แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุระบุว่าพบกองเศษกระจกห่างทางเท้าประมาณ 3 เมตร แม้เป็นเอกสารที่ทำขึ้นฝ่ายเดียว แต่เป็นหลักฐานที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจพบและบันทึกไว้ ดังนี้เป็นเอกสารที่รับฟังได้
การที่จำเลยลงชื่อในแผนที่เกิดเหตุเพราะพนักงานสอบสวนบอกว่าลงชื่อแล้วกลับบ้านได้ ไม่ได้หมายความว่า จำเลยถูกบังคับหรือหลอกลวง แต่เป็นการลงชื่อโดยความสมัครใจของจำเลยเอง
เมื่อศาลเห็นไม่สมควรสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยก็ไม่จำต้องปรับบทตาม พระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 162 อีก.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับขี่รถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ ว.ถึงแก่ความตายและ อ. ได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 390, 90 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 51, 148, 157, 162 สั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลของจำเลย
จำเลยให้การปฏิเสธ
นายมนัส เพชรมุณี บิดาของนายวีระยุทธ ผู้ตายและนายอมรรัตน์แสงวณิช ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้เป็นโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา291, 390, 90 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (4), 51,148, 157, 162 แต่เป็นความผิดอันเป็นกรรมเดียวกัน ให้ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 จำคุกจำเลย 4 ปี ยังไม่สมควรสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลของจำเลยตามที่โจทก์ขอ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…พยานโจทก์มีโจทก์ร่วมที่ 2 และนายมานิตย์ พันธ์เดช เบิกความว่า เมื่อถึงที่เกิดเหตุจำเลยขับรถเก๋งเลี้ยวขวาจะเข้าซอยข้างวิทยาลัยครูธนบุรีข้ามเส้นกึ่งกลางถนนในทันทีทันใด โดยไม่ให้สัญญาณ แล้วชนกับรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ร่วมที่ 2 ขับขี่มาตามปกติเห็นว่าคำเบิกความของพยานดังกล่าวมีเหตุผล แม้ตอนท้ายคำเบิกความของนายมานิตย์จะเบิกความใหม่ว่า ความจริงเริ่มเห็นเหตุการณ์เมื่อได้ยินเสียงรถจักรยานยนต์ห้ามล้อ พอมองไปตามเสียงห้ามล้อรถจักรยานยนต์ รถเก๋งกับรถจักรยานยนต์ปะทะกันแล้วจึงไม่ทันสังเกตว่าต่างเข้าชนกันลักษณะใด คำเบิกความนี้ยังมีความหมายดังที่เบิกความไว้ในตอนต้นว่า จำเลยขับรถเลี้ยวขวาไปชนกับรถของโจทก์ร่วม เพียงแต่ไม่เห็นว่าชนกันอย่างไรเท่านั้น ทั้งคำให้การของนายมานิตย์ในชั้นสอบสวนระบุไว้ชัดว่าจำเลยขัยรถยนต์เลี้ยวขวาเข้าไปในช่องทางเดินรถของโจทก์ร่วมที่ 2 แล้วชนกัน นอกจากนี้พยานของโจทก์ร่วมมีสิบตำรวจตรีสำลี ทัมบุรีและพลตำรวจสมศักดิ์ อัครส เบิกความว่า ขณะที่อยู่ป้อมยามใกล้ที่เกิดเหตุ เห็นรถจักรยานยนต์แล่นผ่านไปทางสี่แยกบ้านแขก ตามช่องทางเดินรถประมาณหนึ่งวินาทีก็ได้ยินเสียงรถชนกันคำเบิกความของพยานทั้งสอง แม้ไม่เห็นขณะที่รถชนกัน แต่พยานเห็นรถของโจทก์ร่วมที่ 2 แล่นไปตามทางของโจทก์ร่วมที่ 2 และไม่ปรากฏว่าเห็นรถคันอื่นอยู่ข้างหน้าและทันใดนั้นได้ยินเสียงรถชนกัน แสดงว่ารถโจทก์ร่วมที่ 2 ไม่ได้แซงรถคันอื่นทั้งปรากฏว่าหลังจากรถชนกันแล้วรถจักรยานยนต์ล้มใกล้ทางเท้ารถของจำเลยไปจอดที่ปากซอยหรือในทางเดินรถของโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นหลักฐานสนับสนุนคำเบิกความพยานโจทก์ให้น่าเชื่อยิ่งขึ้นว่า รถชนกันในทางของโจทก์ร่วมที่ 2 บันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุตามเอกสารหมาย จ.9 ระบุว่าพบกองเศษกระจกห่างทางเท้าประมาณ 3 เมตร แม้เอกสารนี้ร้อยตำรวจตรีกมล เหรียญราชาทำขึ้นฝ่ายเดียวแต่เป็นหลักฐานที่ร้อยตำรวจตรีกมลตรวจพบและบันทึกไว้ เป็นเอกสารที่รับฟังได้แผนที่เกิดเหตุเอกสารหมายจ.1 ระบุว่าจำเลยขับรถยนต์เลี้ยวขวาเข้าไปชนรถโจทก์ร่วมที่2 ในทางเดินรถของโจทก์ร่วมที่ 2 แม้แผนที่นี้ได้ทำขึ้นจากคำบอกเล่าของบุคคลในที่เกิดเหตุก็ปรากฏว่ารูปแผนที่ตรงกับคำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นส่วนมาก และจำเลยลงลายมือชื่อรับรองไว้ เท่ากับยอมรับว่าแผนที่เกิดเหตุตรงกับความจริงส่วนข้ออ้างของจำเลยว่า จำเลยขับรถยนต์เก๋งไปตามช่องทางเดินรถของจำเลย โจทก์ร่วมที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์แล่นสวนทางมาแล้วแซงรถยนต์ที่แล่นอยู่ข้างหน้า แต่ไม่ทันเข้าช่องทางเดินรถของโจทก์ร่วมที่ 2 ก็ชนกับรถของจำเลย หากเป็นความจริงดังที่อ้าง หน้ารถของโจทก์ร่วมที่ 2 น่าจะชนกับหน้ารถของจำเลย แต่ข้อเท็จจริงกลับได้ความว่า หน้ารถมุมด้านขวาของรถจำเลยไปชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมที่ 2 ตรงส่วนกลาง แม้รถจักรยานยนต์มีรอยครูดจากหน้ารถไปท้ายรถ เมื่อรถจำเลยเลี้ยวขวาแบบเฉียงๆ มุมรถด้านขวาของรถจำเลยก็ชนรถของโจทก์ร่วมที่ 2 ในลักษณะดังกล่าวได้ไม่จำเป็นต้องแล่นสวนกันตรงๆ หากรถชนกันในทางเดินรถของจำเลย และทางขวามือมีทางเดินรถอีกสองช่องทาง การจราจรไม่พลุกพล่าน ป้อมตำรวจอยู่ใกล้ จำเลยน่าจะจอดรถไว้ในที่เกิดเหตุ ไม่มีเหตุผลที่จำเลยจะเคลื่อนย้ายรถเลี้ยวขวาไปจอดฝั่งตรงกันข้ามในช่องทางเดินรถของโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นการทำลายหลักฐานของจำเลยการที่จำเลยไม่หยุดรถและขับรถต่อไปเข้าไปจอดที่ปากซอยหรือเลี้ยวไปจอดในทางเดินรถของโจทก์ร่วมที่ 2 แสดงว่า จำเลยได้เลี้ยวขวาเข้าไปในช่องทางเดินรถของโจทก์ร่วมที่ 2 มากแล้ว จึงไม่กล้าจอดรถไว้ในที่เกิดเหตุและเพื่อปกปิดความจริง ข้ออ้างที่ว่าการกระทำเช่นนั้น เพื่อจะช่วยผู้บาดเจ็บก็เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะรถที่นำส่งผู้บาดเจ็บไปโรงพยาบาลเป็นรถคนอื่นไม่ใช่รถจำเลย ข้ออ้างที่ว่าพนักงานสอบสวนให้ลงชื่อในแผนที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.1เพราะพนักงานสอบสวนบอกว่าลงชื่อแล้วกลับบ้านได้ก็ไม่ได้หมายความว่าจำเลยถูกบังคับหรือหลอกลวง เพราะรายละเอียดในแผนที่ระบุข้อความไว้ชัดเจน เห็นได้ง่าย เป็นการลงชื่อโดยความสมัครใจของจำเลยเอง เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์มีเหตุผลและน้ำหนัก พยานหลักฐานของจำเลยหักล้างไม่ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดจริงดังฟ้อง ตามพฤติการณ์แห่งคดีไม่มีเหตุผลที่จะลงโทษจำเลยในสถานเบาลงอีกได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นไม่สมควรสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยแล้วก็ไม่จำต้องปรับบทตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 162 อีก ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง’
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 162 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.