คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5513/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศที่อยู่ในบังคับแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศฉบับนครนิวยอร์ค ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2501(ค.ศ.1958) ซึ่งศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดเสียได้ต่อเมื่อจำเลยซึ่งจะถูกบังคับสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีกรณีตามที่ระบุไว้ในอนุมาตรา (1) ถึง (6) ของมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือมีกรณีตามที่ระบุไว้ในมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเท่านั้น เมื่อจำเลยมิได้นำสืบพิสูจน์ให้เห็นว่ามีเหตุที่ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าว ตามมาตรา 34แต่อย่างใด ทั้งไม่ปรากฏด้วยว่าคำชี้ขาดนั้นเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถจะระงับโดยทางอนุญาโตตุลาการได้ตามกฎหมายไทยหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติระหว่างประเทศ ศาลจึงไม่มีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดนั้นโดยเหตุใดเหตุหนึ่งดังกล่าว
การที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้จำเลยผู้ซื้อชำระเงินซึ่งเป็นส่วนต่างระหว่างราคาตามสัญญาของฝ่ายจำนวน 200 ตัน กับราคาตลาดของฝ่ายดังกล่าวในวันที่ 28ตุลาคม 2535 โดยถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่คู่สัญญาได้รู้หรือควรจะรู้ว่าตนไม่อาจคาดหวังค่าตอบแทนจากอีกฝ่ายได้นั้น มิได้ขัดต่อหลักเกณฑ์ตามข้อ 141 ของสมาคมฝ้ายแห่งลิเวอร์พูล จำกัด หรือธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาช้านานของอนุญาโตตุลาการแห่งสมาคมฝ้ายแห่งลิเวอร์พูล จำกัด ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้หลักเกณฑ์ของกฎข้อ 141ในลักษณะที่จะให้คู่สัญญาอยู่ในสถานะทางการเงินที่เหมือนกันอย่างมากที่สุดราวกับว่าได้มีการปฏิบัติตามสัญญาแต่อย่างใด เพราะแม้สัญญาซื้อขายฝ้ายระหว่างโจทก์และจำเลยได้กำหนดให้ส่งฝ้ายในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน และพฤษภาคม 2535โดยจำเลยผู้ซื้อต้องเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเต็มตามราคาฝ้ายทั้งหมดให้แก่โจทก์ก่อนส่งฝ้ายงวดแรก แล้วจำเลยผิดสัญญาไม่เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตก็ตาม แต่จำเลยก็อาจปฏิบัติตามสัญญาในภายหลังได้ การคำนวณส่วนต่างของราคาฝ้ายดังกล่าวจึงไม่จำเป็นต้องคำนวณในวันที่ได้กำหนดให้มีการชำระราคาหรือส่งมอบฝ้ายตามสัญญาเสมอไปไม่การบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวหาเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใดไม่ คำชี้ขาดนั้นจึงมีผลผูกพันบังคับจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาซื้อขายฝ้ายอาฟริกาจากโจทก์จำนวน 200 ตัน ในราคาปอนด์ละ 76.50 เซนต์สหรัฐ เป็นราคาซื้อขายสินค้ารวมทั้งค่าระวางเรือส่งถึงกรุงเทพมหานคร โดยตกลงว่าจำเลยจะต้องเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเป็นจำนวนเต็มของราคาฝ้ายให้แก่โจทก์ ก่อนโจทก์ส่งมอบฝ้ายงวดแรกให้จำเลยในเดือนกุมภาพันธ์ 2535 โดยโจทก์จะส่งมอบฝ้ายให้จำเลยในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายนและพฤษภาคม 2535 และหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นให้อยู่ภายใต้กฎข้อบังคับของสมาคมฝ้ายแห่งลิเวอร์พูล จำกัด ที่ประเทศอังกฤษ และให้อนุญาโตตุลาการของสมาคมดังกล่าว2 คน เป็นผู้ชี้ขาดโดยคู่สัญญาจะเลือกอนุญาโตตุลาการฝ่ายละคนการพิจารณาชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของสมาคมดังกล่าวหากคู่สัญญาฝ่ายใดไม่เลือกอนุญาโตตุลาการเอง ประธานสมาคมดังกล่าวจะเป็นผู้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการแทน แต่หลังจากทำสัญญาดังกล่าวจนเลยกำหนดเวลาตามสัญญาแล้วจำเลยก็มิได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตตามข้อตกลง โจทก์จึงเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายแห่งลิเวอร์พูล จำกัด ชี้ขาด ประธานสมาคมดังกล่าวจึงแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดของฝ่ายโจทก์ และแจ้งให้จำเลยแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดของตน แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ประธานสมาคมนั้นจึงแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายจำเลยให้ อนุญาโตตุลาการดังกล่าวได้พิจารณาและทำคำชี้ขาดให้จำเลยใช้เงินให้แก่โจทก์ รวมเป็นเงินพร้อมดอกเบี้ยที่จำเลยต้องชำระให้โจทก์ทั้งสิ้น 3,030,103.16 บาท (ที่ถูกคือ 3,028,870.03 บาท) ประเทศไทยและประเทศอังกฤษต่างเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครนิวยอร์ค ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2501(ค.ศ.1958) อนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดได้จัดส่งสำเนาคำชี้ขาดให้จำเลยทางไปรษณีย์ในวันมีคำชี้ขาด จำเลยได้รับคำชี้ขาดดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ยอมชำระขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 2,922,204.60 บาท และดอกเบี้ยจำนวน 107,898.56บาท (ที่ถูกคือ 106,665.43 บาท) รวมเป็นเงิน 3,030,103.16 บาท (ที่ถูกคือ3,028,870.03 บาท) ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 2,812,069.60 บาท (ที่ถูกคือ 2,813,069.60 บาท) นับแต่วันที่ 20 เมษายน2536 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 215,026.42 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 2,922,204.60 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยทำสัญญากับโจทก์ตามฟ้อง ประธานสมาคมฝ้ายแห่งลิเวอร์พูล จำกัด ไม่สามารถแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดกรณีพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยได้ คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่ชอบและไม่ผูกพันจำเลย เพราะอนุญาโตตุลาการดำเนินการไปโดยมิได้พิจารณาว่าสัญญาผูกพันจำเลยหรือไม่ รวมทั้งได้ดำเนินการไปฝ่ายเดียวคือฝ่ายโจทก์เท่านั้น ฝ่ายจำเลยมิได้มีตัวแทนเข้าร่วมชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต่าง ๆ จึงเป็นการแต่งตั้งโดยไม่ชอบ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า การบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามฟ้องเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 35 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”…คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของโจทก์ว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามฟ้องมีผลผูกพันจำเลยหรือไม่ ในปัญหานี้เห็นว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามฟ้องเป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศที่อยู่ในบังคับแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศฉบับนครนิวยอร์คลงวันที่ 10 มิถุนายน 2501 (ค.ศ.1958) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอันจะได้รับการรับรองและบังคับในราชอาณาจักรไทยตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ. 2530 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง แต่มาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า”การขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศที่อยู่ในบังคับแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศฉบับนครนิวยอร์คลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2501 (ค.ศ.1958) นั้น ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธเสียได้ถ้าผู้ซึ่งจะถูกบังคับสามารถพิสูจน์ได้ว่า

(1) คู่สัญญาอนุญาโตตุลาการฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บกพร่องในเรื่องความสามารถตามกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คู่สัญญาฝ่ายนั้น

(2) สัญญาอนุญาโตตุลาการไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายแห่งประเทศที่คู่กรณีได้ตกลงกันไว้ หรือตามกฎหมายแห่งประเทศที่ทำคำชี้ขาดนั้นในกรณีที่ไม่มีข้อตกลงดังกล่าว

(3) ไม่มีการแจ้งให้ผู้ซึ่งจะถูกบังคับทราบล่วงหน้าโดยชอบถึงการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการหรือการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการหรือผู้ซึ่งจะถูกบังคับนั้นไม่สามารถเข้าต่อสู้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการได้เพราะเหตุประการอื่น

(4) คำชี้ขาดวินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ แต่ถ้าคำชี้ขาดที่วินิจฉัยเกินขอบเขตนั้นสามารถแยกออกได้จากคำชี้ขาดที่วินิจฉัยในขอบเขตแล้วศาลอาจบังคับตามคำชี้ขาดส่วนที่วินิจฉัยในขอบเขตแห่งข้อตกลงนั้นให้ก็ได้

(5) องค์ประกอบของคณะอนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาด หรือวิธีพิจารณาของอนุญาโตตุลาการมิได้เป็นไปตามที่คู่กรณีได้ตกลงกันไว้หรือมิได้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่ทำคำชี้ขาดในกรณีที่มิได้ตกลงกันไว้หรือ

(6) คำชี้ขาดยังไม่มีผลผูกพันเป็นยุติ หรือได้ถูกเพิกถอน หรือระงับใช้เสียแล้วโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ หรือภายใต้กฎหมายของประเทศที่ทำคำชี้ขาด แต่ถ้าเพียงแต่มีการยื่นเรื่องราวขอให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจทำการเพิกถอน หรือระงับใช้ซึ่งคำชี้ขาดนั้นศาลอาจเลื่อนการพิจารณาคดีขอบังคับตามคำชี้ขาดไปได้ตามที่เห็นสมควร และหากคู่ความฝ่ายที่ขอบังคับตามคำชี้ขาดร้องขอ ศาลอาจสั่งให้คู่ความฝ่ายที่จะถูกบังคับหาประกันที่เหมาะสมก่อนก็ได้” และมาตรา 35 บัญญัติว่า “ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดตามมาตรา 34 ได้ ถ้าปรากฏต่อศาลว่าคำชี้ขาดนั้นเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถจะระงับโดยทางอนุญาโตตุลาการได้ตามกฎหมายไทยหรือถ้าการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติระหว่างประเทศ” ดังนั้นศาลจะทำคำสั่งปฏิเสธไม่บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามฟ้องได้ต่อเมื่อปรากฏว่ามีเหตุที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 34 หรือมาตรา 35 ดังกล่าว เหตุใดเหตุหนึ่ง แต่ปรากฏว่าจำเลยซึ่งจะถูกบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวมิได้นำสืบพิสูจน์ให้เห็นเลยว่า มีเหตุที่ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 อย่างใด ทั้งไม่ปรากฏด้วยว่าคำชี้ขาดนั้นเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถจะระงับโดยทางอนุญาโตตุลาการได้ตามกฎหมายไทยหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติระหว่างประเทศ ศาลจึงไม่มีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดนั้นโดยเหตุใดเหตุหนึ่งดังกล่าวส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า การบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามคำฟ้องเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนโดยวินิจฉัยว่าคำชี้ขาดระบุว่า อนุญาโตตุลาการจะต้องปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะที่จะให้คู่สัญญาอยู่ในสถานะทางการเงินที่เหมือนราวกับว่าได้มีการปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งหมายความว่าผลประโยชน์ของผู้ซื้อหรือผู้ขายย่อมคำนวณเอาได้ในวันที่ชำระราคาหรือวันส่งสินค้าตามสัญญาที่ระบุไว้เป็นเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน พฤษภาคม 2535 ดังนั้น คำชี้ขาดที่คำนวณส่วนต่างของราคาในวันที่ 28 ตุลาคม 2535 จึงไม่ถูกต้องเพราะไม่ใช่วันที่คู่กรณีต้องปฏิบัติตามสัญญา เป็นคำชี้ขาดที่ตีความหรือแปลความหมายแตกต่างไปจากธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาช้านานของอนุญาโตตุลาการแห่งสมาคมฝ้ายลิเวอร์พูล จำกัดนั้นเอง ทั้งตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 ไม่ได้ให้อำนาจศาลที่จะเพิกถอนหรือแก้ไขคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศดังกล่าวได้ศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาบังคับให้หรือปฏิเสธการบังคับเท่านั้น จึงถือได้ว่าการที่จะบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ไม่ถูกต้องนั้นเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 35 และปฏิเสธที่จะบังคับให้ตามฟ้องโจทก์นั้น ได้พิเคราะห์คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายแห่งลิเวอร์พูล จำกัด เอกสารหมาย จ.58 และคำแปลเอกสารหมาย จ.59 แล้ว ปรากฏว่าอนุญาโตตุลาการพิจารณาเห็นว่า จำเลยตกลงซื้อฝ้าย200 ตัน จากโจทก์ในราคาปอนด์ละ 76.50 เซนต์สหรัฐ ตามสัญญาซื้อขายลงวันที่ 22กรกฎาคม 2534 ซึ่งจะมีการส่งฝ้ายในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน และพฤษภาคม2535 งวดละเท่า ๆ กัน โดยจำเลยจะต้องเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตชำระเงินค่าซื้อฝ้ายก่อนการส่งฝ้ายเพื่อให้มีการปฏิบัติตามสัญญาตามข้อตกลงและเงื่อนไขในสัญญา แต่จำเลยผิดสัญญาไม่เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต ซึ่งเมื่อผู้ซื้อไม่ปฏิบัติตามสัญญา ผู้ขายมีสิทธิที่จะปิดสัญญาโดยการเรียกเก็บเงินกลับตามข้อบังคับและกฎของสมาคมฝ้ายแห่งลิเวอร์พูล จำกัด ที่เกี่ยวข้อง โดยกฎข้อ 140 ระบุว่า ถ้าไม่มีการปฏิบัติหรือจะไม่มีการปฏิบัติตามสัญญาใด สัญญาจะปิดโดยการเรียกเก็บเงินกลับโดยผู้ขายตามกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับในวันทำสัญญา และกฎข้อ 141 ระบุว่าในกรณีที่สัญญาหรือส่วนของสัญญาได้ปิดลงโดยการเรียกเก็บเงินกลับโดยผู้ขายราคาสินค้าของการเรียกเก็บเงินกลับดังกล่าวจะกำหนดโดยอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาด เว้นแต่จะได้ตกลงโดยผู้ซื้อและผู้ขายโดยอยู่ภายใต้บังคับของการอุทธรณ์ราคาสินค้าของการเรียกเก็บเงินกลับจะตัดสินโดยอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดหรือในกรณีอุทธรณ์ คณะกรรมการอุทธรณ์ทางเทคนิคจะพิจารณาโดยอ้างถึงราคาตลาดของฝ้ายตามกฎเกณฑ์และ/หรือข้อเท็จจริงอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาค่าเสียหายให้คู่สัญญาอย่างเพียงพอ โดยอนุญาโตตุลาการได้ระบุในข้อ 13 ของคำชี้ขาดว่า เป็นธรรมเนียมมาช้านานของอนุญาโตตุลาการแห่งสมาคมฝ้ายแห่งลิเวอร์พูลที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้หลักเกณฑ์ของกฎข้อ 141 ในลักษณะที่จะให้คู่สัญญาอยู่ในสถานะทางการเงินที่เหมือนกันอย่างมากที่สุดราวกับว่าได้มีการปฏิบัติตามสัญญา โดยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของข้อกำหนดของสัญญาดังกล่าวซึ่งอาจจะทำโดยการแก้ไขเป็นหนังสือหรือโดยการปฏิบัติของคู่สัญญาหรือตัวแทนซึ่งได้รับแต่งตั้ง หลักเกณฑ์เหล่านี้ได้รับการปฏิบัติทั่วไปในการค้าฝ้าย และระบุในข้อ 14 ว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้รับการปฏิบัติทั่วไปในทางบัญชี เพื่อปฏิบัติตามสัญญาหรือบางส่วนดังกล่าวโดยอ้างถึงราคาตลาดเสรีของฝ้ายที่ได้ตกลงทำสัญญากัน ณ วันที่คู่สัญญาได้รู้หรือควรจะรู้ว่าตนไม่อาจคาดหวังค่าตอบแทนจากอีกฝ่ายหนึ่งได้ ซึ่งในกรณีนี้อนุญาโตตุลาการถือว่าเป็นวันที่ 28 ตุลาคม 2535 และชี้ขาดให้จำเลยผู้ซื้อต้องชำระส่วนต่างของราคาตามสัญญาของฝ้ายจำนวน 200 ตัน ดังกล่าวกับราคาตลาดของฝ้ายดังกล่าวในวันที่ 28 ตุลาคม 2535 ให้แก่โจทก์ผู้ขาย ทั้งนี้ปรากฏจากคำชี้ขาดด้วยว่าโจทก์ผู้ขายได้ส่งหนังสือบอกกล่าวอย่างเป็นทางการให้แก่ผู้ซื้อโดยจดหมายลงทะเบียนลงวันที่ 28 ตุลาคม 2535 ระบุความประสงค์ที่จะดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการในการที่จำเลยผู้ซื้อได้ละเลยที่จะปฏิบัติตามสัญญาเพื่อที่จะปิดสัญญาดังกล่าวซึ่งไม่ได้รับการปฏิบัติตามข้อบังคับและกฎของสมาคมฝ้ายแห่งลิเวอร์พูล และโดยหนังสือฉบับเดียวกันนั้น ผู้ขายได้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดและได้ร้องขอให้ผู้ซื้อดำเนินการเช่นเดียวกันนั้นแล้ว ซึ่งอนุญาโตตุลาการได้ตรวจสอบพยานหลักฐานทั้งหมดและตัดสินว่าวันผิดสัญญาของสัญญาดังกล่าวคือวันที่ 28 ตุลาคม 2535 ด้วย เห็นว่า ที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้จำเลยผู้ซื้อชำระเงินเป็นส่วนต่างระหว่างราคาตามสัญญาของฝ้ายจำนวน 200 ตัน กับราคาตลาดของฝ้ายดังกล่าวในวันที่ 28 ตุลาคม 2535 โดยถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่คู่สัญญาได้รู้หรือควรจะรู้ว่าตนไม่อาจคาดหวังค่าตอบแทนจากอีกฝ่ายได้นั้น มิได้ขัดต่อหลักเกณฑ์ตามข้อ 141 ของสมาคมฝ้ายแห่งลิเวอร์พูล จำกัดหรือธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาช้านานของอนุญาโตตุลาการแห่งสมาคมฝ้ายแห่งลิเวอร์พูลจำกัด ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้หลักเกณฑ์ของกฎข้อ 141 ดังกล่าวในลักษณะที่จะให้คู่สัญญาอยู่ในสถานะทางการเงินที่เหมือนกันอย่างมากที่สุดราวกับว่าได้มีการปฏิบัติตามสัญญาแต่อย่างใด เพราะแม้สัญญาซื้อขายฝ้ายระหว่างโจทก์และจำเลยได้กำหนดให้ส่งฝ้ายในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายนและพฤษภาคม 2535 โดยจำเลยผู้ซื้อต้องเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเต็มราคาฝ้ายทั้งหมดให้แก่โจทก์ก่อนส่งฝ้ายงวดแรก แล้วจำเลยผิดสัญญาไม่เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตตามข้อตกลงดังกล่าวก็ตาม แต่จำเลยก็อาจปฏิบัติตามสัญญาในภายหลังได้ การคำนวณส่วนต่างของราคาฝ้ายดังกล่าวจึงไม่จำเป็นต้องคำนวณในวันที่ได้กำหนดให้มีการชำระราคาหรือส่งมอบฝ้ายตามสัญญาเสมอไปไม่ การบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวตามฟ้องหาเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใดไม่ คำชี้ขาดนั้นจึงมีผลผูกพันบังคับจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและปฏิเสธที่จะบังคับให้ตามฟ้องโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

ส่วนที่จำเลยแก้ฎีกาว่า จำเลยไม่เคยทำสัญญาซื้อขายฝ้ายตามฟ้องกับโจทก์จำเลยไม่เคยให้นายวิชัยเป็นตัวแทนหรือเชิดนายวิชัยเป็นตัวแทนเชิดของจำเลยถือไม่ได้ว่าจำเลยตกลงให้เสนอข้อพิพาทที่จะเกิดขึ้นให้อนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายแห่งลิเวอร์พูล จำกัด เป็นผู้ชี้ขาด สัญญาและคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามฟ้องไม่มีผลผูกพันจำเลยนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศที่อยู่ในบังคับแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครนิวยอร์ค ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2501 (ค.ศ.1958) ซึ่งศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดเสียได้ต่อเมื่อจำเลยซึ่งจะถูกบังคับสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีกรณีตามที่ระบุไว้ในอนุมาตรา (1) ถึง (6)ของมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 กรณีใดกรณีหนึ่งหรือมีกรณีตามที่ระบุไว้ในมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเท่านั้น แต่ข้อที่จำเลยแก้ฎีกานี้มิใช่กรณีตามที่ระบุไว้เช่นนั้น ทั้งปรากฏจากคำชี้ขาดเอกสารหมาย จ.58 และคำแปลเอกสารหมาย จ.59 ด้วยว่า อนุญาโตตุลาการต่างประเทศได้พิจารณาเห็นว่าจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายฝ้ายรายพิพาทกับโจทก์แล้วจึงไม่มีกรณีที่ศาลจะต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อที่จำเลยแก้ฎีกาดังกล่าวอีกแต่อย่างใด”

พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,922,204.60 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 8 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 2,813,069.60 บาท จากวันที่ 28 ตุลาคม2535 ถึงวันที่ 19 เมษายน 2536 ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 2,813,069.60 บาท นับตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2536 จนถึงวันฟ้อง(วันที่ 26 เมษายน 2537) และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน2,922,204.60 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ (แต่ดอกเบี้ยถึงวันที่ 19 เมษายน 2536 ให้คิดได้ไม่เกิน 106,665.43 บาท และดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องให้คิดได้ไม่เกิน 215,026.42 บาท)

Share