แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ มีหน้าที่เป็นยามเฝ้าดูแลโกดังของ ส.ร.ส.ได้สมคบกับคนร้ายปล้นทรัพย์ของส.ร.ส.ไป ดังนี้ จำเลยมีความผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่ไม่มีผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ เพราะจำเลยไม่ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ปกครองรักษาทรัพย์นั้น เป็นแต่ถูกจัดให้มาเป็นยามเฝ้าโกดังเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องหาว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจยานนาวา มีหน้าที่เป็นยามเฝ้าดูแลโกดังสำลีของชนชาติญี่ปุ่น ได้สมคบกับจำเลยที่ 2, 3 และพวกที่หลบหนี ทำการปล้นทรัพย์ของชนชาติญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ในความควบคุมครอบครองของคณะกรรมการควบคุมจัดกิจการ หรือทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นศัตรูต่อสหประชาชาติ (เรียกชื่อโดยย่อในขณะนั้นว่า ส.ร.ส.)ไปนอกจากนั้นยังหาว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีตำแหน่งหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิดกลับป้องกันขัดขวางมิให้ ส.ต.ท.สมบุญกับพวกทำการจับกุมพวกจำเลยจำเลยทั้ง 3 ต่างให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยคนละ 10 ปี ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 301 ที่แก้ไขเพิ่มเติมเพิ่มโทษจำเลยที่ 3 ฐานไม่เข็ดหลาบ กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 3 ไว้ 15 ปี และให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีผิดฐานปล้นทรัพย์ เพราะจำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ปกครองรักษาทรัพย์รายนี้ แล้วสมคบกับผู้อื่นให้มาขนเอาทรัพย์หนีไป จำเลยมีผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ยักยอกทรัพย์ตามมาตรา 131 แต่โจทก์ไม่ได้ขอลงโทษจำเลยที่ 1 ไม่ได้ พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 นอกนั้นยืนตาม
โจทก์ จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ เพราะจำเลยไม่ได้รับมอบหมายให้ปกครองรักษาทรัพย์นั้น แต่ถูกจัดมาให้เป็นยามเฝ้าดูแลโกดังเท่านั้น และได้ความว่าสำนัก ส.ร.ส. เป็นผู้รักษาใส่กุญแจโกดัง มีกระดาษผนึกปิดตีตรากุญแจเจ้าหน้าที่ ส.ร.ส.เป็นผู้รักษา แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ร่วมสมคบกันปล้นทรัพย์รายนี้
พิพากษาแก้ ให้บังคับคดีจำเลยที่ 1 ตามศาลชั้นต้นนอกนั้นยืนตาม