แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อคำให้การจำเลยแปลงความได้ว่าจำเลยยอมรับว่าได้ตกลงกู้เงินจากโจทก์และหลังจากทำสัญญากู้แล้วจำเลยได้รับเงินจากโจทก์จนครบและเกินจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญากู้จึงถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์จำเลยตกลงผูกพันกันตามสัญญากู้ดังกล่าวสัญญากู้จึงมิใช่นิติกรรมอำพรางการยืมเงินทดรองเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการทำไร่อ้อยที่จำเลยจะนำสืบพยานบุคคลหักล้างได้ คดีมีประเด็นพิพาทเพียงว่าจำเลยยืมเงินไปจากโจทก์ตามฟ้องหรือไม่เท่านั้นหาได้มีประเด็นพิพาทว่าจำเลยได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้วหรือไม่แต่อย่างใดฎีกาของจำเลยที่ว่าสัญญากู้เป็นเอกสารที่ทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมที่แท้จริงคือยืมเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการทำไร่อ้อยสัญญากู้จึงเป็นโมฆะดังนั้นการนำสืบหักล้างเรื่องการชำระหนี้จึงกระทำด้วยเอกสารหมายล.1ถึงล.3และจ.3ได้เพราะต้องถือตามสัญญาหรือข้อตกลงที่แท้จริงมิได้ถือเอาตามสัญญากู้นั้นจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคแรกศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์แล้วไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 175,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.25 บาท ต่อเดือนจากต้นเงิน 100,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นหัวหน้าโควตา (ตัวแทน) ส่งผลผลิตอ้อยให้แก่บริษัทน้ำตาล เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2530 จำเลยเข้าร่วมเป็นลูกไร่ส่งผลผลิตอ้อยให้แก่โจทก์เพื่อนำส่งขายแก่บริษัทน้ำตาลดังกล่าว โดยจำเลยได้เบิกเงินล่วงหน้าเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุนปลูกอ้อยปี 2530 ถึง 2531 จำนวน 50,000 บาทจากโจทก์ และสัญญาว่าจำเลยจะส่งอ้อยทั้งหมดให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ส่งอ้อยต่อให้แก่บริษัทน้ำตาลและได้รับเงินแล้วจะคิดหักทอนบัญชีกันเป็นรายปีโจทก์จ่ายเงินล่วงหน้าจำนวน 50,000 บาทให้แก่จำเลย แต่ให้จำเลยทำสัญญากู้ไว้จำนวน 100,000 บาท เพราะหากเงินขาดเหลืออย่างไรก็พูดกันได้ในคราวต่อ ๆ ไป ไม่ต้องทำสัญญากันบ่อย ๆ จำเลยเบิกเงินทดรองและส่งอ้อยให้แก่โจทก์เรื่อยมา และคิดหักทอนบัญชีกันเป็นรายปี จนกระทั่งปี 2533ถึง 2534 สิ้นสุดลงมีการคิดบัญชีกันปรากฎว่า จำเลยเป็นหนี้เบิกเงินทดลองจากโจทก์ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2533 ถึงวันที่11 กุมภาพันธ์ 2534 เป็นเงินทั้งสิ้น 131,488 บาท รวมหนี้ที่โจทก์อ้างว่าจ่ายแทนจำเลยอีก 64,582 บาท จึงรวมเป็นหนี้ที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 196,070 บาท และจำเลยส่งอ้อยให้โจทก์จำนวน 410 ตันเศษ คิดเป็นเงิน 188,972 บาท เมื่อหักทอนบัญชีกัน จำเลยคงเป็นหนี้โจทก์จำนวน 7,098 บาท รวมหนี้เก่าที่ค้างชำระอีก 14,145 บาท จำเลยเป็นหนี้โจทก์ทั้งสิ้น 21,243 บาทต่อมาจำเลยชำระหนี้จำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว จึงไม่มีหนี้ผูกพันตามสัญญากู้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 เมษายน 2530เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องวันที่ 13 พฤษภาคม 2535 ไม่ให้เกินกว่า 75,000 บาท ตามที่โจทก์ขอ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยเบิกความว่าได้ทำสัญญากู้เอกสารหมาย จ.2 จริงแต่เป็นสัญญาในการเบิกเงินทดลองจ่ายในการที่จำเลยตกลงเป็นลูกไร่ปลูกอ้อยส่งให้โจทก์ จำเลยรับเงินจากโจทก์เพียง 50,000 บาท เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญากู้เอกสารหมาย จ.2 ที่ระบุว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ไป100,000 บาท ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94ส่วนเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3 และ จ.1 ไม่ใช่หลักฐานการใช้เงินคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยข้อแรกว่าตามที่จำเลยให้การว่าสัญญากู้เอกสารหมายจ.2 แท้จริงเป็นการยืมเงินค่าใช้จ่ายในการปลูกอ้อยเพียง 50,000 บาทแต่โจทก์ให้เขียนจำนวนเงินไว้ 100,000 บาท เพื่อไม่ให้จำเลยบิดพริ้วจึงเป็นนิติกรรมอันหนึ่งเพื่ออำพรางนิติกรรมการยืมเงินทดลอง สัญญากู้เอกสารหมาย จ.2 จึงตกเป็นโมฆะ จำเลยมีสิทธินำสืบพยานบุคคลหักล้างได้นั้น เห็นว่า ปรากฎตามคำให้การจำเลยด้วยว่าโจทก์ยินยอมจ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่จำเลย แต่ขอให้จำเลยทำสัญญากู้ไว้จำนวน 100,000 บาท เพราะหากเงินขาดเหลืออย่างไรก็พูดกันได้ในคราวต่อ ๆ ไปไม่ต้องทำสัญญากันบ่อย ๆ จำเลยเบิกเงินทดลองจากโจทก์ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2533 ถึงวันที่ 11กุมภาพันธ์ 2534 เป็นเงินทั้งสิ้น 131,488 บาท ดังนั้นตามคำให้การจำเลยดังกล่าวแสดงว่าจำเลยยอมรับว่าได้ตกลงกู้เงินจากโจทก์ และหลังจากทำสัญญากู้แล้ว จำเลยรับเงินจากโจทก์ไปตามสัญญาจนครบและเกินจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญา ฉะนั้นจึงถือว่าเป็นกรณีที่โจทก์จำเลยตกลงผูกพันกันตามสัญญากู้นั่นเอง สัญญากู้เอกสารหมาย จ.2จึงไม่ใช่นิติกรรมอำพรางการยืมเงินทดรองค่าใช้จ่ายในการทำไร่อ้อยที่จำเลยจะนำสืบพยานบุคคลหักล้างได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้วฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาต่อไปว่าเอกสารหมาย จ.2เป็นเอกสารที่ทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมที่แท้จริง คือเงินยืมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการทำไร่อ้อย เอกสารหมาย จ.2 จึงเป็นโมฆะดังนั้น การนำสืบหักล้างเรื่องการชำระหนี้จึงกระทำด้วยเอกสารหมายล.1 ถึง ล.3 และ จ.3 ได้เพราะต้องถือเอาตามสัญญาหรือข้อตกลงที่แท้จริง มิได้ถือเอาตามเอกสารหมาย จ.2 นั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้เพียงข้อเดียวว่าจำเลยยืมเงินไปจากโจทก์ตามฟ้องหรือไม่เท่านั้น หาได้มีประเด็นพิพาทว่าจำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้วหรือไม่แต่อย่างใด ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน