คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2043/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำสั่งนายกรัฐมนตรีให้ริบทรัพย์สิน สั่งตามอำนาจในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2515 มาตรา 17 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในเวลานั้น ไม่ขัดแย้งและไม่ต้องวินิจฉัยตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอีก
ศาลชั้นต้นงดสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ ชั้นฎีกาโจทก์ขอให้สืบพยานแล้วพิพากษาใหม่ เสียค่าขึ้นศาล 50 บาทตามตาราง 1 ข้อ 2 ก. ไม่ใช่เสียตามทุนทรัพย์

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงจากคำฟ้องและคำให้การฟังได้ว่า ทรัพย์พิพาทเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งที่ถูกอายัดตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2515ต่อมานายกรัฐมนตรีมีคำสั่งที่ สสร.39/2517 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2517 ให้ทรัพย์สินที่อายัดไว้ตกเป็นของรัฐ ให้กระทรวงการคลัง จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในนามของรัฐ และได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำสั่ง โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการ และได้กำหนดเงื่อนไขไว้ว่าถ้ามีบุคคลใดกล่าวอ้างว่าทรัพย์สินที่ตกเป็นของรัฐนั้น เป็นของตน ซึ่งได้มาโดยสุจริตและโดยชอบให้บุคคลผู้นั้นยื่นคำร้องพร้อมด้วยหลักฐานและรายละเอียดการได้มา ซึ่งทรัพย์สินนั้นต่อคณะกรรมการเพื่อการวินิจฉัยชี้ขาดสำหรับกรณีนี้โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการดังกล่าวเพื่อขอคืนทรัพย์พิพาท แต่คณะกรรมการได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดไม่ยอมคืนให้ โจทก์จึงนำคดีนี้มาฟ้องขอให้มีการบังคับ

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาสู่ศาลฎีกาวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า คำสั่งของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารที่สั่งการตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรให้ยึดทรัพย์สินของโจทก์ ซึ่งเป็นประชาชน โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลได้การที่ฝ่ายบริหารออกคำสั่งให้คำสั่งของฝ่ายบริหารเป็นเด็ดขาดหรือเป็นที่สุดนั้นย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดรัฐธรรมนูญหรือประเพณีการปกครองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คำสั่งของฝ่ายบริหารเช่นนั้นไม่มีผลใช้บังคับได้ เห็นว่าธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 เป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินในขณะนั้น และมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรดังกล่าวได้บัญญัติให้อำนาจนายกรัฐมนตรี โดยมติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจที่จะสั่งการหรือกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ในการระงับ หรือปราบปรามการกระทำ อันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร เศรษฐกิจของประเทศและราชการแผ่นดินไว้ การที่นายกรัฐมนตรีโดยมติคณะรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 มีคำสั่งที่ สลร.39/2517 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2517 ซึ่งต่อเนื่องจากคำสั่งเดิมให้ทรัพย์สินที่ถูกอายัดหรือยึดไว้ตามคำสั่งฉบับแรกตกเป็นของรัฐทันที และได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อปฏิบัติตามคำสั่ง ในกรณีที่บุคคลได้อ้างว่าทรัพย์สินนั้นเป็นของตน และยื่นคำร้องขอคืนซึ่งได้กล่าวไว้ในข้อ 7 ให้อยู่ในการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการและการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด คำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่มอบอำนาจการวินิจฉัยในกรณีดังกล่าวโดยเด็ดขาดให้แก่คณะกรรมการและให้เป็นที่สุดนั้นย่อมเป็นดุลพินิจของนายกรัฐมนตรีโดยมติของรัฐมนตรีที่สั่งการไปตามอำนาจที่มีอยู่โดยชอบด้วยกฎหมายจึงมีผลใช้บังคับได้ มาตรา 17 ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีสั่งการดังกล่าว เป็นบทบัญญัติในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดอยู่แล้ว จึงไม่เป็นการขัดแย้งหรือจะต้องวินิจฉัยตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอีก เมื่อคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ สลร.39/2517 ให้การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการเป็นที่สุดโจทก์ย่อมไม่อาจนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลเกี่ยวกับการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการนั้นได้อีก แม้โจทก์จะกล่าวในฟ้องว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการที่ไม่คืนทรัพย์ให้โจทก์นั้นไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยเหตุผล ไม่ต้องกับพยานหลักฐานและไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เหตุผลที่โจทก์อ้างว่าการวินิจฉัยไม่ชอบ ก็มีเพียงว่า เพราะทรัพย์สินนั้นเป็นของโจทก์เท่านั้น ซึ่งเป็นการโต้แย้งดุลพินิจการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการ หาใช่เหตุผลที่แสดงว่าคณะกรรมการได้วินิจฉัยชี้ขาดโดยขัดแย้งต่อพยานหลักฐานแต่ประการใดไม่ จึงต้องถือว่าการวินิจฉัยของคณะกรรมการที่ไม่ยอมคืนทรัพย์ให้โจทก์นั้นชอบแล้ว โจทก์จะมาฟ้องอ้างว่าทรัพย์พิพาทเป็นของโจทก์ขอให้คืนแก่โจทก์อีกหาได้ไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต้องกันว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย และเห็นว่าไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ข้ออื่นอีก เพราะแม้จะวินิจฉัยก็ไม่ทำให้ผลของคำพิพากษานี้เปลี่ยนแปลงไปได้ อนึ่งคดีนี้โจทก์ฎีกาเพียงแต่ขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานหลักฐานแล้วพิพากษาคดีต่อไปตามรูปความไม่ได้ขอให้พิพากษาให้โจทก์ชนะคดี โจทก์ควรเสียค่าขึ้นศาลเพียง 50 บาทตามตาราง 1 ข้อ 2 ก. ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2499 มาตรา 29 แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาจำนวน4,662 บาท 50 สตางค์ จึงเกินอัตราตามกฎหมาย

พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 600 บาทแทนจำเลยและคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกิน 50 บาทให้โจทก์”

Share