คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5099/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ก่อนทำสัญญาจ้าง ฝ่ายจำเลยทั้งสองจะทำสัญญาที่มีเงื่อนไขว่า ห้ามโจทก์ไปทำงานกับผู้อื่น แต่เมื่อโจทก์คัดค้านจึงต้องทำสัญญาจ้างดังกล่าวก็ตาม แต่ในสัญญาจ้างก็มีข้อความระบุเงื่อนไขของการจ้างว่า โจทก์จะต้องไม่ใช้ข้อมูลหรือเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับของจำเลยที่ 1 ซึ่งได้มาจากการเป็นพนักงานแก่บุคคลอื่นโดยเด็ดขาด หรือกระทำการที่ขัดต่อผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ข้อความดังกล่าวมิใช่ข้อสัญญาที่โจทก์ไม่สามารถระมัดระวังมิให้โจทก์ปฏิบัติผิดสัญญาได้ ทั้งมิใช่ข้อตกลงที่มีผลทำให้โจทก์ต้องรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติตามที่โจทก์กล่าวอ้างในอุทธรณ์แต่อย่างใดจำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายบริหาร เนื่องจากโจทก์เคยทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการมาก่อน แม้ในสัญญาจ้างจะไม่ระบุข้อความห้ามให้โจทก์ไปทำงานกับผู้อื่น แต่เมื่อมีข้อความห้ามไม่ให้โจทก์กระทำการที่ขัดต่อผลประโยชน์ของบริษัท การที่โจทก์ไปเป็นลูกจ้างผู้อื่นในตำแหน่งผู้อำนวยการด้านการศึกษาในโรงเรียนที่ประกอบกิจการประเภทเดียวกันกับจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการขัดต่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ทั้งเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยทั้งสองจึงเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ข้ออ้างที่จำเลยทั้งสองอ้างเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์เป็นข้ออ้างที่มีเหตุสมควร จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 1,968,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ถูกเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์แถลงไม่ติดใจเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าเดินทางกลับภูมิลำเนา
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการโรงเรียนสอนภาษา วันที่ 7 พฤศจิกายน 2542 โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งผู้อำนวยการ ทำงานวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 7.30 นาฬิกา ถึง 17.30 นาฬิกา หยุดวันเสาร์และวันอาทิตย์ ต่อมาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2547 โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจ้างมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2547 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2548 ในตำแหน่งที่ปรึกษาผู้บริหารได้รับค่าจ้างเดือนละ 100,000 บาท ตามสัญญาว่าจ้าง จ.ล.1 พร้อมคำแปล ตามสัญญาจ้างดังกล่าวข้อ 7 ระบุว่า โจทก์จะต้องพร้อมทำงานตามที่จำเลยที่ 1 ร้องขอ โดยก่อนทำสัญญาจ้างฉบับนี้ จำเลยที่ 1 จะทำสัญญาจ้างที่มีเงื่อนไขข้อหนึ่งว่า ห้ามโจทก์ไปทำงานกับผู้อื่น เมื่อโจทก์โต้แย้งสัญญาในข้อนี้จึงทำสัญญาว่าจ้างหมาย จ.ล.1 นับแต่ทำสัญญาว่าจ้าง โจทก์ไม่ต้องไปทำงานจำเลยที่ 1 เรียกโจทก์ไปให้คำปรึกษาเป็นเวลา 30 นาที เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2547 เพียงครั้งเดียว ต่อมาเมื่อต้นเดือนเมษายน 2547 โจทก์ไปเป็นลูกจ้างบริษัทสุวรรณภูมิพัฒนาการศึกษา จำกัด ซึ่งเประกอบกิจการประเภทเดียวกับจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งผู้อำนวยการด้านการศึกษาของโรงเรียนสอนภาษาไทย-อเมริกัน ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากโรงเรียนของจำเลยที่ 1 ประมาณ 8 กิโลเมตร โจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 85,000 บาท ต้องไปทำงานวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 7.30 นาฬิกา ถึง 17.30 นาฬิกา หยุดวันเสาร์และวันอาทิตย์ มีหน้าที่พิจารณาจ้างอาจารย์ เป็นหัวหน้าที่ปรึกษาฝ่ายการศึกษา วางแผนการศึกษา ทำตารางการเรียน โดยไม่ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบ วันที่ 30 เมษายน 2547 จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์ เนื่องจากโจทก์ไปเป็นลูกจ้างบุคคลอื่น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เมื่อจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ จำเลยทั้งสองจะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้ก่อนทำสัญญาจ้างตามเอกสารหมาย จ.ล.1 ฝ่ายจำเลยทั้งสองจะทำสัญญาที่มีเงื่อนไขว่า ห้ามโจทก์ไปทำงานกับผู้อื่น แต่เมื่อโจทก์คัดค้านจึงต้องทำสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.ล.1 ก็ตาม แต่ในสัญญาจ้างก็มีข้อความระบุเงื่อนไขของการจ้างว่า โจทก์จะต้องไม่ใช้ข้อมูลหรือเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับของจำเลยที่ 1 ซึ่งได้มาจากการเป็นพนักงานแก่บุคคลอื่นโดยเด็ดขาดหรือกระทำการที่ขัดต่อผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ข้อความดังกล่าวมิใช่ข้อสัญญาที่โจทก์ไม่สามารถระมัดระวังมิให้โจทก์ปฏิบัติผิดสัญญาได้ ทั้งมิใช่ข้อตกลงที่มีผลทำให้โจทก์ต้องรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ ตามที่โจทก์กล่าวอ้างในอุทธรณ์แต่อย่างใด จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายบริหาร เนื่องจากโจทก์เคยทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการมาก่อนแม้ในสัญญาจ้างจะไม่ระบุข้อความห้ามมิให้โจทก์ไปทำงานกับผู้อื่น แต่เมื่อมีข้อความห้ามไม่ให้โจทก์กระทำการที่ขัดต่อผลประโยชน์ของบริษัท การที่โจทก์ไปเป็นลูกจ้างผู้อื่นในตำแหน่งผู้อำนวยการด้านการศึกษาในโรงเรียนที่ประกอบกิจการประเภทเดียวกันกับจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการขัดต่อผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ทั้งเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยทั้งสองจึงเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ข้ออ้างที่จำเลยทั้งสองอ้างเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์เป็นข้ออ้างที่มีเหตุสมควร จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share