คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 551/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้แก้ไขคำคัดค้าน ศาลแพ่งมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้คัดค้านยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2546 ศาลแพ่งสั่งรับอุทธรณ์เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2547 ต่อมาวันที่ 24 มกราคม 2548 ศาลแพ่งตรวจพบว่าผู้คัดค้านมิได้ใช้แบบพิมพ์อุทธรณ์ซึ่งไม่ถูกต้อง ให้เพิกถอนคำสั่งเดิมและมีคำสั่งใหม่ให้คืนคำร้องให้ผู้คัดค้านทำอุทธรณ์มาใหม่ภายใน 7 วัน ผู้คัดค้านนำอุทธรณ์มายื่นในวันที่ 27 มกราคม 2548 ถือได้ว่าผู้คัดค้านได้ยื่นอุทธรณ์ก่อนวันที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2547 ใช้บังคับ แต่ศาลแพ่งยังมิได้สั่งรับอุทธรณ์ จึงต้องบังคับตามมาตรา 6 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่ให้ถือว่าอุทธรณ์ของผู้คัดค้านเป็นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนเกิน 1 ปี นับแต่โจทก์ทราบถึงมูลเหตุเพิกถอนการโอนเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2539 ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำคัดค้านโดยขอตัดข้อความเดิมในเรื่องอายุความทั้งหมดและแก้ไขใหม่เป็นว่า การยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนของผู้ร้องตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 114 ต้องร้องขอภายใน 1 ปี นับแต่รู้ถึงมูลเหตุแห่งการเพิกถอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 และ 240 โจทก์รู้ถึงมูลเหตุแห่งการเพิกถอนการโอนเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2537 จึงขาดอายุความ ประเด็นที่ผู้คัดค้านต่อสู้ตามคำคัดค้านที่ขอแก้ไขใหม่เป็นประเด็นเดียวกับที่ผู้คัดค้านต่อสู้ไว้เดิมนั่นเอง โดยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่อ้างว่าโจทก์ทราบถึงมูลเหตุแห่งการเพิกถอนการโอนเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2539 เท่านั้น และได้ยื่นคำร้องต่อศาลภายในระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 กรณีมีเหตุสมควรอนุญาตให้แก้ไขคำคัดค้าน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2539 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2542 ต่อมาวันที่ 2 กันยายน 2546 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 41609 และ 41443 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่าง นางสาวเบญจมาศหรือเบญจมาส อัศวกุล เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 ผู้โอน กับ ผู้คัดค้าน ผู้รับโอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 114 (เดิม) ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2546 ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำคัดค้านมีใจความว่า การยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 114 (เดิม) ต้องร้องขอให้เพิกถอนการโอนภายใน 1 ปี นับแต่รู้ถึงมูลเหตุแห่งการเพิกถอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 และ 240 โจทก์รู้ถึงมูลเหตุแห่งการเพิกถอนการโอนเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2537 แต่เพิ่งมายื่นคำร้องต่อผู้ร้องเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2539 จึงขาดอายุความแล้ว
ศาลแพ่งมีคำสั่งว่า คดีนี้ผู้ร้องเป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการโอน การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอแก้ไขคำคัดค้านอ้างว่าโจทก์มิได้ร้องขอให้เพิกถอนการโอนภายใน 1 ปี จึงขาดอายุความนั้น มิได้เกี่ยวข้องกับคดีของผู้ร้องและไม่ก่อให้เกิดประเด็น จึงไม่อนุญาตและให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอแก้ไขคำคัดค้าน ศาลแพ่งมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้คัดค้านยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2546 ศาลแพ่งสั่งรับอุทธรณ์เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2547 ต่อมาวันที่ 24 มกราคม 2548 ศาลแพ่งตรวจพบว่าผู้คัดค้านมิได้ใช้แบบพิมพ์อุทธรณ์ซึ่งไม่ถูกต้อง ให้เพิกถอนคำสั่งเดิมและมีคำสั่งใหม่ให้คืนคำร้อง ให้ผู้คัดค้านทำอุทธรณ์มาใหม่ภายใน 7 วัน ผู้คัดค้านนำอุทธรณ์มายื่นในวันที่ 27 มกราคม 2548 กรณีนี้ถือได้ว่าผู้คัดค้านได้ยื่นอุทธรณ์ก่อนวันที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2547 ใช้บังคับ แต่ศาลแพ่งยังมิได้สั่งรับอุทธรณ์ ซึ่งตามมาตรา 6 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ถือว่าอุทธรณ์ของผู้คัดค้านเป็นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา และมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านว่า มีเหตุอันสมควรอนุญาตให้ผู้คัดค้านแก้ไขเพิ่มเติมคำคัดค้านตามคำร้องของผู้คัดค้าน ฉบับลงวันที่ 3 ธันวาคม 2546 หรือไม่ เห็นว่า ที่ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนเกิน 1 ปี นับแต่โจทก์ทราบถึงมูลเหตุเพิกถอนการโอนเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2539 ถือเป็นคำให้การปฏิเสธว่าคำร้องของผู้ร้องขาดอายุความ ซึ่งการแก้ไขคำให้การนั้นกฎหมายมิได้บัญญัติว่าข้อความที่แก้ไขใหม่จะต้องเกี่ยวข้องกับคำให้การเดิมหรือข้ออ้างเดิม ฉะนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมคำคัดค้านของผู้คัดค้านจะยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่กล่าวแก้ข้อหาของผู้ร้องซึ่งจะเกี่ยวข้องกับคำคัดค้านเดิมหรือไม่ จึงไม่สำคัญ ทั้งการที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 3 ธันวาคม 2546 ขอแก้ไขเพิ่มเติมคำคัดค้านโดยขอตัดข้อความเดิมในเรื่องอายุความดังกล่าวทั้งหมดและแก้ไขใหม่เป็นว่า การยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนของผู้ร้องตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 114 ต้องร้องขอให้เพิกถอนการโอนภายใน 1 ปี นับแต่รู้ถึงมูลเหตุแห่งการเพิกถอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 และ 240 โจทก์รู้ถึงมูลเหตุแห่งการเพิกถอนการโอนเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2537 จึงขาดอายุความนั้น ประเด็นที่ผู้คัดค้านต่อสู้ตามคำคัดค้านที่ขอแก้ไขใหม่เป็นประเด็นเรื่องอายุความในการร้องขอให้เพิกถอนของผู้ร้องเช่นเดียวกับที่ผู้คัดค้านต่อสู้ไว้เดิมนั่นเอง เพียงแต่อ้างเหตุที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายหนึ่งทราบถึงเหตุแห่งการเพิกถอนการโอนตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2537 โดยเปลี่ยนแปลงไปจากข้อเท็จจริงเดิมที่อ้างว่าโจทก์ทราบถึงมูลเหตุแห่งการเพิกถอนการโอนเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2539 เท่านั้น และการยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำคัดค้านของผู้คัดค้านดังกล่าวได้ยื่นต่อศาลภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 แม้ศาลแพ่งจะยังมิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 181 (1) โดยมีคำสั่งยกคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำคัดค้านของผู้คัดค้านเสียก่อน แต่ศาลแพ่งก็ยังมิได้ไต่สวนคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนของผู้ร้อง ผู้ร้องสามารถนำสืบว่าคดีผู้ร้องไม่ขาดอายุความเพราะเหตุใดได้อยู่แล้ว จึงไม่ทำให้ผู้ร้องเสียเปรียบแต่อย่างใด กรณีมีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้คัดค้านแก้ไขคำคัดค้านตามคำร้องฉบับลงวันที่ 3 ธันวาคม 2546 ที่ศาลแพ่งมีคำสั่งไม่อนุญาตและยกคำร้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังขึ้น”
พิพากษากลับ อนุญาตให้ผู้คัดค้านแก้ไขคำคัดค้านตามคำร้องฉบับลงวันที่ 3 ธันวาคม 2546 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.

Share