คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 38/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 26 บัญญัติให้ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่ศาลแรงงานได้กำหนด ศาลแรงงานมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แสดงให้เห็นว่าในการขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่งนั้น มาตรา 26ได้วางหลักเกณฑ์ว่าจะกระทำได้เมื่อมีความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม หาได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าจะต้องมีพฤติการณ์พิเศษเช่นที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ไม่ ฉะนั้น การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า พฤติการณ์ตามคำร้องของจำเลยมิใช่พฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้นั้นเท่ากับศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยแล้วว่าคดียังไม่มีความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยนั่นเอง เมื่อศาลแรงงานกลางอ่านคำพิพากษาในวันที่ 1 กันยายน 2540 ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอถ่ายคำพิพากษาวันที่ 2 กันยายน 2540 และแจ้งให้จำเลยทราบพร้อมทั้งแจ้งฐานะคดีเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2540 เพื่อขอคำยืนยันจากจำเลยว่าจะอุทธรณ์หรือไม่ ดังนี้ แม้ทนายจำเลยจะยังไม่ได้รับคำยืนยันในหนังสือจากจำเลย หากทนายจำเลยจะยังไม่ได้รับ คำยืนยันเป็นหนังสือจากจำเลย หากทนายจำเลยเห็นว่าคดีมี เหตุควรอุทธรณ์ก็น่าจะอุทธรณ์ไปก่อนได้ เพราะทนายจำเลยมี อำนาจกระทำได้อยู่แล้วตามใบแต่งทนายทั้งไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมแต่อย่างใด การที่ทนายจำเลยไม่ได้รับแจ้งจากจำเลยว่าจะอุทธรณ์หรือไม่ดังกล่าวเป็นความบกพร่องของฝ่ายจำเลยเอง ถือไม่ได้ว่าคดีมีความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่ศาลแรงงานกลางจะพึงขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ต่อมาปี 2539 โจทก์ลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยโดยไม่ได้กระทำความผิดใด ๆระหว่างทำงาน จำเลยมีข้อบังคับว่าด้วยกองทุนบำเหน็จของผู้ปฎิบัติงานของจำเลยว่า ผู้ปฎิบัติงานจะได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับข้อ 9.5 คือ ลาออกโดยไม่มีความผิดและได้รับอนุญาต จากผู้บังคับบัญชาแล้ว โดยจะต้องมีเวลาทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปีบริบูรณ์ และตามข้อบังคับดังกล่าวข้อ 10 และ ข้อ 11 กำหนดว่าเงินบำเหน็จซึ่งจ่ายให้แก่ผู้ปฎิบัติงานที่ได้ออกจากงานตามข้อ 9 มีจำนวนเท่ากับค่าจ้างเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีระยะเวลาทำงานเวลาทำงานสำหรับคำนวณเงินบำเหน็จให้นับแต่จำนวนปี โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันมาเป็นเวลา 22 ปี 6 เดือน 14 วัน จึงมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจำนวน 467,360 บาท แต่จำเลยไม่ยอมจ่ายให้ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันผิดนัดไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อโจทก์ขอลาออกจากงาน คณะกรรมการบริหารกิจการของจำเลยได้ประชุมแล้วมีมติว่าโจทก์ประมาทเป็นเหตุให้กองทุนเงินกู้สวัสดิการและเงินกู้กองทุนบำเหน็จของอุตสาหกรรมห้องเย็นได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวนดังกล่าวจึงอนุมัติให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ได้แต่ให้มีหลักทรัพย์ที่ปลอดจำนองมาค้ำประกัน โจทก์มิได้นำหลักทรัพย์ที่ปลอดจำนองมาค้ำประกันจำเลยจึงไม่ยอมจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นว่าด้วยกองทุนบำเหน็จของผู้ปฎิบัติงานองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นพ.ศ. 2519 ข้อ 13 ซึ่งเป็นการกระทำโดยชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จจำนวน467,360 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 5 มิถุนายน 2540) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าพฤติการณ์ตามคำร้องมิใช่พฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน วินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าคดีมีเหตุขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ในกรณีนี้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 26 ได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 23 ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไปมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ได้ มาตรา 26 แห่งบทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติว่า ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่ศาลแรงงานได้กำหนด ศาลแรงงานมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แสดงให้เห็นว่า ในการขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่งมาตรา 26 ได้วางหลักเกณฑ์ว่าจะกระทำได้เมื่อมีความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม หาได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าจะต้องมีพฤติการณ์พิเศษเช่นที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ไม่ การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งในคดีนี้ว่าพฤติการณ์ตามคำร้องของจำเลยมิใช่พฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้นั้นเท่ากับศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยแล้วว่าคดียังไม่มีความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยนั่นเอง เมื่อปรากฎว่าศาลแรงงานกลางอ่านคำพิพากษาในวันที่ 1 กันยายน 2540 ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอถ่ายคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2540 และแจ้งให้จำเลยทราบพร้อมทั้งแจ้งฐานะคดีเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2540 (ที่ถูกน่าจะเป็นวันที่ 9 กันยายน 2540) เพื่อขอยืนยันจากจำเลยว่าจะอุทธรณ์หรือไม่ ดังนี้ แม้ทนายจำเลยจะยังไม่ได้รับคำยืนยันเป็นหนังสือจากจำเลย หากทนายจำเลยเห็นว่าคดีมีเหตุควรอุทธรณ์ก็น่าจะอุทธรณ์ไปก่อนได้เพราะทนายจำเลยมีอำนาจกระทำได้อยู่แล้วตามใบแต่งทนายทั้งไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมแต่อย่างใด การที่ทนายจำเลยไม่ได้รับแจ้งจากจำเลยว่าจะอุทธรณ์หรือไม่ดังกล่าวเป็นความบกพร่องของฝ่ายจำเลยเอง ถือไม่ได้ว่าคดีมีความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่ศาลแรงงานกลางจะพึงขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้จำเลย คำสั่งศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share