คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5496/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ตกลงซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จำนองไว้แก่โจทก์และได้ขอกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 398,000 บาท ซึ่งเท่ากับจำนวนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นหนี้โจทก์นั้น น่าเชื่อว่าเป็นการกู้ยืมเพื่อนำไปชำระหนี้ให้แก่โจทก์แทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ตกลงกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะชำระหนี้ให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก และตามพฤติการณ์ที่โจทก์อนุมัติให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 กู้ยืมเงินจำนวน 398,000 บาท ซึ่งเท่ากับจำนวนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นหนี้โจทก์ทั้งยังยอมให้ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ไปดำเนินการไถ่ถอนจำนองให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 รวมทั้งรับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นการแสดงว่าโจทก์มีเจตนาที่จะถือเอาประโยชน์จากสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 แล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 วรรคสอง เมื่อฟังได้ว่าโจทก์ได้แสดงเจตนาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาดังกล่าวและจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินและจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีส่วนร่วมรู้เห็นในการที่จำเลยที่ 4 นำเงินที่โจทก์มอบให้ไปเป็นประโยชน์ส่วนตน จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 550,452.37 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 395,657.80 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ยังไม่ได้ผิดนัดตามสัญญากู้ยืมเงินที่ทำไว้กับโจทก์ โจทก์ยังไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ชำระหนี้ จึงยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 และพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินจำนวน 398,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 395,657.80 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2533 จำเลยที่ 1 และที่ 2 กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 398,000 บาท เพื่อนำไปชำระค่าที่ดินโฉนดเลขที่ 39903 ตำบลคูคต (คลองหกวาสสายล่างฝั่งเหนือ) อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และได้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นประกันการชำระหนี้ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์นำสืบสรุปความได้ว่า หลังจากที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำนองไว้แก่โจทก์ให้นายศักดิ์ได้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ตกลงขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไปขอกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 398,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ได้กู้ยืมเงินจำนวนดังกล่าวจากโจทก์ และต่อมาในวันที่ 10 กรกฎาคม 2534 โจทก์ได้ไถ่ถอนจำนองให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จากนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 แล้วจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืม พร้อมกันนั้นโจทก์ได้มอบแคชเชียร์เช็คจำนวนเงิน 398,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ขอกู้ยืมไว้ต่อมาจำเลยที่ 4 ได้นำแคชเชียร์เช็คดังกล่าวไปขึ้นเงินและนำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตนโดยมิได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แต่อย่างใด ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบว่า ระหว่างที่ยังชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินให้โจทก์ไม่ครบ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำนองแก่โจทก์ให้แก่จำเลยที่ 4 โดยมีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 4 จะต้องผ่อนชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังค้างชำระอยู่ให้แก่โจทก์แทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ครั้งแรกจำเลยที่ 4 มอบหมายให้นายศักดิ์ซึ่งอยู่กินฉันสามีภรรยากับจำเลยที่ 4 ไปขอกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 398,000 บาท โจทก์อนุมัติและมีการนัดหมายไปไถ่ถอนจำนองให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 และทำสัญญาจำนองใหม่ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาธัญบุรี เมื่อถึงวันนัดมีเหตุขัดข้องอันเกิดจากตัวนายศักดิ์จึงไม่สามารถทำนิติกรรมกันได้ โจทก์จึงให้จำเลยที่ 4 ทำเรื่องขอกู้ยืมเงินใหม่ โดยให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นน้องชายของจำเลยที่ 4 เป็นผู้ร่วมกู้ยืมด้วย เมื่อถึงวันนัดทำนิติกรรมครั้งใหม่คือวันที่ 10 กรกฎาคม 2534 จำเลยที่ 1 ไปที่สำนักงานที่ดินและลงลายมือชื่อในเอกสารตามที่พนักงานโจทก์ทำเครื่องหมายดอกจันไว้โดยไม่ได้อ่านข้อความในเอกสารดังกล่าว เห็นว่า การที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งตกลงซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จำนองไว้แก่โจทก์และได้ขอกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 398,000 บาท ซึ่งเท่ากับจำนวนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กู้ยืมไปจากโจทก์นั้น น่าเชื่อว่าเป็นการกู้ยืมเพื่อนำไปชำระหนี้ให้แก่โจทก์แทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งประเด็นนี้นายสุพจน์ ทองเย็น พยานโจทก์ก็เบิกความรับว่า หลังจากนายศักดิ์ไม่สามารถรับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไปขายให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยมีข้อตกลงกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะต้องนำเงินที่ได้รับจากโจทก์ชำระหนี้ให้โจทก์แทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 อันเป็นการเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าว กรณีจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ตกลงกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 จะชำระหนี้ให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบจริง และตามพฤติการณ์ที่โจทก์อนุมัติให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 กู้ยืมเงินจำนวน 398,000 บาท ซึ่งเท่ากับจำนวนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กู้ยืมไปจากโจทก์ ทั้งยังยอมให้ผู้รับมอบอำนาจของตนไปดำเนินการไถ่ถอนจำนองให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 รวมทั้งรับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นการแสดงว่าโจทก์มีเจตนาที่จะถือเอาประโยชน์จากสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 วรรคสอง เมื่อฟังได้ว่าโจทก์ได้แสดงเจตนาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาดังกล่าวและจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินและจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์แล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีส่วนร่วมรู้เห็นในการที่จำเลยที่ 4 นำเงินที่โจทก์มอบให้ไปเป็นประโยชน์ส่วนตน จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์อีก ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังขึ้นเมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในประเด็นอื่นอีกต่อไป
อนึ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 แต่ยังมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมอันเป็นการไม่ชอบ และศาลอุทธรณ์ไม่ได้แก้ไขศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในศาลชั้นต้นและค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share