แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์จะอ้างพยานหลักฐานฝ่าฝืนต่อ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 วรรคแรก แต่จำเลยก็ไม่เสียเปรียบในเชิงคดีทั้ง มาตรา 87 (2) ให้ศาล มีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของมาตรา 90 ได้ ในกรณีที่ศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ฉะนั้นศาลจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายดังกล่าวได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 เป็นบทบังคับเพื่อความสมบูรณ์ของสัญญาที่ตัวแทนทำต่อบุคคลภายนอกเท่านั้น มิได้ใช้บังคับสำหรับข้อพิพาทระหว่างตัวการกับตัวแทน มูลหนี้ตามสัญญาตัวแทนจึงไม่ตกอยู่ในบังคับของบทกฎหมายดังกล่าวเมื่อโจทก์เป็นตัวแทนจำเลยในการขายหุ้นจำเลยซึ่งเป็นตัวการจะต้องรับผิดต่อโจทก์ในการจัดทำกิจการที่จำเลยมอบหมายแม้การตั้งตัวแทนระหว่างจำเลยกับโจทก์จะไม่ได้ทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือก็ตาม
ข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้สมาชิกถือปฏิบัติ หากสมาชิกใดฝ่าฝืนก็อาจถูกลงโทษตามข้อบังคับดังกล่าวแต่ไม่ทำให้ความผูกพันระหว่างจำเลยกับโจทก์ในฐานะตัวการกับตัวแทนเสียไป
จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งมอบหุ้นที่จำเลยสั่งขายให้แก่โจทก์เพื่อส่งมอบแก่ผู้ซื้อภายใน 4 วัน แต่จำเลยไม่ส่งมอบให้ โจทก์จึงต้องเอาหุ้นที่โจทก์มีอยู่ในครอบครองส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อแล้วซื้อหุ้นใหม่มาทดแทนพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนต้องเสียหายเนื่องจากการขายหุ้นตามคำสั่งของจำเลยซึ่งเป็นตัวการ โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ และความเสียหายของโจทก์เกิดขึ้นเมื่อชำระหนี้แทนจำเลย จึงต้องคิดค่าเสียหายตามราคาหุ้นในวันที่โจทก์มอบหุ้นให้แก่ผู้ซื้อ จะถือตามราคาหุ้นในวันที่โจทก์ซื้อหุ้นใหม่มาทดแทนหาได้ไม่
โจทก์มิใช่เป็นพ่อค้าตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 (1) หรือ (7) แต่โจทก์เป็นตัวแทนเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยซึ่งเป็นตัวการตามมาตรา 816 วรรคท้าย ซึ่งกฎหมายมิได้กำหนดระยะเวลาให้ใช้บังคับสิทธิเรียกร้องไว้เป็นอย่างอื่นจึงมีอายุความ10 ปี ตามมาตรา 164
แม้ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีเป็นเหตุให้จำเลยไม่ได้ถามค้าน ส. พยานโจทก์ แต่จำเลยก็ได้อ้างและนำส. เข้าเบิกความเป็นพยานจำเลย ทั้งเอกสารที่จำเลยประสงค์จะถามค้านก็มิใช่เอกสารสำคัญในการวินิจฉัยคดี จึงไม่จำเป็นต้องให้โอกาสจำเลยถามค้าน ส. อีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทำหน้าที่เป็นตัวแทนและนายหน้าของลูกค้าในการซื้อขายหลักทรัพย์ จำเลยซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ได้สั่งให้โจทก์ในฐานะตัวแทนขายหลักทรัพย์ซึ่งเป็นหุ้นของบริษัทเฟิสท์ทรัสต์ จำกัด หลายครั้ง และโจทก์ได้ขายหลักทรัพย์ดังกล่าวและแจ้งให้จำเลยส่งมอบหลักทรัพย์ที่จำเลยสั่งขายแก่โจทก์เพื่อส่งมอบแก่ผู้ซื้อ แต่จำเลยไม่สามารถส่งหลักทรัพย์ดังกล่าวให้โจทก์ตามข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ โจทก์มีหน้าที่จัดหาหลักทรัพย์ชนิดเดียวกันส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อและได้ส่งมอบเรียบร้อยแล้ว จำเลยมีหน้าที่จัดหาหลักทรัพย์มาทดแทนแก่โจทก์ แต่ไม่ได้จดวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๒๑ โจทก์จึงซื้อหลักทรัพย์ชนิดและจำนวนเดียวกันมาทดแทนเป็นเงิน ๙๓๒,๐๐๐ บาท เมื่อคิดบัญชีกันแล้วจำเลยยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน ๗๑๔,๔๕๗.๒๐ บาท จึงขอให้พิพากษาและบังคับ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะการโอนหุ้นต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนจึงต้องทำเป็นหนังสือ แต่โจทก์มิได้เสนอสัญญาตัวแทนมาในคำฟ้อง สิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความโจทก์ซื้อหุ้นในเวลาที่ไม่ถูกต้องและในราคาไม่เหมาะสมโดยจำเลยมิได้ให้ความยินยอม จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๗๐๗,๗๔๓.๖๑ บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ปัญหาข้อแรกที่จำเลยฎีกา ความว่าโจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารที่โจทก์อ้างอิงเป็นพยานให้แก่จำเลยก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าสามวันจึงรับฟังเป็นพยานไม่ได้นั้น เห็นว่าแม้โจทก์จะแสดงความจำนงที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๙๐ วรรคแรก แต่วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๒๓ ซึ่งเป็นวันสืบพยานโจทก์นำนายเสรี จิระสวัสดิ์ เข้าเบิกความเพียงคนเดียว และนายเสรีเบิกความยังไม่จบคำถามของทนายโจทก์ โจทก์ก็ขอเลื่อนคดีไปสืบนายเสรีต่อนัดหน้า ซึ่งกว่าศาลจะสืบนายเสรีต่อก็เป็นวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๒๓ จำเลยจึงไม่เสียเปรียบในเชิงคดีแต่อย่างใด ทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๗(๒)ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๐ ได้ ในกรณีที่ศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ฉะนั้นศาลจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายดังกล่าวได้
ปัญหาข้อต่อไปที่จำเลยฎีกาว่า การซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นการซื้อขายหุ้นชนิดระบุชื่อซึ่งต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนซื้อขายหุ้นประเภทดังกล่าว จึงต้องทำเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๗๙๘ มิฉะนั้นย่อมเป็นโมฆะนั้นเห็นว่าบทกฎหมายดังกล่าวบังคับเพื่อความสมบูรณ์ของสัญญาที่ตัวแทน ทำต่อบุคคลภายนอกเท่านั้น มิได้ใช้บังคับสำหรับข้อพิพาทระหว่างตัวการกับตัวแทนมูลหนี้ ตามสัญญาตัวแทนจึงไม่ตกอยู่ในบังคับของบทกฎหมายดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นตัวแทนจำเลยในการขายหุ้นดังกล่าว จำเลยซึ่งเป็นตัวการก็จะต้องรับผิดต่อโจทก์ในการจัดทำกิจการที่จำเลยมอบหมายแม้การตั้งตัวแทนระหว่างจำเลยกับโจทก์จะไม่ได้ทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือก็ตาม
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า จำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์หรือไม่และเพียงใด ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้สมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถือปฏิบัติ หากสมาชิกใดฝ่าฝืนก็อาจถูกลงโทษตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ข้อบังคับดังกล่าวไม่ทำให้ความผูกพัน ระหว่างจำเลยกับโจทก์ในฐานะตัวการกับตัวแทนเสียไป สำหรับเรื่องค่าเสียหายนั้น เห็นว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องส่งมอบหุ้นที่จำเลยสั่งขาย ให้แก่โจทก์เพื่อส่งมอบแก่สมาชิกผู้ซื้อภายใน ๔ วัน แต่จำเลยขอผัดส่งมอบ แล้วภายหลังไม่ส่งมอบให้โจทก์จึงต้องเอาหุ้นบริษัทเฟิสท์ทรัสต์ จำกัดที่โจทก์มีอยู่ในครอบครองส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อ แล้วซื้อหุ้นใหม่มาทดแทนในราคาที่สูงกว่า พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนต้องเสียหาย เนื่องจากการขายหุ้นตามคำสั่งของจำเลยโจทก์จึงเรียกค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งเป็นตัวการได้ ความเสียหายของโจทก์เกิดขึ้นเมื่อชำระหนี้แทนจำเลย ฉะนั้นจึงต้องคิดค่าเสียหายตามราคาหุ้นในวันที่โจทก์มอบหุ้นให้แก่ผู้รับมอบ จะถือตามราคาหุ้นในวันที่ ๓๑มกราคม ๒๕๒๑ ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ซื้อหุ้นมาทดแทนไม่ได้ และเห็นว่าราคาหุ้นในวันที่โจทก์ส่งมอบแก่ผู้ซื้อเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น ๓๕๐,๘๐๐ บาท เมื่อหักกับเงินค่าขายหุ้นที่จำเลยสั่งให้โจทก์ขายจำนวน ๓๑๓,๕๐๐ บาทแล้ว จำเลยจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ๓๗,๓๐๐ บาท
ปัญหาข้อต่อไปที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด ๒ ปีนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้อง คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕(๑) หรือ (๗) นั้น เห็นว่าโจทก์มิใช่เป็นพ่อค้า ผู้ประกอบหัตถกรรม ผู้เป็นช่างฝีมือ และบุคคลจำพวกประกอบศิลปะอุตสาหกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕(๑)ทั้งมิใช่เป็นผู้ค้าในการดูแลกิจการของผู้อื่น หรือรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้าง อันจะพึงได้รับหรือค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปตาม มาตรา ๑๖๕(๗)แต่เป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยซึ่งเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๑๖ วรรคสุดท้าย ซึ่งกฎหมายมิได้กำหนดระยะเวลาให้ใช้บังคับสิทธิเรียกร้องไว้เป็นอย่างอื่นจึงมีอายุความ ๑๐ ปีตามมาตรา ๑๖๔ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ปัญหาข้อสุดท้ายที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่มีโอกาสถามค้านนายเสรีพยานโจทก์เป็นเหตุให้จำเลยขาดโอกาสที่จะพิสูจน์ความจริงของคดีให้กระจ่าง ขอให้ศาลทำการสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๐(๒)นั้น เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดี เป็นเหตุให้จำเลยไม่ได้ถามค้านนายเสรีพยานโจทก์ แต่จำเลยก็ได้อ้างและนำนายเสรีเข้าเบิกความเป็นพยานจำเลยทั้งเอกสารหมาย จ.๑๘ ที่จำเลยประสงค์จะถามค้านนายเสรีเกี่ยวกับผู้ทำและวันที่ทำเอกสาร ก็มิใช่เอกสารสำคัญในการวินิจฉัยคดี จึงไม่จำเป็นต้องให้โอกาสจำเลยถามค้านนายเสรีอีก
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๓๗,๑๐๐ บาท แก่โจทก์