คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5516/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่บริษัทจำเลยส่งไว้ต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เป็นเอกสารราชการ กฎหมายสันนิษฐานว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1141 เมื่อบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นดังกล่าวระบุว่าผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นและยังคงค้างค่าหุ้นอยู่ และผู้ร้องไม่อาจนำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ จึงต้องฟังว่าผู้ร้องถือหุ้นและค้างค่าหุ้นตามที่ระบุไว้ บริษัทจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ผู้ร้องซึ่งถือหุ้นและค้างค่าหุ้นบริษัทจำเลยอยู่ต้องชำระเงินค่าหุ้นที่ค้างต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทจำเลย.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือทวงหนี้ผู้ร้อง จำนวน 187,500 บาท พร้อมดอกเบี้ย อ้างว่าจำเลยมีสิทธิเรียกร้องต่อผู้ร้อง นั้น ผู้ร้องได้หนังสือปฏิเสธหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าผู้ร้องถือหุ้นดังกล่าวแทนนายชัยวัตรพนาวัฒน์ ทั้งนายชัยวัตรได้ชำระค่าหุ้นแทนครบถ้วนแล้ว ผู้ร้องไม่ต้องรับผิด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีหนังสือยืนยันให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องนี้ต่อศาลชั้นต้นขอให้จำหน่ายชื่อผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีพยานหลักฐานแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องถือหุ้นแทนผู้อื่น ที่อ้างว่านายชัยวัตรชำระค่าหุ้นแทนครบถ้วนแล้วก็เชื่อถือไม่ได้ ขอให้ยกคำร้องและบังคับให้ผู้ร้องชำระหนี้ค่าหุ้นพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามคำร้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่มีเอกสารยืนยันว่าหุ้นดังกล่าวเป็นของนายชัยวัตรที่ให้ผู้ร้องเป็นผู้ถือแทน และคดีฟังไม่ได้ว่ามีการชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่าแล้ว จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องให้ผู้ร้องชำระหนี้ค่าหุ้นพร้อมดอกเบี้ยต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นจะต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นแทนนายชัยวัตรหรือไม่ และได้มีการชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่าแล้วหรือไม่ สำหรับประเด็นแรกนั้น ผู้ร้องนำสืบอ้างว่าเนื่องจากกระทรวงการคลังมีคำสั่งห้ามมิให้กรรมการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มีหุ้นอยู่ในบริษัทลูกหนี้ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกินกว่าร้อยละสิบ เป็นเหตุให้นายชัยวัตรกรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหานครทรัสต์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้บริษัทจำเลยอยู่ต้องโอนหุ้นในบริษัทจำเลยให้แก่ผู้ร้อง เห็นว่า ที่ผู้ร้องอ้างว่ามีคำสั่งของกระทรวงการคลังห้ามดังกล่าว ผู้ร้องมีเพียงนายชัยวัตรมาสืบเพียงลอย ๆ ไม่มีหลักฐานแสดงว่าคำสั่งมีจริงและจำต้องปฏิบัติตามหรือไม่เพียงไร จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง อย่างไรก็ตามหากฟังว่ามีคำสั่งห้ามและคำสั่งนั้นมีผลตามกฎหมายจริง การที่นายชัยวัตรโอนหุ้นให้ผู้ร้องถือหุ้นไว้แทนย่อมเป็นการกระทำผิดกฎหมาย จึงไม่อาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นนี้มาสนับสนุนข้ออ้างของผู้ร้องได้นอกจากนี้จากทางนำสืบของผู้ร้องได้ความว่าผู้ร้องเป็นเพียงคนรู้จักกับนายชัยวัตร เพราะผู้ร้องทำงานในสำนักงานบัญชีซึ่งนายชัยวัตรเป็นเพียงลูกค้าคนหนึ่งของสำนักงานเท่านั้น ไม่มีเหตุผลใดที่แสดงให้เห็นว่า นายชัยวัตรเชื่อถือไว้วางใจถึงกับให้ผู้ร้องถือหุ้นแทน พยานหลักฐานของผู้ร้องจึงไม่มีน้ำหนักส่วนทางนำสืบของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้าน มีเอกสารหมาย ค.1 บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2528 ซึ่งบริษัทจำเลยส่งไว้ต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่5 สิงหาคม 2528 เป็นเอกสารของทางราชการ ซึ่งกฎหมายสันนิษฐานว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1141 เอกสารดังกล่าวระบุว่าผู้ร้องถือหุ้นอยู่ในบริษัทจำเลย 250 หุ้น เมื่อข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องนำสืบไม่มีน้ำหนัก ไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าผู้ร้องถือหุ้นจำนวนดังกล่าวอยู่ในนามของผู้ร้องมิใช่ถือแทนนายชัยวัตร
คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยในประเด็นต่อไปว่าผู้ร้องชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่าแล้วหรือไม่ผู้ร้องนำสืบโดยมีใบหุ้น เอกสารหมาย ร.1 มาแสดงว่าชำระเต็มมูลค่าแล้ว และนำนายชัยวัตรมาสืบว่าเป็นผู้ชำระค่าหุ้นส่วนที่ค้างชำระแล้ว เนื่องจากต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวไปจ่ายค่าแรงชดเชยให้แก่คนงาน ตามเอกสารหมาย ร.3 นอกจากนี้ยังมีบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในวันประชุมเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2528ซึ่งบริษัทจำเลยส่งไว้ต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนและบริษัทกรุงเทพมหานคร ตามเอกสารหมาย ร.2 แสดงว่าผู้ร้องชำระค่าหุ้นครบแล้ว เห็นว่า เอกสารหมาย ร.1 และ ร.2 มีพิรุธโดยผู้ร้องรับว่าใบหุ้น เอกสารหมาย ร.1 ผู้ร้องเพิ่งได้รับหลังจากที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องชำระค่าหุ้นที่ค้างแล้ว เอกสารดังกล่าวนี้จะทำขึ้นเมื่อใดก็ได้ การได้รับใบหุ้นภายหลังจากถูกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งให้ชำระหนี้ จึงอาจทำขึ้นภายหลังไม่น่าเชื่อว่ามีการชำระกันจริงส่วนเอกสารหมาย ร.2 ก็เช่นเดียวกันเพิ่งส่งไว้ต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2530 แม้จะลงวันที่ 31 สิงหาคม 2528 ก็น่าเชื่อว่าลงวันที่ย้อนหลังเท่านั้นเพราะเพิ่งส่งต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครภายหลังจากที่ผู้ร้องได้รับหนังสือจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งให้ชำระหนี้เช่นกัน ส่วนเอกสารหมายร.3 บัญชีรายชื่อของพนักงานที่บริษัทจำเลยจ่ายค่าแรงชดเชยให้แก่พนักงานของบริษัทจำเลย โดยอ้างว่าเกิดจากการเรียกเก็บค่าหุ้นที่ค้างชำระเงินค่าแรงนั้น ไม่มีหลักฐานแสดงว่าเงินที่นำมาจ่ายค่าแรงชดเชยมาจากที่ใดนอกจากข้ออ้างลอย ๆ ว่านายชัยวัตรนำเงินจากค่าหุ้นมาจ่ายเท่านั้น จึงไม่มีน้ำหนักฟังหักล้างเอกสารหมายค.1 ซึ่งบริษัทจำเลยส่งไว้ต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร แสดงว่าผู้ร้องถือหุ้นอยู่ 250 หุ้น ชำระแล้วหุ้นละ250 บาท จึงยังคงค้างค่าหุ้นอยู่หุ้นละ 750 บาท ซึ่งเอกสารฉบับดังกล่าวน่าเชื่อว่าถูกต้องดังได้วินิจฉัยในประเด็นแรกแล้วข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าผู้ร้องค้างชำระค่าหุ้นตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งให้ผู้ร้องชำระหนี้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share