คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 55/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยสั่งพักงานโจทก์ โดยไม่มีเจตนาที่จะไม่จ้างหรือกลั่นแกล้งแต่เพื่อสอบสวนกรณีทุจริต แล้วสั่งให้โจทก์เข้าทำงานต่อไปไม่ถือเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ
คำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลาง ซึ่งโจทก์ มิได้คัดค้านไว้โจทก์อุทธรณ์ไม่ได้

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยนำสืบแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า การสั่งพักงานโจทก์เป็นการสั่งโดยมีเหตุอันสมควรชอบด้วยเหตุผลและสอดคล้องกับคำสั่งที่ 1/2519 เรื่องระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 7.4 ซึ่งเป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่ยังใช้บังคับระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แม้ปรากฏว่ากรณีสั่งพักงานโจทก์ทำให้ไม่ได้ประจำทำงานเกิน 7 วันทำงานติดต่อกัน โดยจำเลยที่ 1 ไม่จ่ายค่าจ้างให้ก็ตาม แต่โจทก์ก็นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองจะไม่จ้างโจทก์ทำงานต่อไปหรือกลั่นแกล้งโจทก์ จำเลยนำสืบฟังได้ว่าไม่มีการข่มขู่กลั่นแกล้งโจทก์แต่สั่งพักงานชั่วคราวเพื่อตรวจสอบการทุจริต ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยไม่เคยนำสืบปฏิเสธถึงการข่มขู่หรือกลั่นแกล้งที่โจทก์กล่าวอ้างแต่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยนำสืบฟังได้ว่าไม่มีการข่มขู่หรือกลั่นแกล้งเป็นการฟังพยานคลาดเคลื่อน และอุทธรณ์อีกว่า จำเลยทั้งสองสั่งพักงานโจทก์ โดยมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์นั้นเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบแล้วเป็นว่ามิได้นำสืบ และโต้เถียงว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 จึงไม่วินิจฉัยให้

มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า การที่จำเลยทั้งสองสั่งพักงานโจทก์ โดยไม่จ่ายค่าจ้าง เป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6)ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2521 ข้อ 2 หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าถึงแม้การที่จำเลยทั้งสองสั่งพักงานโจทก์ เป็นการไม่ยอมให้โจทก์ทำงานและเป็นเวลาเกิน 7 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่จ่ายค่าจ้างก็ตาม แต่จะต้องปรากฏด้วยว่า เป็นการไม่ยอมให้ทำงานโดยมีเจตนาจะไม่จ้างโจทก์ทำงานต่อไป หรือกลั่นแกล้งโจทก์ จึงจะถือเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาที่จะไม่จ้างโจทก์ทำงานต่อไป หรือกลั่นแกล้งโจทก์ เป็นแต่เพียงสั่งพักงานชั่วคราว เพื่อสอบกรณีทุจริต ถ้าโจทก์มิได้กระทำผิดจำเลยที่ 1 ก็ให้กลับเข้าทำงานต่อไป และปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์เข้าทำงานต่อไปด้วย ตามเอกสารหมาย ล.7 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์

ปัญหาที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางสั่งรับคำสั่งที่ 1/2519เรื่องระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามเอกสารหมาย ล.11 ที่จำเลยทั้งสองอ้างเป็นพยานและยื่นบัญชีระบุพยานหลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นการอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลาง แต่โจทก์เพียงแต่คัดค้านคำร้องขออ้างและระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลยทั้งสองเท่านั้น เมื่อศาลแรงงานกลางสั่งให้รับเอกสารดังกล่าวไว้เป็นพยานของจำเลยทั้งสองแล้วโจทก์มิได้คัดค้านคำสั่งแต่อย่างใดจึงห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาควาาแพ่ง มาตรา 226(1)ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 จึงไม่วินิจฉัยให้”

พิพากษายืน

Share