมินภาษีก็ไม่ยอมมารับทราบผลการประเมิน กรณีเช่นนี้ย่อมไม่มีเหตุที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้โจทก์ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีการค้าจากเจ้าพนักงานประเมินภาษีสำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 8 รวม 5 ฉบับ โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงอุทธรณ์ แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการประเมินของเจ้าพนักงานชอบแล้ว การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ชอบ เพราะโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของเจ้าพนักงานประเมินภาษีสำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 7 อีกทั้งโจทก์ไม่ได้เป็นผู้จ่ายค่าแรง จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 54 ส่งให้แก่กรมสรรพากร และโจทก์ไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีการค้า เพราะโจทก์ไม่มีรายรับตามที่ถูกประเมิน ที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการการค้าไว้ไม่ถูกต้องนั้นโจทก์ไม่มีเจตนาหลบเลี่ยงภาษี เป็นกรณีตามป.รัษฎากร มาตรา 89(3) เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินให้โจทก์เสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียคลาดเคลื่อนเท่านั้นจึงขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์
จำเลยให้การว่า คำฟ้องของโจทก์หลายส่วนเป็นการนอกประเด็นที่โจทก์ได้อุทธรณ์ไว้ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ อย่างไรก็ตามเจ้าพนักงานประเมินภาษีสำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 8 เป็นผู้มีอำนาจประเมินภาษีเอาจากโจทก์ซึ่งทำการตรวจสอบภาษีรายของโจทก์แล้วปรากฏหลักฐานว่า โจทก์ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างและมีรายรับจากการประกอบกิจการดังกล่าวมากกว่าที่โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการได้ เจ้าพนักงานประเมินจึงทำการประเมินเรียกเก็บภาษีจากโจทก์เพิ่มเติม ในชั้นอุทธรณ์โจทก์ไม่สามารถนำหลักฐานมาแสดงประกอบข้อที่อุทธรณ์ได้ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงเห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดเดิมใช้ชื่อว่า บริษัทรุ่งเรืองนครชัยก่อสร้าง จำกัด โจทก์ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 461/65ถนนอรุณอัมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2528 เจ้าพนักงานประเมินภาษีสำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 8 อ้างว่าได้ตรวจพบว่า ในรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2519 และ 2520 โจทก์ได้จ่ายเงินได้พึงประเมินโดยไม่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้และนำส่งไม่ถูกต้อง โจทก์มีรายได้ไม่นำลงบัญชีและนำรายจ่ายต้องห้ามมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและโจทก์ประกอบกิจการในฐานะผู้รับจ้างปลูกสร้างอาคาร แต่นำรายรับมายื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้าไม่ครบถ้วน จึงได้ทำการประเมินและแจ้งให้โจทก์นำเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายพร้อมเงินเพิ่มสำหรับกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีการค้า เบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มเติมสำหรับกรณีภาษีการค้าจากโจทก์ทั้ง 2 ปี เป็นเงิน6,170,177.30 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินจึงยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การประเมินชอบแล้ว โจทก์ยังไม่เห็นด้วย จึงฟ้องเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่าเจ้าพนักงานประเมินภาษีของโจทก์ มีอำนาจประเมินภาษีโจทก์หรือไม่ปัญหาข้อนี้ โจทก์อ้างว่าโจทก์มีภูมิลำเนาและสถานที่ประกอบการค้าอยู่ในเขตบางกอกน้อย อันเป็นพื้นที่อยู่ในอำนาจหน้าที่การประเมินภาษีของสำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 7 เจ้าพนักงานประเมินภาษีของสำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 8 จึงไม่มีอำนาจประเมินภาษีของโจทก์และแม้จะมีคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.164/2525 เอกสารหมาย ล.6 ให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินภาษีของโจทก์คดีนี้ไว้คำสั่งดังกล่าวก็เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบเพราะผู้ที่ลงนามในคำสั่งคืออธิบดีกรมสรรพากร ไม่ใช่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีไว้โดยเฉพาะ ทั้งคำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าวเพียงแต่ให้เจ้าพนักงานที่อยู่ในระหว่างดำเนินการในเขตพื้นที่เดิมมีอำนาจตรวจสอบอย่างเดียวต่อเนื่องจนแล้วเสร็จเท่านั้น เห็นว่า เมื่อมีประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 12) เรื่อง ประกาศยกเลิกและแต่งตั้งเจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากร ข้อ 2 ตามเอกสารหมาย ล.4 ให้ข้าราชการพลเรือนสามัญตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไปดังต่อไปนี้เป็นเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 16 แห่งประมวลรัษฎากร (1) สังกัดราชการบริหารส่วนกลาง สำหรับท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ฯลฯ ต่อมาเมื่อมีการแยกส่วนราชการกรมสรรพากรออกไปเป็นสำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 8 ได้มีคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.164/2525 เอกสารหมาย ล.6 ข้อ 2.4.2 (6)กำหนดให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบภาษีอากรมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบภาษีอากรและประเมินภาษีที่ตรวจสอบนั้นได้ ดังนั้น การที่สำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 8 โดยนางผาณิต วิเชียรสินธุ์เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี 7 ลงนามในหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย เอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.5 และแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.7 จึงเป็นการกระทำโดยอำนาจที่ได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและอธิบดีกรมสรรพากรให้เป็นเจ้าพนักงานประเมิน ส่วนในปัญหาที่โจทก์มีภูมิลำเนาหรือสถานที่ประกอบการค้าอยู่ในเขตสำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 7 แต่การประเมินภาษีของจำเลย สำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 8 เป็นผู้ทำการประเมินจะเป็นการชอบหรือไม่นั้นเห็นว่า การที่มีการแบ่งส่วนราชการตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง พ.ศ. 2515 ให้สำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 7 รับผิดชอบเขตพื้นที่บางกอกน้อยซึ่งเป็นภูมิลำเนาและสถานที่ประกอบการค้าของโจทก์ และมีคำสั่งของกรมสรรพากรที่ ท.164/2525 ในข้อ 6.3.2 (เอกสารหมาย ล.6) ว่า สำหรับงานตรวจสอบที่ได้ออกหมายเรียกแล้วเกิน 1 ปี นับถึงวันที่ออกคำสั่งนี้ให้ปฏิบัติดังนี้ (ก) ถ้าเป็นงานตรวจสอบที่เจ้าหน้าที่เป็นเจ้าของเรื่องเองและยังตรวจสอบไม่เสร็จ ให้ส่งมอบเรื่องและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้แก่ สพท. ซึ่งเจ้าหน้าที่เจ้าของเรื่องไปปฏิบัติราชการเพื่อจะได้ตรวจสอบอย่างต่อเนื่องจนแล้วเสร็จ (ข) ถ้าเป็นงานตรวจสอบที่ทำเป็นคณะให้กองดำเนินการตรวจสอบต่อไป การแบ่งส่วนราชการดังกล่าวจึงเป็นเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินภายในของจำเลยเพื่อให้เกิดความคล่องตัวมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสภาพของกรมสรรพากรในปัจจุบัน เมื่องานตรวจสอบภาษีรายของโจทก์เป็นงานที่ดำเนินการค้างมาจากงานกองภาษีการค้าและยังไม่เสร็จสิ้น กองภาษีการค้าถูกยุบเลิกไป นายวินิจสื่อสุวรรณ เจ้าพนักงานตรวจสอบภาษีรายของโจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี 6 ฝ่ายตรวจสอบ สำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 8 นายวินิจก็ย่อมมีอำนาจดำเนินการต่อไปได้ จนกว่าจะเสร็จงาน การแบ่งส่วนราชการของจำเลยดังกล่าวจึงหามีผลกระทบกระเทือนเป็นเหตุให้การตรวจสอบภาษีรายของโจทก์ที่ต่อเนื่องมาจากกองภาษีการค้าเป็นการไม่ชอบไม่ โจทก์จึงไม่อาจจะยกเอาเหตุที่โจทก์มีภูมิลำเนาหรือสถานที่ประกอบการค้าอยู่ในเขตพื้นที่สำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 7 ของการแบ่งส่วนราชการของจำเลยมาอ้างว่าสำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 8 ไม่มีอำนาจตรวจสอบและประเมินภาษีรายของโจทก์ได้ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า การประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยชอบหรือไม่ ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่านายทนงศักดิ์ แสงโชติช่วงชัย เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบของจำเลยเบิกความว่าได้ไปคัดหลักฐานเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายและภาษีการค้าหัก ณ ที่จ่าย สำหรับปี 2519 และปี 2520 ที่โจทก์ถูกทางราชการหักภาษีไว้ตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.1แผ่นที่ 70 ถึงแผ่นที่ 179 เพื่อนำมาประเมินภาษีโจทก์ เอกสารดังกล่าวล้วนแต่เป็นภาพถ่ายไม่มีการรับรองสำเนาถูกต้องจากหัวหน้าหน่วยราชการที่เก็บรักษาต้นฉบับ เอกสารดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(3)จึงรับฟังไม่ได้ว่าเงินจำนวน 20 ล้านบาทเศษ ที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวเป็นเงินรายได้ของโจทก์ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงเป็นการไม่ชอบนั้นเห็นว่า แม้เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 70 ถึงแผ่นที่ 179 เป็นภาพถ่ายมาต้นฉบับเอกสารที่อยู่ในความอารักขาหรือในความควบคุมของทางราชการการอ้างภาพถ่ายเอกสารลักษณะเช่นนี้เท่ากับเป็นการอ้างสำเนาเอกสารจะต้องมีบุคคลดังที่ระบุไว้ในมาตรา 93(3) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งรับรองถูกต้องแล้วจึงจะรับฟังได้ก็ตาม แต่ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งตามมาตรา 125 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอีกฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเอกสารมาเป็นพยานหลักฐานยันตนจะต้องคัดค้านการอ้างเอกสารหรือความถูกต้องของสำเนาเอกสารก่อนวันสืบพยานหรือก่อนศาลพิพากษาแล้วแต่กรณี แต่โจทก์ก็มิได้คัดค้านว่าต้นฉบับเอกสารไม่มีหรือเอกสารนั้นปลอม หรือสำเนาไม่ถูกต้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ดังนั้น ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีอำนาจรับฟังสำเนาพยานเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 70 ถึงแผ่นที่ 179แทนต้นฉบับได้ ไม่ใช่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ฝ่าฝืนกฎหมายอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลในปี 2519 และ 2520 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้หักค่าใช้จ่ายให้แก่โจทก์โดยถือเป็นค่าวัสดุก่อสร้างร้อยละ 50 เป็นค่าแรงก่อสร้างร้อยละ 30 รวมเป็นค่าใช้จ่ายร้อยละ 80 โจทก์จะได้กำไรร้อยละ 20 ไม่ถูกต้อง ไม่มีกฎหมายให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานในการประเมินกำหนดต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้ การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาจึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงว่าโจทก์มีรายได้จากการประกอบกิจการของโจทก์ โจทก์ย่อมมีเงินได้ที่จะต้องเสียภาษีภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65, 65 ทวิ และ 65 ตรี เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานใดมาแสดงว่าเป็นรายจ่ายของโจทก์ จึงต้องถือว่าโจทก์มีเงินกำไรสุทธิที่จะต้องเสียภาษีตามจำนวนที่เป็นรายรับของโจทก์ การที่เจ้าพนักงานประเมินคำนวณกำไรสุทธิของโจทก์โดยยินยอมให้มีการหักค่าใช้จ่ายด้วยการนำเอาข้อมูลจากกรมโยธาธิการที่เป็นหน่วยงานที่ควบคุมงานก่อสร้างสถานที่ราชการที่โจทก์ดำเนินการ ซึ่งจะต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าแรงก่อสร้างเอกสารหมาย ล.16 มาเป็นแนวทางตรวจสอบกิจการก่อสร้างของโจทก์แล้วคำนวณกำไรสุทธิด้วยการหักค่าใช้จ่ายให้แก่โจทก์เป็นค่าวัสดุก่อสร้างและค่าแรงก่อสร้างรวมจำนวนถึงร้อยละ 80เอกสารหมาย ล.9 นับว่าเป็นการกระทำโดยมีเหตุสมควรและเป็นธรรมแก่โจทก์ กรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจที่จะกระทำได้โจทก์จะอ้างว่าไม่มีกฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมิน การประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จึงเป็นการไม่ชอบไม่ได้อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาคงเหลืออยู่ว่า สมควรจะงดหรือลดเบี้ยปรับเงินเพิ่มให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่าในการตรวจสอบภาษีรายของโจทก์ โจทก์มอบอำนาจให้นางสาวสุภาวดี จำปีหยด มาให้การต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีจำเลยเพียงครั้งเดียว เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2527 เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 187 หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2527วันที่ 12 ธันวาคม 2527 และวันที่ 23 มกราคม 2528 เจ้าพนักงานประเมินก็ได้มีหนังสือให้โจทก์ไปพบพร้อมกับส่งเอกสารให้แก่เจ้าพนักงานประเมิน เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 45 ถึง 46 และแผ่นที่ 65 ถึง 68 โจทก์ก็เพิกเฉยไม่ได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษีของจำเลยแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อโจทก์ถูกประเมินภาษีก็ไม่ยอมมารับทราบผลการประเมิน กรณีเช่นนี้ย่อมไม่มีเหตุที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้โจทก์ได้ ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าโจทก์ไม่ได้ติดต่อกับจำเลยเพราะสถานที่ประกอบการค้าของโจทก์ไม่ได้อยู่ในเขตความรับผิดชอบของสำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 8ทำให้โจทก์ไม่แน่ใจจึงไม่ไปรับทราบผลการประเมินฟังไม่ขึ้นศาลภาษีอากรกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.