แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้กระทำละเมิด จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง และให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนความรับผิดชดใช้ค่าเสียหายของจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 จึงแตกต่างกัน สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 3 มีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง เมื่ออายุความฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 สามารถแยกออกจากกันได้ตามมาตรา 295 ที่กำหนดให้อายุความเป็นคุณหรือเป็นโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น จำเลยที่ 3 จึงไม่อาจยกอายุความตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง ขึ้นต่อสู้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลมีนายสุนทร ตันถาวร เป็นผู้ว่าการผู้มีอำนาจทำการแทน จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์บรรทุก 10 ล้อ จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าว เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2539 จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว ด้วยความประมาทเลินเล่อ ชนเสาไฟฟ้าแรงสูงพร้อมอุปกรณ์ไฟฟ้าของโจทก์ได้รับความเสียหาย 80,645 บาท จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ทำละเมิด จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 80,645 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี นับแต่วันเกิดเหตุละเมิด
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 80,645 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล มีนายสุนทร ตันถาวร เป็นผู้ว่าการ มีอำนาจกระทำการแทนและได้มอบอำนาจให้นายบุญส่ง ต๊ะสาร ดำเนินคดีนี้แทน เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2539 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อ ทะเบียน 82-9099 นครปฐม ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ด้วยความประมาทโดยใช้ความเร็วสูงเป็นเหตุให้รถเสียหลักชนเสาไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าของโจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัดและเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ในขณะเกิดเหตุ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ประการแรกว่า คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้กระทำละเมิด จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างกระทำละเมิดในทางการที่จ้างและให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน กรณีการรับผิดชดใช้ค่าเสียหายของจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 จึงแตกต่างกัน จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องรับผิดในฐานะผู้กระทำละเมิดและในฐานะนายจ้างของผู้กระทำละเมิด ซึ่งมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดตามสัญญาประกันวินาศภัยมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง ซึ่งอายุความฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 สามารถแยกออกจากกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 295 ที่กำหนดอายุความเป็นคุณหรือเป็นโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น ฉะนั้นการฟ้องร้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างของผู้ทำละเมิดจึงขาดอายุความ 1 ปี ย่อมเป็นคุณเฉพาะแต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เกี่ยวข้องกับการฟ้องร้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดตามสัญญาประกันวินาศภัยซึ่งมีอายุความ 2 ปี จำเลยที่ 3 จึงไม่อาจยกอายุความตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง ขึ้นต่อสู้ได้ เมื่อความรับผิดตามสัญญาประกันวินาศภัยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2539 โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2541 จึงยังขาดอายุความ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์จะรู้เรื่องละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อใด”
พิพากษายืน