คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5506/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีที่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 แม้ฎีกาของจำเลยในปัญหาที่ว่ามีเหตุให้พิจารณาใหม่หรือไม่ จะเป็นปัญหาในชั้นดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นที่ไม่ใช่ปัญหาในประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องและคำให้การก็ตามก็ต้องถือทุนทรัพย์ที่พิพาทในคดีเป็นหลักในการพิจารณาว่าฎีกาของจำเลยเป็นคดีที่ฎีกาในข้อเท็จจริงได้หรือไม่ด้วย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 87,317.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นได้ประกาศคำบังคับให้จำเลยทราบทางหนังสือพิมพ์และออกหมายบังคับคดีจำเลย ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีที่จำเลยถูกนางสาวสุวณี สิงหมงคลเขต เจ้าหนี้ตามคำพิพากษายึดทรัพย์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 22624/2532 ของศาลแพ่งศาลแพ่งส่งสำเนาคำพิพากษา หมายนัด และสำเนาคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ไปให้จำเลยทราบและนัดไต่สวนคำร้อง
จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ในคดีนี้ อ้างว่าไม่ได้จงใจขาดนัดเพราะจำเลยไปทำธุรกิจที่จังหวัดเชียงใหม่ เพิ่งทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องคดีนี้และศาลพิพากษาแล้วจากสำเนาคำพิพากษาที่โจทก์แนบไปกับสำเนาคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีดังกล่าวที่ศาลส่งไปให้จำเลยทราบเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2534 จึงเป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่ไม่อาจบังคับได้และพฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลงในวันดังกล่าว
โจทก์ยื่นคำแถลงคัดค้าน
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้พิจารณาใหม่ โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกคำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลย จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ทางไต่สวนและพยานหลักฐานในสำนวนฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยเป็นลูกหนี้ของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา 3 ราย คือธนาคารกรุงไทย จำกัด เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2263/2524 ของศาลแพ่ง โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยในคดีนี้ และนางสาวสุวณี สิงหมงคลเขตเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 22624/2532ของศาลแพ่ง ในชั้นบังคับคดีนี้โจทก์ได้ส่งคำบังคับให้จำเลยทราบโดยประกาศทางหนังสือพิมพ์ จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ ศาลชั้นต้นได้ออกหมายบังคับคดีแล้ว ต่อมาเมื่อธนาคารกรุงไทย จำกัด เจ้าหนี้ตามคำพิพากษารายแรกบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ศาลแพ่ง โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเข้าเฉลี่ยทรัพย์ที่ยึดไว้เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน2527 ตามเอกสารหมาย จ.8 ศาลแพ่งมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์เข้าเฉลี่ยทรัพย์ที่ยึดได้ ตามเอกสารหมาย จ.10 ครั้นต่อมานางสาวสุวณี สิงหมงคลเขตเจ้าหนี้ตามคำพิพากษารายที่สามยึดทรัพย์จำเลยอีก โจทก์ก็ได้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์กับเจ้าหนี้รายดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2534 จำเลยจึงยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่ามีเหตุให้พิจารณาใหม่หรือไม่
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีคิดต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน141,078 บาท จึงเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248แม้ฎีกาของจำเลยเป็นปัญหาในชั้นดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นไม่ใช่ปัญหาในประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องและคำให้การก็ตาม ก็ต้องถือทุนทรัพย์ที่พิพาทในคดีเป็นหลักในการพิจารณาว่าเป็นคดีที่ฎีกาในข้อเท็จจริงได้หรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงในคดีที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด เจ้าหนี้ตามคำพิพากษารายแรกยึดทรัพย์ของจำเลยและโจทก์ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ ศาลได้ส่งสำเนาคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ของโจทก์ไปให้จำเลยทราบที่บ้านเลขที่200/108-109 ถนนพัฒนาการ แขวงประเวศ เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของจำเลยโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2527 เป็นการส่งโดยชอบถือว่าจำเลยทราบว่าถูกโจทก์คดีนี้ฟ้องและทราบคำบังคับตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2528พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้จึงสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว จำเลยเพิ่งยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2534 เกินกำหนด15 วัน นับแต่วันที่พฤติการณ์นอกเหนือนั้นได้สิ้นสุดลงจำเลยจึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ จำเลยฎีกาว่า ระหว่างปี2527-2528 จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ไม่ได้อยู่ที่บ้านเลขที่ 200/108 แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพมหานครการส่งหมายที่บ้านเลขที่ดังกล่าวจึงไม่ชอบ ดังนั้นพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้จึงยังไม่สิ้นสุดลง จำเลยเพิ่งทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2534 จำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2534 จึงไม่เกินกำหนด 15 วันนับแต่พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้สิ้นสุดลง เป็นการฎีกาโต้แย้งข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟังมา ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาจำเลย

Share