แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยทำสัญญามัดจำไว้ว่า โจทก์ตกลงซื้อที่ดินตามฟ้องจากจำเลยในราคาที่กำหนด โจทก์ได้วางเงินมัดจำไว้แก่จำเลยเป็นเงินจำนวนหนึ่ง กำหนดโอนกันให้เสร็จภายใน 3 เดือน นับแต่วันทำสัญญามัดจำ แต่จะกำหนดวันเดือนใดคู่ความต้องบอกกล่าวความตกลงเห็นพร้อมกัน ในระหว่างกำหนดเวลาดังกล่าวนั้นไม่ปรากฏว่าโจทก์จำเลยได้กำหนดวันเดือนใดที่จะปฏิบัติการชำระหนี้ต่อกันโดยบอกกล่าวความตกลงเห็นพร้อมกัน กล่าวคือโจทก์ไม่ได้ขอชำระหนี้เงินที่ค้างและให้จำเลยโอนที่ดิน ให้จำเลยก็ไม่ได้บอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ แสดงว่าคู่สัญญาไม่นำพา ที่จะปฏิบัติตามสัญญาจนกำหนดเวลาตามสัญญานั้นสิ้นสุดลง ฝ่ายใดจะอ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาหาได้ไม่ การที่คู่กรณีปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยมาโดยมิได้จัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อมาทางอำเภอเปรียบเทียบแต่ก็ตกลงกันไม่ได้ จากนั้นก็ไม่มีฝ่ายใด เรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติตามสัญญา พฤติการณ์ของคู่กรณีแสดงให้เห็นว่าต่างฝ่ายต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายแล้ว โจทก์จำเลยต่างต้องคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ได้รับไว้และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและค่าปรับจากจำเลย
โจทก์จำเลยต่างตกลงทำสัญญามัดจำกันใหม่ โดยมีข้อความ ตามสัญญาเดิม และยกเงินมัดจำจำนวนตามสัญญาเดิมมาลงไว้ในสัญญาใหม่แล้ว ต้องถือว่าจำเลยได้รับเงินมัดจำแล้วตามสัญญาใหม่และปรากฏตามคำให้การของจำเลยโดยชัดแจ้งว่าจำเลยได้รับเงินมัดจำจำนวนดังกล่าวไว้แล้วด้วย จำเลยจะนำสืบเป็นอย่างอื่นหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยตกลงทำสัญญามัดจำเพื่อจะขายที่ดินให้แก่โจทก์ 1 แปลง ในราคา 15,000 บาท โจทก์วางมัดจำ 10,000 บาท จำเลยรับไปแล้วกำหนดจดทะเบียนโอนขายภายใน 3 เดือน เมื่อถึงกำหนดไม่ยอมโอนให้ ขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยคืนเงินมัดจำพร้อมด้วยดอกเบี้ย ค่าเสียหาย และค่าปรับ
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงได้ริบเงินมัดจำ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินมัดจำ 10,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าปรับเป็นเงิน 20,000 บาทแก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2522 โจทก์จำเลยได้ทำสัญญามัดจำตามเอกสารหมาย จ.1 ความว่าโจทก์ตกลงซื้อที่ดินตามฟ้องจากจำเลยในราคา 15,000 บาท โจทก์วางเงินมัดจำให้จำเลย 10,000 บาทในวันนั้น กำหนดโอนให้สำเร็จภายในกำหนด 3 เดือนนับแต่วันทำสัญญา แต่จะกำหนดวันเดือนใดคู่สัญญาต้องบอกกล่าวความตกลงเห็นพร้อมกัน ถ้าโจทก์ผิดนัด จำเลยจะริบเงินมัดจำ ถ้าจำเลยผิดนัดยอมให้โจทก์เรียกค่าเสียหายอีกโสดหนึ่งเป็นเงิน 20,000 บาท ครั้นครบกำหนดตามสัญญาแล้ว ไม่ปรากฏว่าได้มีการโอนกันตามสัญญา ต่อมาวันที่ 4 มีนาคม 2523 โจทก์ขอให้ทางอำเภอเปรียบเทียบ แต่ไม่อาจตกลงกันได้ เดิมโจทก์จำเลยได้ทำสัญญามัดจำจะซื้อขายที่ดินแปลงนี้มาแล้ว กำหนดโอนภายใน 6 เดือน ตามเอกสารหมาย ล.1 เมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้ว ปรากฏว่ามิได้มีการโอนต่อกัน โจทก์จำเลยจึงเลิกสัญญาเดิม ยกเงินมัดจำมาทำสัญญาใหม่ ตามเอกสารหมาย จ.1 และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า คู่ความต่างนำสืบว่าเมื่อครบกำหนด 3 เดือนตามสัญญาแล้วอีกฝ่ายเป็นผู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ แต่ในระหว่างกำหนดเวลา 3 เดือน ตามเอกสารหมาย จ.1 นั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์จำเลยได้กำหนดวันเดือนใดที่จะปฏิบัติการชำระหนี้ต่อกันโดยบอกกล่าวความตกลงเห็นพร้อมกัน กล่าวคือ โจทก์ไม่ได้ขอชำระหนี้ที่ค้างและให้จำเลยโอนที่ดินให้ จำเลยก็ไม่ได้บอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ เมื่อตามสัญญาข้อ 2 ระบุว่า คู่สัญญาตกลงกัน จะทำพิธีโอนภายในกำหนด 3 เดือนนับแต่วันทำสัญญาแต่จะกำหนดวันเดือนใดคู่สัญญาต้องบอกกล่าวความตกลงเห็นพร้อมกัน แสดงให้เห็นว่าคู่สัญญาไม่นำพาที่จะปฏิบัติตามสัญญา จนกำหนดเวลาตามสัญญาสิ้นสุดลงฝ่ายใดจะอ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ผิดสัญญาหาได้ไม่ และเป็นที่เห็นได้ว่าคู่กรณีได้ปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยมาโดยมิได้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใด จนเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2523 จึงได้ขอให้ทางอำเภอเปรียบเทียบแต่ก็ไม่อาจตกลงกันได้ จากนั้นก็มิได้มีฝ่ายใดเรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติตามสัญญา พฤติการณ์ของคู่กรณีแสดงให้เห็นว่า ต่างฝ่ายต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายแล้ว ดังนั้นโจทก์จำเลยต่างต้องคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและค่าปรับจากจำเลย ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าได้รับเงินมัดจำจากโจทก์ไว้เพียง 7,000 บาท เมื่อครั้งทำสัญญาเดิม ตามเอกสารหมาย ล.1 และตามสัญญาใหม่ตามเอกสารหมาย จ.1 จำเลยไม่ได้รับเงินมัดจำอีกเลยนั้น เห็นว่าคู่ความต่างตกลงทำสัญญาใหม่โดยมีข้อความตามสัญญาเดิมและยกเงินมัดจำจำนวน 10,000 บาท มาลงไว้ในสัญญาใหม่แล้ว ต้องถือว่าจำเลยบได้รับเงินมัดจำแล้วตามสัญญาใหม่เอกสารหมาย จ.1 เมื่อปรากฏตามคำให้การของจำเลยชัดแจ้งว่า จำเลยได้รับเงินมัดจำจำนวน 10,000 บาท ไว้แล้วจำเลยจะนำสืบเป็นอย่างอื่นหาได้ไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงินมัดจำ 10,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย แต่จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระเงินค่าปรับ 20,000 บาท ให้แก่โจทก์