คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5222/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หนังสือเตือนนอกจากจะมีข้อความซึ่งแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างให้เพียงพอที่ลูกจ้างจะเข้าใจการกระทำนั้นของตนได้แล้ว ก็จะต้องมีข้อความที่มีลักษณะเป็นการเตือนโดยห้ามไม่ให้ลูกจ้างกระทำการเช่นนั้นซ้ำอีกด้วย แม้หนังสือเตือนของจำเลยจะมีข้อความแสดงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับการที่โจทก์ฝ่าฝืนหรือขัดคำสั่งของจำเลยเพียงพอที่โจทก์จะเข้าใจการกระทำของโจทก์ได้ แต่ไม่มีข้อความที่มีลักษณะเป็นการเตือนโดยห้ามไม่ให้โจทก์กระทำเช่นนั้นซ้ำอีก คงมีแต่คำว่า “ใบเตือนครั้งที่ 1” และ “ใบเตือนครั้งที่ 2″อยู่ด้านบนของเอกสาร เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเพียงหนังสือของจำเลยที่แจ้งการฝ่าฝืนหรือขัดคำสั่งของโจทก์ให้โจทก์ทราบเท่านั้น ไม่เป็นหนังสือเตือนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119(4)
จำเลยสั่งให้โจทก์ขับรถยนต์บรรทุกไปรับสินค้าที่อาคารเกษรพลาซ่า แต่โจทก์เดินทางไปไม่ถึงเพราะเหลือเวลาอีกประมาณ 43 นาที ก็จะติดเวลาห้ามรถยนต์บรรทุกแล่นในเขตกรุงเทพมหานคร โจทก์จึงนำรถยนต์กลับมาที่สำนักงานของจำเลย เมื่อจำเลยมีระเบียบว่าในกรณีที่พนักงานขับรถไม่สามารถขับรถยนต์ไปถึงที่หมายปลายทางได้ทันเวลาและจะต้องนำรถยนต์กลับมาที่สำนักงาน พนักงานขับรถจะต้องแจ้งให้ผู้มีอำนาจของจำเลยทราบก่อน แต่โจทก์ไม่ได้แจ้งให้ผู้มีอำนาจของจำเลยทราบก่อน การกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือขัดคำสั่งของจำเลยอันไม่ใช่กรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวโดยไม่ได้ตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือมาก่อน จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์แต่เมื่อโจทก์ได้เคยฝ่าฝืนระเบียบหรือขัดคำสั่งของจำเลยในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ขับรถมาแล้วถึง 2 ครั้ง ถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเป็นอาจิณตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่พนักงานขับรถต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด และจำเลยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 2,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 40,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 2,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน40,000 บาท และอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 2,500 บาท นับแต่วันฟ้อง(ฟ้องวันที่ 29 สิงหาคม 2544) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์มิได้บรรยายในคำฟ้องว่าหนังสือเตือนไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่โต้แย้งไว้ในชั้นพิจารณาของศาล ศาลมีอำนาจยกข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้หรือไม่ และเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 เป็นหนังสือเตือนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 119(4) หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและจำเลยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำเลยให้การว่าโจทก์กระทำความผิดโดยฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลย จำเลยเคยมีหนังสือเตือนโจทก์สองครั้งแล้ว โจทก์ยังกระทำความผิด จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามคำฟ้องและคำให้การดังกล่าวแสดงว่าจำเลยยกเหตุมาตรา 119(4) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งบัญญัติว่า “ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วเว้นแต่กรณีร้ายแรงนายจ้างไม่จำต้องตักเตือน” ขึ้นอ้างเพื่อที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ด้วย เมื่อจำเลยอ้างว่าเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 เป็นหนังสือเตือนตามบทกฎหมายข้างต้นในการวินิจฉัยถึงสิทธิและหน้าที่ในการรับและจ่ายค่าชดเชยของโจทก์และจำเลย ศาลชอบที่จะพิจารณาและวินิจฉัยว่าเอกสารที่จำเลยว่าเป็นหนังสือเตือนดังกล่าวมีข้อความที่มีลักษณะเป็นการตักเตือนโจทก์ตามบทกฎหมายนั้นหรือไม่โดยโจทก์ไม่จำต้องบรรยายในคำฟ้องหรือโต้แย้งคัดค้านในชั้นพิจารณาของศาลว่าหนังสือเตือนไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด หนังสือเตือนตามบทกฎหมายข้างต้นแม้กฎหมายจะมิได้บัญญัติว่าต้องระบุข้อความใดไว้บ้าง แต่ย่อมเป็นที่เข้าใจได้โดยทั่วไปว่าหนังสือตักเตือนนั้น นอกจากจะมีข้อความซึ่งแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างให้เพียงพอที่ลูกจ้างจะเข้าใจการกระทำนั้นของตนได้แล้ว ก็จะต้องมีข้อความที่มีลักษณะเป็นการเตือนโดยห้ามมิให้ลูกจ้างกระทำการเช่นนั้นซ้ำอีกด้วยแม้เอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 จะมีข้อความแสดงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับการที่โจทก์ฝ่าฝืนหรือขัดคำสั่งของจำเลยเพียงพอที่โจทก์จะเข้าใจการกระทำของโจทก์ได้แต่ก็ไม่มีข้อความที่มีลักษณะเป็นการเตือนโดยห้ามมิให้โจทก์กระทำการเช่นนั้นซ้ำอีกคงมีแต่คำว่า “ใบเตือนครั้งที่ 1” และ “ใบเตือนครั้งที่ 2″ อยู่ด้านบนของเอกสารดังกล่าวเท่านั้น เอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 จึงเป็นเพียงหนังสือของจำเลยที่แจ้งการฝ่าฝืนหรือขัดคำสั่งของโจทก์ให้โจทก์ทราบเท่านั้น ไม่เป็นหนังสือเตือนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(4) แต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อมาว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือเลิกจ้าง เอกสารหมายจ.2 จำเลยได้ระบุเหตุผลที่เลิกจ้างโจทก์ว่า เนื่องจากเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2544โจทก์ได้กระทำผิดกฎระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย ซึ่งโจทก์ได้กระทำผิดในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้ว 2 ครั้ง และได้ตักเตือนเป็นหนังสือมาแล้ว แต่โจทก์กระทำความผิดซ้ำอีกครั้ง ซึ่งศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2544เวลาประมาณ 14 นาฬิกา จำเลยสั่งให้โจทก์ขับรถยนต์บรรทุกไปรับสินค้าที่อาคารเกษรพลาซ่า บริเวณสี่แยกราชประสงค์ แต่โจทก์เดินทางไปไม่ถึงอาคารดังกล่าวเพราะเหลือเวลาอีกประมาณ 43 นาที ก็จะติดเวลาห้ามรถยนต์บรรทุกแล่นในเขตกรุงเทพมหานคร โจทก์จึงนำรถยนต์กลับมาที่สำนักงานของจำเลย ดังนี้ เมื่อจำเลยมีระเบียบว่าในกรณีที่พนักงานขับรถไม่สามารถขับรถยนต์ไปถึงที่หมายปลายทางได้ทันเวลาและจะต้องนำรถยนต์กลับมาที่สำนักงาน พนักงานขับรถจะต้องแจ้งให้ผู้มีอำนาจของจำเลยทราบก่อน แต่โจทก์มิได้แจ้งให้ผู้มีอำนาจของจำเลยทราบก่อนการกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือขัดคำสั่งของจำเลยอันมิใช่กรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวโดยมิได้ตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือมาก่อนจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้เคยฝ่าฝืนระเบียบหรือขัดคำสั่งของจำเลยในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ขับรถมาแล้วถึง 2 ครั้ง คือในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2544 กรณีถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเป็นอาจิณตามมาตรา 583 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามบทกฎหมายดังกล่าว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share