แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจะได้ความว่าเหตุตามฟ้องเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2525 และวันที่ 11 มีนาคม 2525 แต่โจทก์ดังกล่าวในฟ้องว่าเกิดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2526 และวันที่ 11 มีนาคม 2526 เป็นข้อแตกต่างเกี่ยวกับเวลาที่กระทำความผิดซึ่งเป็นเพียงรายละเอียดถือไม่ได้ว่าต่างกันในสาระสำคัญและเมื่อจำเลยไม่ได้หลงต่อสู้ จึงไม่ใช่เหตุที่ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์
จำเลยรับราชการในตำแหน่งเสมียนตราอำเภอ ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่สมุห์บัญชีของสุขาภิบาลอีกตำแหน่งหนึ่ง จำเลยจึงเป็นพนักงานสุขาภิบาลอีกในฐานะหนึ่ง ดังนั้ ในการปฏิบัติหน้าที่สมุห์บัญชีสุขาภิบาล จำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ.2495 มาตรา 22 เมื่อความผิดที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวแม้สุขาภิบาลผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 121 วรรคแรก และโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานอัยการก็มีอำนาจฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120
เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้อง แม้จะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยซึ่งรับราชการตำแหน่งเสมียนตราอำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี และได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานในหน้าที่สมุห์บัญชีของสุขาภิบาลศรีธาตุอีกตำแหน่งหนึ่ง ได้ยักยอกทรัพย์ของสุขาภิบาลศรีธาตุ (ก) เงินในแผนกสุขาภิบาลศรีธาตุ ตามข้อ๑.ถึง ๑๐.เป็นเงิน ๖,๐๑๖.๓๖ บาท (ข) เงินในแผนกการประปาสุขาภิบาลศรีธาตุ ตามข้อ ๑.ถึง ๘. เป็นเงิน ๑๘,๕๔๙.๓๗ บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑, ๑๔๗, ๑๕๑ และ ๑๕๗
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยยักยอกเงินไป ๑,๖๘๐ บาท ตามฟ้องข้อ (ก) ๗. เท่านั้น พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๗ จำคุก ๕ ปี มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสาม จำคุก ๓ ปี ๔ เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้องทุกข้อ
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องข้อ (ก) ๗. เสียด้วย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ฎีกาข้อ ๒.๑ และ ข้อ ๒.๒ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ไม่รับเพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ รับฎีกาของจำเลยเฉพาะข้อ ๒.๓ จำเลยอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาสั่งรับฎีกาข้อ ๒.๑ เพราะเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ส่วนฎีกาข้อ ๒.๒ คงไม่รับไว้พิจารณาเพราะเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในชั้นนี้มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเพียงประการเดียวว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องข้อ (ก)๗. หรือไม่ เห็นความวินิจฉัยฎีกาของจำเลย ข้อ ๒.๑ และ ๒.๓ เสียก่อน
ฎีกาของจำเลย ข้อ ๒.๑ มีใจความว่า ฟ้องข้อ (ก)๗. โจทก์บรรยายฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๒๖ จำเลยจ่ายเงินค่าวัสดุเครื่องเขียนแบบพิมพ์เป็นเงิน ๑,๖๘๐ บาท และได้ลงบัญชีจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวในวันนั้นแล้ว จำเลยกลับมาลงบัญชีจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวเป็นค่าวัสดุเครื่องเขียนแบบพิมพ์ในวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๒๖ อีก แล้วจำเลยเบียดบังเอาเงินของสุขาภิบาลศรีธาตุ จำนวน ๑,๖๘๐ บาท ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริตแต่โจทก์นำสืบว่า จำเลยลงบัญชีจ่ายเงินค่าวัสดุเครื่องเขียนแบบพิมพ์เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๒๕ จำนวน ๑,๖๘๐ บาทแล้ว กลับมาลงบัญชีจ่ายเงินค่าวัสดุเครื่องเขียนแบบพิมพ์จำนวนดังกล่าวในวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๒๕ เหตุเกิดเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๒๕ และวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๒๕ ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณากับข้อเท็จจริงดั่งที่กล่าวในฟ้อง จึงแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญและทำให้จำเลยหลงต่อสู้ ศาลจึงต้องพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตารา ๑๙๒ วรรคสอง ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจะได้ความว่าการกระทำที่โจทก์นำมาฟ้องข้อนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๒๕ และวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๒๕ แต่โจทก์กล่าวในฟ้องว่าเกิดเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๒๖ และวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๒๖ ก็ตาม ก็ไม่ใช่เหตุที่ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับฟ้องข้อนี้เพราะเป็นข้อแตกต่างเกี่ยวกับเวลาที่กระทำความผิดซึ่งเป็น เพียงรายละเอียดถือไม่ได้ว่าต่างกันในสาระสำคัญ และปรากฏแก่ศาลว่าจำเลยมิได้หลงต่อสู้ เนื่องจากจำเลยต่อสู้คดีว่า ลงบัญชีจ่ายเงินจำนวน ๒ ครั้งเพราะผิดพลาดทางบัญชี จำเลยมิได้เอาเงินออกไปแต่อย่างใด
ฎีกาของจำเลยข้อ ๒.๓ มีใจความว่า คดีนี้ประธานกรรมการสุขาภิบาลศรีธาตุแต่ผู้เดียวมอบอำนาจให้นายอุทัย สุขสำราญ ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสุขาภิบาลเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ.๒๔๙๕ มาตรา ๑๙ ที่บัญญัติว่าให้คณะกรรมการสุขาภิบาลควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารกิจการของสุขาภิบาลประธานสุขาภิบาลศรีธาตุมิได้เป็นผู้เสียหายในคดีนี้ ทั้งมิได้เป็นผู้จัดการหรือผู้แทนสุขาภิบาลศรีธาตุซึ่งเป็นนิติบุคคล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาเห็นว่าพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ.๒๔๙๕ มาตรา ๒๒ บัญญัติว่า พนักงานสุขาภิบาลมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งกฎหมายลักษณะอาญา จำเลยรับราชการในตำแหน่งเสมียนตราอำเภอศรีธาตุ ได้รับแต่งตั้งจากทางราชการให้ปฏิบัติงานในหน้าที่สมุห์บัญชีของสุขาภิบาลศรีธาตุ จำเลยจึงเป็นพนักงานสุขาภิบาลของสุขาภิบาลศรีธาตุอีกฐานะหนึ่ง ดังนั้นในการปฏิบัติหน้าที่สมุห์บัญชีสุขาภิบาลศรีธาตุจำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงาน และความผิดที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้กระทำมิใช่ความผิดต่อส่วนตัวหรือเป็นความผิดอันยอมความกันได้ แม้ผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๑ วรรคแรก ดังนั้น ประธานสุขาภิบาลศรีธาตุผู้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยจะเป็นผู้จัดการหรือผู้แทนของ สุขาภิบาลศรีธาตุซึ่งเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๕(๓) หรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย เมื่อมีการสอบสวนในความผิดที่ฟ้องแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานอัยการก็มีอำนาจฟ้องคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๐
มีปัญหาต่อมาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องข้อ (ก)๗. หรือไม่ ฟ้องข้อนี้โจทก์บรรยายว่าเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๒๖ (ที่ถูก ๒๕๒๕) จำเลยเบิกเงนค่าวัสดุเครื่องเขียนแบบพิมพ์ของสุขาภิบาลศรีธาตุ เป็นเงิน ๑,๖๘๐ บาท แล้วลงบัญชีจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวในบัญชีเงินสดในวันนั้น ครั้นเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๒๖ (ที่ถูก ๒๕๒๕) จำเลยได้นำเงินจำนวนดังกล่าวมาลงบัญชีเงินสดซ้ำอีกเพื่อให้มีรายจ่ายของสุขาภิบาลศรีธาตุ สูงขึ้นอีก ๑,๖๘๐ บาท แล้วในวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๒๖ (ที่ถูก ๒๕๒๕) นั้นเอง จำเลยเบียดบังเอาเงินของสุขาภิบาลศรีธาตุที่จ่ายสูงขึ้น ๑,๖๘๐ บาท ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามฟ้องข้อนี้เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องข้อ (ก)๗. เช่นกัน ปัญหานี้แม้จะเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาแต่ศาลศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับฟ้องข้อ (ก)๗. เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์