คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1540/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศคณะกรรมการกำหนดระเบียบวินัยพนักงานของนายจ้างโจทก์ได้กำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดวางโทษตามข้อ 2 ว่า 2.1 โทษสถานเบา ก.ตักเตือนด้วยวาจา ข.มีหนังสือตำหนิโทษโจทก์เป็นพนักงานที่มีอำนาจลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชา คือ ก.ตักเตือนด้วยวาจา ข.ทำหนังสือตำหนิโทษ โจทก์จึงเป็นลูกจ้างซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชามีอำนาจในการลงโทษตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ มาตรา 95 วรรคสอง ต้องห้ามมิให้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่ลูกจ้างอื่นจัดตั้งขึ้นก็เป็นการขาดคุณสมบัติในการเป็นกรรมการสหภาพแรงงานจำเลยจึงชอบที่จะไม่จดทะเบียนกรรมการให้โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นกรรมการสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพต่อจำเลยซึ่งอยู่ในฐานะนายทะเบียนจำเลยไม่ยอมจดทะเบียนให้อ้างว่าโจทก์ทั้งสองขาดคุณสมบัติที่จะเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพตามมาตรา 95 วรรค 2แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 โจทก์เห็นว่าคำสั่งของจำเลยไม่ถูกต้องเพราะโจทก์ทั้งสองไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับบัญชาให้มีอำนาจในการจ้าง การลดค่าจ้าง การเลิกจ้าง การให้บำเหน็จหรือการลงโทษตามระเบียบของธนาคารกรุงเทพจึงขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยรับจดทะเบียนกรรมการสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพตามที่โจทก์ยื่นคำขอด้วย

จำเลยให้การว่า คำสั่งของจำเลยชอบด้วยกฎหมายแล้วเพราะโจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจในการจ้าง การลดค่าจ้าง การเลิกจ้าง การให้บำเหน็จหรือการลงโทษจึงขาดคุณสมบัติในการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ที่ 2เป็นลูกจ้างประจำธนาคารกรุงเทพ จำกัด มีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่เอกแผนกประมาณราคาส่วนจัดซื้อเทียบเท่าตำแหน่งหัวหน้าหน่วย มีอำนาจในการตักเตือนด้วยวาจา หรือทำหนังสือตำหนิโทษผู้ใต้บังคับบัญชาเมื่อทำผิดได้ และเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและได้รับเลือกเป็นกรรมการสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพ ปัญหามีว่าโจทก์ที่ 2 เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 95 วรรคสอง หรือไม่ ซึ่งโจทก์ที่ 2 อุทธรณ์ว่าการทำหนังสือตำหนิโทษเป็นเพียงการยกโทษแห่งความผิดขึ้นบอกกล่าวโดยทำเป็นหนังสือไว้เท่านั้น ไม่ใช่เป็นการลงโทษตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 95 วรรคสอง โจทก์ที่ 2 จึงไม่ขาดคุณสมบัติในการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประกาศคณะกรรมการกำหนดระเบียบวินัยพนักงาน (ฉบับที่ 1) แก้ไขเพิ่มเติม เรื่องลักษณะความผิดและระวางโทษผู้กระทำความผิด ได้ระบุถึงหลักเกณฑ์การกำหนดระวางโทษตามข้อ 2 ว่า 2.1 โทษสถานเบา ก. ตักเตือนด้วยวาจา ข. มีหนังสือตำหนิโทษ ฯลฯ 2.2 โทษปานกลาง และ 2.3 โทษหนักซึ่งได้จำแนกชนิดของโทษไว้แต่ละสถาน การทำหนังสือตำหนิโทษก็เป็นโทษอย่างหนึ่งระบุไว้ในข้อ 2, 2.1 ประเภทโทษสถานเบาเมื่อพิจารณาประกอบกับข้อ 4 ของระเบียบดังกล่าว ใน 4.1 ที่ว่า ผู้ช่วยหัวหน้าส่วนสมุห์บัญชี สมุห์บัญชีสาขา หัวหน้าหน่วยหรือเทียบเท่า มีอำนาจลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชาดังนี้ ก. ตักเตือนด้วยวาจา ข. ทำหนังสือตำหนิโทษด้วยแล้ว คำว่ามีอำนาจลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชายิ่งแสดงให้เห็นชัดว่าการทำหนังสือตำหนิโทษเป็นการลงโทษตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ข้อ 95 วรรค 2 ซึ่งบัญญัติว่า “ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจในการจ้าง การลดค่าจ้าง การเลิกจ้าง การให้บำเหน็จหรือการลงโทษ จะเป็นสมาชิกในสหภาพแรงงานที่ลูกจ้างอื่นได้จัดตั้งอยู่ไม่ได้” ฉะนั้น การที่โจทก์ที่ 2 เป็นลูกจ้างซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชามีอำนาจในการทำหนังสือตำหนิโทษจึงเป็นผู้มีอำนาจลงโทษ ต้องห้ามมิให้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพตามมาตรา 95 วรรค 2เมื่อต้องห้ามมิให้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพแล้ว โจทก์ที่ 2 ก็ขาดคุณสมบัติในการเป็นกรรมการสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพตามมาตรา 101(1) ชอบที่จำเลยจะไม่ยอมจดทะเบียนกรรมการให้แก่โจทก์ได้

พิพากษายืน

Share