แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ส. เป็นผู้พิพากษาที่เพียงแต่มีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามคำร้องของจำเลยเท่านั้น อันเป็นคำสั่งภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีเสร็จแล้ว และก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลย ซึ่งการมีคำสั่งดังกล่าว ส. ไม่ได้นั่งพิจารณาคดีนั้นเลย ส. จึงไม่มีอำนาจรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงได้ การที่ ส. รับรองให้ฎีกาจึงไม่ชอบ ถือว่าคดีนี้ยังคงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงที่โจทก์ฎีกาว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่เป็นที่หนองน้ำสาธารณประโยชน์ เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ซึ่งวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นที่หนองน้ำสาธารณประโยชน์เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)เลขที่ 270 เนื้อที่ 22 ไร่เศษ โดยซื้อมาเมื่อปี 2527 จำเลยที่ 1 เป็นกระทรวงในรัฐบาลมีหน้าที่ดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์ และขึ้นทะเบียนเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองศรีสะเกษเป็นข้าราชการสังกัดจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลรักษาหนองน้ำสาธารณประโยชน์ในเขตอำเภอเมืองศรีสะเกษ จำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลน้ำคำอำเภอเมืองศรีสะเกษ และเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในการดูแลรักษาที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินดังกล่าว เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 2 สั่งให้จำเลยที่ 3 พร้อมลูกบ้าน 4 ถึง 5 คน นำหลักหมุดไปปักในที่สาธารณะและปักรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ ทั้งนำป้ายขนาดใหญ่แสดงเขตหนองน้ำสาธารณประโยชน์ปักรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 94 ตารางวา โจทก์บอกกล่าวแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3ให้ถอนหลักหมุดออกไปจากที่ดินโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพิกเฉยอ้างว่าต้องมีคำสั่งจากจำเลยที่ 1 ก่อน ทำให้โจทก์เสียหาย ที่ดินพิพาทดังกล่าวใช้ปลูกข้าวมีรายได้เฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท ขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยทั้งสามเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขุดหลักหมุดออกจากที่ดินพิพาท หากไม่ดำเนินการให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการโดยจำเลยทั้งสามเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายปีละ 3,000 บาท นับแต่ปี2536 ไปจนกว่าจะดำเนินการดังกล่าวเสร็จและส่งมอบที่ดินคืนโจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่สาธารณประโยชน์หนองโดนน้อย ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลน้ำคำ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์ประเภทประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และมีการดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเมื่อปี 2535 แม้ที่ดินโจทก์จะมีหลักฐานเป็น น.ส.3 ซึ่งออกโดยอาศัย ส.ค.1 เลขที่ 270 แต่ น.ส.3 ดังกล่าวมีเนื้อที่มากกว่าที่ระบุใน ส.ค.1 และออกครอบคลุมที่ดินพิพาทเป็นการออกโดยไม่ชอบ อย่างไรก็ตามที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นหนองน้ำใช้ทำนาไม่ได้ ประกอบกับโจทก์ไม่มีอาชีพทำนา จึงไม่ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามดำเนินการรื้อถอนหลักหมุดและป้ายแสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ออกไปจากที่ดินพิพาทและห้ามจำเลยทั้งสามเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวอีก คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา โดยนางสาวสุนทรี อัจฉริยพฤกษ์ ผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “คดีนี้ราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง โจทก์ฎีกาพร้อมกับยื่นคำร้องขอให้นางสาวสุนทรี อัจฉริยพฤกษ์ ผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ซึ่งนางสาวสุนทรีได้ลงชื่อรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงได้ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้อำนาจแก่ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้นั้น มีเจตนารมณ์ให้อำนาจแก่ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีนั้นเองเป็นผู้รับรองให้ฎีกาเพราะเป็นผู้ทราบดีว่ามีเหตุสมควรที่จะรับรองให้ฎีกาหรือไม่ แต่ปรากฏว่านางสาวสุนทรีเป็นผู้พิพากษาที่เพียงแต่มีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามคำร้องของจำเลยทั้งสามเท่านั้น อันเป็นคำสั่งภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีเสร็จแล้ว และก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสาม ซึ่งการมีคำสั่งดังกล่าวนางสาวสุนทรีไม่ได้นั่งพิจารณาคดีนั้นเลย นางสาวสุนทรีจึงไม่มีอำนาจรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงได้ การที่นางสาวสุนทรีรับรองให้ฎีกาจึงไม่ชอบ ถือว่าคดีนี้ยังคงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง ที่โจทก์ฎีกาว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่เป็นที่หนองน้ำสาธารณประโยชน์เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ซึ่งวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นที่หนองน้ำสาธารณประโยชน์เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของโจทก์