แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เงินที่ผู้กล่าวหามอบให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาในบริเวณศาลนั้นเป็นเงินที่ผู้ถูกกล่าวหาเรียกร้องอ้างว่าจะเอาไปให้ผู้พิพากษาในการที่อนุญาตให้ประกันตัวการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากนางลำพึง สายทอง กล่าวหาต่อศาลชั้นต้นว่านายวัฒนชัย ซ่อมประดิษฐ์ ผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งเป็นทนายความได้ทำคำร้องยื่นต่อศาลชั้นต้นขอให้ปล่อยชั่วคราวนายเชาว์พจน์พรหมมณี สามีผู้กล่าวหา ในระหว่างฝากขังในคดีอาญาหมายเลขดำที่ พ.2186/2534 ระหว่างพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลราษฎร์บูรณะผู้ร้อง นายเชาว์ พจน์พรหมมณี ผู้ต้องหาซึ่งผู้ร้องขอฝากขังผู้ต้องหาข้อหาความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น แล้วผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าผู้พิพากษาเรียกเงินจำนวน 40,000 บาท จึงจะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ต่อมาผู้กล่าวหาได้มอบเงินจำนวน 40,000 บาทแก่ผู้ถูกกล่าวหาตามที่เรียกร้อง
ผู้ถูกกล่าวหาให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว พิพากษาว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1), 33 ให้จำคุก6 เดือน
ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ถูกกล่าวหาฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าเงินจำนวน 40,000 บาท ที่ผู้กล่าวหามอบให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาในวันที่30 ตุลาคม 2534 เป็นค่าจ้างว่าความ หรือเป็นเงินที่ผู้ถูกกล่าวหาเรียกร้องว่าจะนำไปให้แก่ผู้พิพากษาที่อนุญาตให้ประกันตัวนายเชาว์สามีผู้กล่าวหา เห็นว่า นายประจำดีหรือปรพล นวราช พยานของผู้ถูกกล่าวหาเอง ซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานทนายความที่ผู้ถูกกล่าวหาทำงานอยู่ ก็เบิกความว่า การที่นายเชาว์สามีของผู้กล่าวหาได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นฝากขังต่อศาลอาญาธนบุรีในวันที่12 กรกฎาคม 2534 นั้น พยานเป็นผู้สั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาไปทำประกันตัวให้นายเชาว์ ได้มีการตกลงค่าใช้จ่ายกับผู้กล่าวหาเป็นเงิน 40,000 บาท ศาลฎีกาเห็นว่า คำของนายประจำดีหรือปรพลนอกจากจะไม่สอดคล้องตรงกับคำของผู้ถูกกล่าวหาที่อ้างว่าเงินจำนวน40,000 บาท เป็นเงินค่าว่าความแล้ว ยังเห็นได้อยู่ในตัวว่าค่าใช้จ่ายที่พยานให้ผู้ถูกกล่าวหาเรียกจากผู้กล่าวหาถึง 40,000 บาทนี้เป็นจำนวนสูงมากน่าจะมิใช่เป็นเพียงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวเท่านั้น คำของนายประจำดีหรือปรพลพยานผู้ถูกกล่าวหาเช่นนี้กลับเป็นการเจือสมคำของผู้กล่าวหาที่ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้อ้างว่าจะมีการนำเงินนี้ไปให้แก่ผู้พิพากษาเพื่อให้ได้ประกันตัวด้วย ฉะนั้น จึงน่าเชื่อว่าเงิน 40,000 บาทที่ผู้กล่าวหามอบให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาในวันที่ 30 ตุลาคม 2534เป็นเงินที่ผู้ถูกกล่าวหาเรียกร้องว่าจะนำไปให้ผู้พิพากษาในการที่สั่งอนุญาตให้นายเชาว์ได้ประกันตัวนั่นเอง ประกอบกับผู้กล่าวหาเป็นหญิงซึ่งสามีกำลังถูกฟ้องคดีข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นย่อมจะทำให้ผู้กล่าวหาต้องทุ่มเวลาและความคิด รวมทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆในการต่อสู้คดีให้แก่สามีอย่างมากมายอยู่แล้ว จึงไม่มีข้อน่าระแวงสงสัยว่า ผู้กล่าวหาจะหาความยุ่งยากสร้างเรื่องขึ้นใส่ความปรักปรำผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นทนายความจนถึงกับไปร้องเรียนต่อนายสะสม สิริเจริญสุข รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาธนบุรี ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาฎีกาว่านายเชาว์สามีผู้กล่าวหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นฝากขังโดยการดำเนินการของผู้ถูกกล่าวหา และต่อมาภายหลังเมื่อมีปัญหาในเรื่องเงินค่าดำเนินการและค่าทนายความซึ่งตกลงกันไม่ได้และผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับมอบหมายให้เป็นทนายความอีกต่อไป และเมื่อนายเชาว์ไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในชั้นพิจารณา ผู้กล่าวหาก็ต้องระแวงสงสัยว่าผู้ถูกกล่าวหากลั่นแกล้ง ผู้กล่าวหาย่อมจะต้องโกรธแค้นผู้ถูกกล่าวหาและสร้างเรื่องขึ้นใส่ร้ายผู้ถูกกล่าวหานั้น ผู้ถูกกล่าวหาเบิกความว่าในวันที่ 12 กรกฎาคม 2534 ผู้ถูกกล่าวหาได้ช่วยทำเรื่องขอประกันตัวนายเชาว์สามีผู้กล่าวหาในชั้นฝากขังจนกระทั่งมีหมายปล่อยและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ปล่อยนายเชาว์ออกมาผู้กล่าวหาแสดงความดีใจ ผู้ถูกกล่าวหาถือว่าได้ช่วยผู้กล่าวหาโดยไม่มีค่าตอบแทนอะไร แต่ผู้กล่าวหาก็ได้ส่งเงินให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา 7,000 บาทผู้ถูกกล่าวหาไม่รับบอกให้ผู้กล่าวหาไปคุยกับหัวหน้าสำนักงาน เพราะถ้าหากหัวหน้าสำนักงานของผู้ถูกกล่าวหาทราบว่าผู้ถูกกล่าวหารับเงินผู้ถูกกล่าวหาจะเดือดร้อน เห็นว่าการที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับเงินดังกล่าวเอาไว้ก็เป็นผลดีต่อผู้กล่าวหาอยู่แล้วที่ไม่ต้องเสียเงิน7,000 บาท และไม่ปรากฏว่าผู้กล่าวหามีเหตุอะไรที่จะระแวงสงสัยว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กลั่นแกล้งจนไม่ได้ประกันตัวสามีผู้กล่าวหาในชั้นพิจารณาแต่อย่างใด และเมื่อนายสะสมมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวสามีผู้กล่าวหาในชั้นพิจารณาในเดือนตุลาคม 2534ผู้กล่าวหาก็ได้ขึ้นไปร้องเรียนต่อนายสะสมในวันเดียวกันนั้นว่าผู้ถูกกล่าวหาเรียกเงิน 40,000 บาท เพื่อเป็นค่าประกันตัวสรุปแล้วข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเงินที่ผู้กล่าวหามอบให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 40,000 บาท ในวันที่ 30 ตุลาคม 2534 ในบริเวณศาลอาญาธนบุรีนั้น มีเหตุผลให้เชื่อได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าเป็นเงินที่ผู้กล่าวหาเรียกร้องอ้างว่าจะเอาไปให้แก่ผู้พิพากษาในการที่อนุญาตให้ประกันตัวนายเชาว์ การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน