คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5508/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกำหนดวันให้โจทก์เริ่มการหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายโดยไม่พิจารณาความพร้อมของโรงงานน้ำตาลทราย ชาวไร่อ้อย และความหวานของอ้อย แต่มิได้บรรยายฟ้องกล่าวอ้างถึงวันประกาศราชกิจจานุเบกษาของประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าเกิดขึ้นหลังวันที่กำหนดให้โจทก์เริ่มการหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทราย และหลังจากวันที่โจทก์เริ่มการหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายแล้วหรือไม่ ประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายฯ มีผลใช้บังคับเมื่อใด จะมีผลย้อนหลังบังคับโจทก์ได้หรือไม่ โจทก์มิได้บรรยายไว้ในคำฟ้องทั้งสิ้น ฎีกาโจทก์จึงเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแต่ศาลชั้นต้นแม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็ไม่ถือว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง
พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายฯ มาตรา 9 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย มิได้มีข้อกำหนดให้ระบุชื่อเฉพาะของข้าราชการและไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นใดบังคับว่าการแต่งตั้งข้าราชการให้เป็นกรรมการจะต้องระบุชื่อโดยเฉพาะ ทั้งตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน การแต่งตั้งข้าราชการให้ปฏิบัติหน้าที่พิเศษอื่นใดย่อมแต่งตั้งโดยระบุตำแหน่งได้โดยถือว่าผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นเป็นตัวแทนของส่วนราชการหน่วยนั้น ๆและเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะตำแหน่งไม่ติดตัวและสิ้นสภาพไปเมื่อผู้ดำรงตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งนั้น ตาย โอนย้ายหรือลาออกจากราชการไป ฉะนั้น หากผู้ดำรงตำแหน่งไม่อยู่ผู้อยู่ในลำดับรองลงไปก็สามารถรับมอบหมายให้รักษาราชการแทนหรือปฏิบัติราชการแทนในตำแหน่งนั้น ๆ ได้ ทั้งการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งโดยตำแหน่งหน้าที่ราชการดังกล่าว ไม่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องประชุมด้วยตนเองและไม่มีกฎหมายห้ามมิให้แต่งตั้งผู้อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนกรรมการดังกล่าวย่อมมอบหมายให้ข้าราชการในกรมที่ตนสังกัดอยู่ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยเข้าประชุมแทนได้
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ไม่ยื่นคำขอต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดระยะเวลาที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตามมาตรา 198วรรคสอง คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา โจทก์มิได้โต้แย้งคำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ได้ คำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของโจทก์มิใช่คำโต้แย้งคัดค้านคำสั่งระหว่างพิจารณาเพื่อใช้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ลงวันที่ 24 กันยายน2527 เรื่อง แต่งตั้งผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นกรรมการในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายเฉพาะรายนายประภาสจักกะพาก เพิกถอนประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรม ลงวันที่ 24 กันยายน 2527 เรื่องแต่งตั้งผู้แทนชาวไร่อ้อยเป็นกรรมการในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (แต่งตั้ง 9 คน) ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2527 เรื่องแต่งตั้งผู้แทนชาวไร่อ้อยเป็นกรรมการในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1) ที่แต่งตั้งนายราชัย ชูศิลป์กุล เป็นกรรมการแทนนายยงยุทธ ตันพิริยะกุลผู้ลาออก ลงวันที่ 21 มกราคม 2528 เรื่องแต่งตั้งผู้แทนชาวไร่อ้อยเป็นกรรมการในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2528) ที่แต่งตั้งนายสมภาพ ศรีวรขาน แทนนายประสาน โอภาสปกรณ์กิจ เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยเบี้ยปรับสำหรับโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศระเบียบหรือพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528 เพิกถอนประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับที่ 18 พ.ศ. 2533 เรื่อง กำหนดวันเริ่มต้นการหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายของโรงงานน้ำตาลต่าง ๆ ในฤดูการผลิตปี2533/2534 เฉพาะรายของโจทก์ และแก้ไขวันเปิดหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายของโจทก์ตามที่โจทก์ได้เปิดดำเนินการไปแล้ว เพิกถอนบันทึกการประชุมคณะกรรมการบริหารครั้งที่ 4/2534 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2534 เฉพาะวาระที่มีมติให้ลงโทษปรับโจทก์ เพิกถอนหนังสือของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายที่ กบ 2365/2534 ลงวันที่ 27มีนาคม 2534 เรื่อง ให้นำเงินไปชำระเบี้ยปรับเพิกถอนบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ครั้งที่ 9/2534 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2534 เฉพาะวาระที่มีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ และเพิกถอนหนังสือของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ อก 0206/2138 ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2534 เรื่อง อุทธรณ์คำสั่งหรือมติคณะกรรมการบริหาร

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ

จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่าประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับที่ 18 พ.ศ. 2533 เรื่อง กำหนดวันเริ่มต้นการหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายของโรงงานน้ำตาลต่าง ๆ ในฤดูการผลิตปี 2533/2534 มีผลใช้บังคับให้โจทก์ต้องปฏิบัติตามหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับที่ 18 พ.ศ. 2533 ประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2533มีผลใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โจทก์เริ่มต้นการหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2533 ก่อนประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับที่ 18 พ.ศ. 2533 จะมีผลใช้บังคับ จึงไม่มีผลย้อนหลังบังคับให้โจทก์ต้องปฏิบัติตามนั้น โจทก์ฟ้องและนำสืบเพียงว่าคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายมีหน้าที่กำหนดวันเริ่มต้นการหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทราย อัตราการหีบอ้อยปกติต่อวันของแต่ละโรงงานและวันสิ้นสุดการหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 17(11) ซึ่งคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายประกาศเรื่อง กำหนดวันเริ่มต้นการหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายของโรงงานน้ำตาลต่าง ๆ ในฤดูการผลิตปี 2533/2534 กำหนดให้โจทก์เริ่มการหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2533 โดยไม่พิจารณาความพร้อมของโรงงานน้ำตาลทราย ความพร้อมของชาวไร่อ้อยที่จะต้องส่งอ้อยให้แก่โรงงาน และความหวานของอ้อย เป็นผลให้โรงงานของโจทก์ต้องเริ่มการหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายภายหลังโรงงานของผู้อื่น โจทก์พิจารณาหลักเกณฑ์ดังกล่าวและแจ้งให้จำเลยที่ 4 และคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายทราบว่า โจทก์จะเริ่มต้นการหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายก่อนกำหนดแต่จำเลยที่ 4 และคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายไม่ยินยอม โจทก์ถือว่าโจทก์มีสิทธิเริ่มการหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายก่อนกำหนดโดยมีเหตุผลสมควร จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 44(5) ไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบและประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินเบี้ยปรับตามคำสั่งของจำเลยที่ 5 เห็นได้ว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องกล่าวอ้างถึงวันประกาศราชกิจจานุเบกษาของประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าเกิดขึ้นหลังวันที่กำหนดให้โจทก์เริ่มการหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายและหลังจากวันที่โจทก์เริ่มการหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายแล้วหรือไม่ ประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับที่ 18 พ.ศ. 2533 มีผลใช้บังคับเมื่อใด จะมีผลย้อนหลังบังคับโจทก์ได้หรือไม่ โจทก์มิได้บรรยายไว้ในคำฟ้องทั้งสิ้น ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่โจทก์มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแต่ศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็ถือมิได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการที่สองมีว่า การประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ครั้งที่ 9/2534 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2534 ตกเป็นโมฆะเพราะนายปรีชาสุมาวงศ์ ที่ปรึกษากฎหมายไม่ใช่พนักงานของบริษัทโรงงานน้ำตาลทรายตามกฎหมายแรงงานและนายวีระ บุญศรี รองอธิบดีกรมการค้าภายในผลัดเปลี่ยนเข้าประชุมแทนกันกับนายประเทือง ศรีรอดบาง รองอธิบดีกรมการค้าภายในอีกคนหนึ่งนั้นได้ความตามพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ว่า คณะกรรมการบริหารร่วมของบริษัทในเครือไทยรุ่งเรืองฯ มีมติให้บรรจุนายปรีชาเป็นพนักงานของบริษัทไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรมจำกัด เพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมาย โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินปีละ 100,000บาท ตามคำสั่งบรรจุพนักงานเอกสารหมาย ล.42 แผ่นที่ 2 ดังนี้ นายปรีชาจึงเป็นพนักงานของบริษัทไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด ตามกฎหมายแรงงาน เมื่อบริษัทไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด เป็นสมาชิกโรงงานน้ำตาลไทย นายปรีชาจึงมีคุณสมบัติเป็นกรรมการฝ่ายผู้แทนโรงงานในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 11 วรรคสาม ส่วนนายวีระรองอธิบดีกรมการค้าภายในผลัดเปลี่ยนเข้าประชุมแทนกันกับนายประเทือง นั้นพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 10 กำหนดคุณสมบัติของข้าราชการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่า ผู้ได้รับแต่งตั้งดังกล่าวจะต้องไม่เป็นชาวไร่อ้อย กรรมการ ผู้จัดการหรือพนักงานหรือลูกจ้างของโรงงานเท่านั้น ส่วนมาตรา 11 เป็นบทกำหนดคุณสมบัติของผู้แทนชาวไร่อ้อย และผู้แทนโรงงานที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยคุณสมบัติ ฯลฯ (5) ไม่เป็นข้าราชการการเมืองหรือดำรงตำแหน่งในทางการเมือง(6) ไม่เป็นกรรมการพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง ฯลฯ กรรมการที่มาจากข้าราชการ 3 กระทรวง ซึ่งรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องแต่งตั้งนั้น พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 9 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับกรณีการแต่งตั้งดังกล่าวมิได้มีข้อกำหนดว่าให้ระบุชื่อเฉพาะของข้าราชการนั้น ๆ และไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นใดบังคับว่าการแต่งตั้งข้าราชการให้เป็นกรรมการจะต้องระบุชื่อโดยเฉพาะ ทั้งตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน การแต่งตั้งข้าราชการให้ปฏิบัติหน้าที่พิเศษอื่นใดย่อมแต่งตั้งโดยระบุตำแหน่งได้โดยถือว่าผู้ได้รับแต่งตั้งโดยตำแหน่งนั้นเป็นตัวแทนของส่วนราชการหน่วยนั้น ๆ และเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะตำแหน่ง ไม่ติดตัวและสิ้นสภาพไปเมื่อผู้ดำรงตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งนั้น ตาย โอนย้ายหรือลาออกจากราชการไป ฉะนั้น หากผู้ดำรงตำแหน่งไม่อยู่ ผู้อยู่ในลำดับรองลงไปก็สามารถรับมอบหมายให้รักษาราชการแทนหรือปฏิบัติราชการแทนในตำแหน่งนั้น ๆ ได้ ทั้งการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งโดยตำแหน่งหน้าที่ราชการดังกล่าว ไม่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องประชุมด้วยตนเองและไม่มีกฎหมายห้ามมิให้แต่งตั้งผู้อื่นปฏิบัติหน้าที่แทน กรรมการดังกล่าวย่อมมอบหมายให้ข้าราชการในกรมที่ตนสังกัดอยู่ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยเข้าประชุมแทนได้ นายวีระหรือนายประเทือง รองอธิบดีกรมการค้าภายในจึงมีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะเข้าประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายแทนอธิบดีกรมการค้าภายในได้ การประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ครั้งที่ 9/2534 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2534 จึงไม่ตกเป็นโมฆะดังที่โจทก์ฎีกา

ปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1ออกจากสารบบความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การโจทก์ไม่ยื่นคำขอต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดระยะเวลาที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตามวรรคสองของมาตรา 198 คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา โจทก์มิได้โต้แย้งคำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) และคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ลงวันที่ 18 กันยายน 2534 ของโจทก์มิใช่คำโต้แย้งคัดค้านคำสั่งระหว่างพิจารณาเพื่อใช้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาต่อไป โจทก์อุทธรณ์ฎีกาคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความมิได้ ส่วนฎีกาของโจทก์ที่กล่าวอ้างว่า คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายมีฐานะเป็นนิติบุคคลก็เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share