คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7108/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยสั่งตัดเงินเดือนโจทก์เกิดจากสาเหตุโจทก์ประมาทเลินเล่อและบกพร่องต่อหน้าที่ในการปฏิบัติงานที่สาขาระนอง ส่วนการเลิกจ้างโจทก์นั้นเกิดจากสาเหตุการบกพร่องต่อหน้าที่ในการปฏิบัติงานของโจทก์ที่สาขาชุมพรดังนั้น การเลิกจ้างโจทก์จึงไม่ใช่มาจากสาเหตุที่โจทก์บกพร่องต่อหน้าที่ ณ สาขาระนอง การที่จำเลยสั่งเลิกจ้างโจทก์จึงไม่เป็นการซ้ำซ้อนกับการลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์ที่เกิด ณ สาขาระนองแต่อย่างใด การเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีสาเหตุอันสมควร มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีสาเหตุและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์อันเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายเนื่องจากโจทก์ขาดเงินได้และโบนัสเป็นเวลา 6 ปี เป็นเงิน 3,947,520 บาทค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นเงิน 27,413.33 บาทเงินโบนัสประจำปี 2538-2539 เป็นเงิน 43,739.97 บาท รวมเป็นเงิน4,018,673.30 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การเลิกจ้างโจทก์มิได้เป็นการกลั่นแกล้งทั้งเป็นธรรมแก่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย เงินโบนัสและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เป็นพนักงานจำเลยตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2510 ครั้งสุดท้ายโจทก์ดำรงตำแหน่งนักบริหาร 11 กองบริหารงานบุคคล ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ41,120 บาท ระหว่างเดือนเมษายน 2534 ถึงตุลาคม 2536 โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้จัดการสาขาชุมพร มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารงานและดำเนินงานสาขา ตลอดจนควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชาในสาขาระดับจังหวัดและอำเภอในจังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง เมื่อต้นปี 2536 จำเลยตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์กับพวก คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเห็นว่าโจทก์ไม่มีความผิดทางวินัย แต่คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวินัยเห็นว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อและบกพร่องในการปฏิบัติงานและมีคำสั่งลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์ร้อยละ 20 เป็นเวลา 3 เดือน ตามคำสั่งที่ 215/2537ต่อมาจำเลยตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของโจทก์ที่สาขาชุมพร แล้วเสนอความเห็นว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง วันที่ 26 กันยายน 2538 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามคำสั่งที่ 1080/2538 หลังจากเลิกจ้างแล้วโจทก์ได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าชดเชย สินจ้าง แทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินบำเหน็จและเงินโบนัสจากจำเลยครบถ้วนแล้วจำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ขาดประสิทธิภาพในการทำงานและบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย และการเลิกจ้างโจทก์มิใช่เป็นการลงโทษทางวินัยซ้ำซ้อน จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ” มีปัญหาวินิจฉัยตามที่โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่า การที่จำเลยเอาการกระทำความผิดของโจทก์ที่ได้ลงโทษตัดเงินเดือนไปแล้วมาอ้างเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์อีกเป็นการลงโทษซ้ำซ้อนขัดต่อกฎหมายว่าด้วยความสงบเรียบร้อยถือว่าจำเลยไม่มีเหตุสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่าระหว่างเดือนเมษายน 2534 ถึงตุลาคม 2536โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารจำเลย สาขาชุมพร มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารงานและดำเนินงานของสาขา ตลอดจนควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชาในสาขาระดับจังหวัดและอำเภอในจังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง ต้นปี 2536 โจทก์ถูกร้องเรียนจากลูกค้าจำเลยว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการยืมเงินที่สาขาระนองจำเลยตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยแก่โจทก์ ตามคำสั่งจำเลยที่ 789/2536 เอกสารหมาย ล.5 ในที่สุดคณะกรรมการที่ปรึกษาเรื่องวินัยพิจารณาจากผลการสอบสวนแล้วเห็นว่า โจทก์เป็นผู้บังคับบัญชาต้องคอยดูแลและรับผิดชอบงานในสาขาทั้งมีหน้าที่อนุมัติให้เกษตรกรกู้เงินของจำเลย โจทก์ประมาทเลินเล่อบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่สมควรลงโทษตัดเงินเดือน จำเลยเห็นชอบด้วยและสั่งลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์ร้อยละ 20 เป็นเวลา 3 เดือนตามคำสั่งที่ 215/2537 และในเวลาต่อมาจำเลยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการให้เกษตรกรกู้เงินที่สาขาชุมพรอีกแห่งหนึ่ง ผลการสอบสวนปรากฏว่ามีพนักงานให้กู้เงินโดยฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลย จำเลยเห็นว่าสาเหตุเกิดจากความบกพร่องของโจทก์เช่นเดียวกัน จึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์เพราะขาดประสิทธิภาพในการบริหารงานและบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย จนไม่อาจเชื่อถือและไว้วางใจให้โจทก์ปฏิบัติงานต่อไปได้ ตามคำสั่งที่ 1080/2538เอกสารหมาย ล.6 เห็นว่า การที่จำเลยสั่งตัดเงินเดือนโจทก์เกิดจากสาเหตุโจทก์ประมาทเลินเล่อและบกพร่องต่อหน้าที่ในการปฏิบัติงานที่สาขาระนอง ส่วนการเลิกจ้างโจทก์นั้นเกิดจากสาเหตุการบกพร่องต่อหน้าที่ในการปฏิบัติงานของโจทก์ที่สาขาชุมพร ดังนั้น การเลิกจ้างโจทก์จึงไม่ใช่มาจากสาเหตุที่โจทก์บกพร่องต่อหน้าที่ ณ สาขาระนอง การที่จำเลยสั่งเลิกจ้างโจทก์ จึงไม่เป็นการซ้ำซ้อนกับการลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์ที่เกิด ณ สาขาระนองแต่อย่างใด การเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีสาเหตุอันสมควร มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่โจทก์อุทธรณ์ต่อมาที่ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินโบนัสหรือไม่ เห็นว่า ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลาง ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2539 ว่า โจทก์และจำเลยร่วมกันแถลงว่าหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมและไม่มีสาเหตุโจทก์จะมีสิทธิได้รับเงินโบนัสอีกครึ่งหนึ่งเป็นเงินตามฟ้อง 43,739.97 บาท ดังนั้นเมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยชอบ มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินโบนัสจากจำเลยอีก อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาที่โจทก์อุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่าเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยชอบ มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเนื่องจากการเลิกจ้างดังกล่าว อุทธรณ์โจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share