คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3307/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้มีคำสั่งแสดงว่าส่วนหนึ่งของที่พิพาทเป็นของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ ศาลมีคำสั่งตามคำร้องขอของจำเลยแล้ว แม้จะไม่ได้ความว่าที่โจทก์ไม่โต้แย้งคัดค้านในการยื่นคำร้องขอดังกล่าวของจำเลย เพราะไม่ทราบเรื่องก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเป็นเจ้าของอันแท้จริงที่จะฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งของศาลจังหวัดนครปฐมที่ว่าที่ดินส่วนหนึ่งของโฉนดเลขที่ 7704 ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ และมีคำสั่งว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 7704 ทั้งแปลง ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องต่อไป จำเลยให้การว่า ที่ดินของโจทก์ตามโฉนดที่โจทก์ฟ้องเฉพาะเนื้อที่ 74 ตารางวา ที่จำเลยขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิ์อยู่ทางทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 10640 ตำบลแหลมบัว อำเภอนครชัยศรีจังหวัดนครปฐม ของจำเลย คำร้องขอและคำเบิกความของจำเลยในคดีนั้นเป็นความจริงทั้งสิ้น การยื่นคำร้องขอดังกล่าวได้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยถูกต้อง การที่โจทก์ไม่ทราบจึงมิได้คัดค้าน ไม่ใช่ความผิดของจำเลยแต่ประการใด จำเลยครอบครองที่ดินนั้นด้วยความสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่า 10 ปี ที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382โจทก์ไม่มีอำนาจขอให้เพิกถอนคำสั่งของศาลที่แสดงว่าที่ดินที่กล่าวแล้วตกเป็นของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านการขอแสดงกรรมสิทธิ์ของจำเลยเพราะไม่ทราบว่าจำเลยยื่นคำร้องขอเช่นนั้น การยื่นคำร้องขอของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายพิพากษาว่า คำสั่งของศาล จังหวัดนครปฐมที่ให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 7704 เนื้อที่ 74ตารางวา นั้น ไม่ผูกพันโจทก์ในคดีนี้ โจทก์มีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลยห้ามจำเลยและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินโฉนดเลขที่ 7704ของโจทก์ เนื่องจากโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินอยู่แล้ว คำขอที่ให้สั่งว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 7704 ให้ยก จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 7704 ตำบลแหลมบัวอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ส่วนจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 10640 ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของที่ดินโจทก์และติดต่อกับที่ดินโจทก์ เมื่อปี 2525 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลจังหวัดนครปฐมมีคำสั่งว่าส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 7704 ของโจทก์ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ศาลจังหวัดนครปฐมไต่สวนแล้วมีคำสั่งดังที่จำเลยขอ ปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 794/2525 คดีหมายเลขแดงที่ 769/2525 ของศาลนั้น โจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้ ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และพิพากษาว่าที่ดินนั้นเป็นของโจทก์ คดีมีปัญหาตามที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2)บัญญัติว่า คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินใด ๆเป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าซึ่งหมายความว่าคำสั่งดังกล่าวย่อมใช้เป็นหลักฐานยันบุคคลภายนอกได้แต่ไม่ตัดสิทธิบุคคลภายนอกที่จะนำสืบว่ามีสิทธิดีกว่าผู้ร้องขอ ดังนั้นแม้จะไม่ได้ความว่า ที่โจทก์ไม่โต้แย้งคัดค้านในคดีก่อนเพราะไม่ทราบว่าจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าที่พิพาทตกเป็นของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยและได้ความว่าศาลมีคำสั่งว่า ที่พิพาทตกเป็นของจำเลยแล้วดังที่จำเลยยกขึ้นฎีกาก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเป็นเจ้าของอันแท้จริงที่จะฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลย
ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลยหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์จำเลยต่างนำพยานเข้าสืบจนเสร็จสิ้นกระแสความแล้ว เพื่อมิให้คดีล่าช้าศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ไป โดยมิต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยปัญหาข้อนี้เสียก่อน ศาลฎีกาพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์จำเลยในปัญหาข้อนี้แล้ว เห็นว่า ที่พิพาทภายในเส้นสีเขียวตามแผนที่วิวาทซึ่งเป็นรูปสามเหลี่ยม ชายธงยื่นล้ำเข้าไปในที่ดินจำเลย นางสาวอนงค์ นาทักสิน บุตรสาวโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า “ฯลฯ ที่ดินสามเหลี่ยมดังกล่าวมีคันนากั้นอยู่ ฯลฯคันนากั้นอยู่ระหว่างที่ดินแปลงใหญ่กับที่ดินสามเหลี่ยม ที่ดินรูปสามเหลี่ยมส่วนที่ติดกับจำเลยไม่มีเสาหินบอกเขต” ทั้งนายชัยฤทธิ์ ขำวิไล ญาติของโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านอีกว่า “ฯลฯ ระหว่างที่พิพาทกับที่ดินของนายแหยมโจทก์มีคันนากั้นอยู่ ฯลฯ” โจทก์และนายธง นาทักสินสามีโจทก์ก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านทำนองเดียวกับที่นางสาวอนงค์และนายชัยฤทธิ์เบิกความ เมื่อคดีได้ความตามคำเบิกความของนางสาวอนงค์ตอบทนายโจทก์อีกว่า “โฉนดที่ดินเลขที่ 7704 นางแหยม โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ด้านทิศเหนือของที่ดินแปลงนี้เป็นรูปสามเหลี่ยมทิศเหนือติดต่อกับนางประทุมจำเลยที่ดินรูปสามเหลี่ยมดังกล่าวมีรั้วไม้ไผ่รั้วไม้ไผ่นี้มารดาข้าฯ กับบิดาข้าฯ ช่วยกันทำ โดยทำมา 10 ปีแล้ว ฯลฯ” ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ระหว่างที่นาโจทก์และจำเลยตรงที่พิพาทมีคันนากั้นไว้ บนคันนาดังกล่าวได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่ามีต้นตาล ปลูกอยู่ซึ่งโจทก์ว่าบิดาโจทก์เป็นคนปลูกไว้และปรากฏจากรายงานการเดินเผชิญสืบของศาลจังหวัดนครปฐมว่ามีประมาณ 7 ต้น สูงต้นละประมาณ 20 เมตร แสดงว่าคันนาดังกล่าวมีมาตั้งแต่ครั้งบิดามารดาโจทก์ ที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ได้ทำนาในที่พิพาทตลอดมาจนเปลี่ยนมาทำสวนเมื่อ 10 ปีที่แล้วนั้น ไม่น่าเชื่อเพราะที่พิพาทส่วนที่ล้ำเข้าไปในที่ดินจำเลยไม่มีคันนา โจทก์จึงทำนาดังที่นำสืบไม่ได้ เมื่อที่ดินของโจทก์จำเลยต่างเป็นที่นาและตามแผนที่วิวาทที่พิพาทซึ่งเป็นรูปสามเหลี่ยมชายธงยื่นล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยดังกล่าวมาแล้ว จึงเชื่อว่าจำเลยเป็นฝ่ายทำนาในที่พิพาทดังที่จำเลยนำสืบ ส่วนที่โจทก์นำสืบว่า เมื่อเลิกทำนาแล้วได้เข้าไปล้อมรั้วที่พิพาท ปลูกกล้วยและมะพร้าวมากว่า 10 ปีนั้นเห็นว่า ตามรายงานการเดินเผชิญสืบของศาลจังหวัดนครปฐม ปรากฏว่าต้นมะพร้าว 4 ต้นในที่พิพาทสูงต้นละ 1 เมตรเท่านั้น ดังนี้จึงเชื่อไม่ได้ว่า โจทก์ครอบครองที่พิพาทโดยได้ล้อมรั้วและปลูกต้นไม้มา 10 ปีเศษ ดังข้อนำสืบของโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าฝ่ายโจทก์ครอบครองทำนาทางด้านทิศใต้ของคันนาดังกล่าวในขณะที่ฝ่ายจำเลยครอบครองทำนาทางด้านทิศเหนือของคันนานั้น เมื่อคันนานั้นมีมาตั้งแต่ครั้งบิดามารดาโจทก์ และโจทก์จำเลยต่างรับโอนที่นามาจากบิดามารดา โจทก์จำเลยย่อมเข้าใจว่า คันนาดังกล่าวเป็นแนวเขตที่นาระหว่างโจทก์จำเลยจนกระทั่งปี 2525 เมื่อโจทก์นำรังวัดที่นาโจทก์ และจำเลยไประวังแนวเขต โจทก์จำเลยจึงทราบแนวเขตที่แท้จริงของแต่ละฝ่าย โจทก์จึงเข้าไปทำรั้วปลูกกล้วยและมะพร้าวไว้ในที่พิพาทมาภายหลังจำเลยเข้าไปตัดฟันและรื้อถอนดังที่กล่าวมาแล้วเมื่อจำเลยรับโอนที่นามาจากนางไลมารดาตั้งแต่ปี 2503และครอบครองทำนาในที่พิพาทซึ่งเป็นของโจทก์โดยความสงบโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาจนปี 2525 เป็นเวลากว่า 10 ปีจำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่พิพาทเดิมจึงไม่มีทางชนะคดี ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยคดีมา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

Share