คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5509/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยผิดเงื่อนไขคุมประพฤติ จึงลงโทษจำคุกตามโทษที่รอการลงโทษไว้ เมื่อจำเลยอุทธรณ์คำสั่ง และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ. วิธีดำเนินการคุมความประพฤติตาม ป.อ. ฯ มาตรา 17 วรรคสอง โจทก์จะฎีกาไม่ได้ ที่อัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาและศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์มานั้น เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 76 วรรคหนึ่ง จำคุก 4 เดือนและปรับ 4,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน และปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี คุมความประพฤติของจำเลยโดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้งใน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
ต่อมาพนักงานคุมประพฤติรายงานว่า เมื่อจำเลยไปรายงานตัวและพนักงานคุมประพฤติเก็บปัสสาวะของจำเลยไปตรวจ พบสารกัญชาในปัสสาวะของจำเลยพนักงานคุมประพฤติจึงมีหนังสือเตือนให้จำเลยเลิกเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ เมื่อจำเลยไปพบพนักงานคุมประพฤติ จำเลยให้ถ้อยคำว่ายังคงเสพกัญชาอยู่อีก ขอให้ศาลชั้นต้นเพิ่มเงื่อนไขคุมความประพฤติของจำเลย
ศาลชั้นต้นเรียกจำเลยมาสอบถาม จำเลยรับว่าขณะรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติครั้งแรกจำเลยยังคงเสพกัญชาเป็นบางครั้ง แต่ปัจจุบันเลิกเสพกัญชาแล้ว ต่อมาพนักงานคุมประพฤติรายงานว่า จำเลยให้ถ้อยคำว่ายังเสพกัญชา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยกระทำความผิดซ้ำหลายครั้ง เมื่อจำเลยอยู่ต่อหน้าศาลยังไม่สำนึกผิด กลับแถลงว่าปัจจุบันเลิกเสพแล้ว แต่เมื่อจะตรวจปัสสาวะจึงยอมรับว่าเสพกัญชาก่อนหน้านี้ 2 วัน แสดงถึงความประพฤติที่ไม่เหมาะสม เชื่อว่าการคุมประพฤติไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป และถือว่าจำเลยผิดเงื่อนไขคุมประพฤติแล้ว จึงให้ลงโทษจำคุกจำเลย 2 เดือน ตามโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ และบวกโทษจำคุก 1 เดือน ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1497/2545 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษในคดีนี้ เป็นจำคุก 3 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้ในระหว่างรอการลงโทษ โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 2 เดือนต่อครั้ง ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิด ให้จำเลยละเว้นการคบหาสมาคมกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิดหรือการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก ให้จำเลยไปตรวจร่างกายเพื่อหาสารเสพติดทุกครั้งที่รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 48 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ยกคำขอเรื่องบวกโทษ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 2 เดือน และปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี คุมความประพฤติของจำเลยโดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้งใน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ต่อมาพนักงานคุมประพฤติรายงานว่าจำเลยยังคงเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยผิดเงื่อนไขคุมประพฤติจึงลงโทษจำคุกจำเลย 2 เดือน ตามโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ และบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1497/2545 ของศาลชั้นต้น ด้วยเมื่อจำเลยอุทธรณ์คำสั่งและศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษาแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2522 มาตรา 17 วรรคสอง โจทก์จะฎีกาไม่ได้ ที่อัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาและศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์มานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาของโจทก์

Share