คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5496/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำร้องขัดทรัพย์โดยให้ผู้ร้องเสียค่าธรรมเนียมตามทุนทรัพย์ที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นราคาที่เจ้าพนักงานที่ดินประเมินไว้ก่อน ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มโดยให้คำนวณทุนทรัพย์ตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีตีราคาไว้ภายในกำหนด20 วัน ผู้ร้องทราบคำสั่งโดยชอบแล้วไม่ปฏิบัติตาม ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่รับคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องไว้ และจำหน่ายคดีของผู้ร้อง คำสั่งดังกล่าวหาใช่คำสั่งที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคสุดท้าย เนื่องจากมิใช่คำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี แต่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 (1) ผู้ร้องต้องทำคำคัดค้านโต้แย้งไว้เพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 (2) เมื่อผู้ร้องไม่นำเงินค่าขึ้นศาลที่ต้องเสียเพิ่มมาชำระภายในเวลาที่ศาลกำหนด ถือว่าผู้ร้องเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้ เป็นการทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา174 (2)
แม้ปรากฏว่าศาลชั้นต้นใช้คำว่า “สั่งไม่รับคำร้องขัดทรัพย์” รวมอยู่ในคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้รับคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องด้วย แต่ก็ได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความไว้ด้วย ถือว่าเป็นการใช้ถ้อยคำคลาดเคลื่อน ซึ่งมีผลเป็นว่าให้จำหน่ายคดีด้วยเหตุที่ผู้ร้องทิ้งคำร้องนั่นเอง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินรวม ๕ โฉนด พร้อมบ้าน ๑ หลัง อ้างว่าเป็นทรัพย์ของจำเลยที่ ๑ ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าทรัพย์ที่โจทก์นำยึดเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง ขอให้ปล่อยทรัพย์ และพร้อมกันนั้นผู้ร้องยื่นคำร้องว่าทรัพย์พิพาทที่โจทก์นำยึดเจ้าพนักงานบังคับคดีตีราคาไว้ ๒,๐๙๘,๐๐๐ บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีถือเอาตามทุนทรัพย์ที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษารวมทั้งดอกเบี้ย แต่ตามที่เจ้าพนักงานที่ดินประเมินราคาทรัพย์พิพาทมีเพียง๙๔๐,๐๐๐ บาท ผู้ร้องขอเสียค่าธรรมเนียมศาลตามทุนทรัพย์ดังกล่าว
ศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องขัดทรัพย์และให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ตามคำร้องดังกล่าวไปก่อน
โจทก์ให้การว่า ทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ ๑ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานผู้ร้อง ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีตีราคาไว้ภายใน ๒๐ วัน ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีตีราคา พร้อมกับยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาลไปจนกว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์และยกคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาลของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีตีราคาไว้ภายใน ๒๐ วัน ครบกำหนดแล้วผู้ร้องมิได้นำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาล จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้รับคำร้องไว้ก่อน และไม่รับคำร้องขัดทรัพย์ไว้พิจารณาจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดให้ผู้ร้อง และที่ผู้ร้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์นั้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องขัดทรัพย์ไว้พิจารณาและจำหน่ายคดีจึงไม่รับคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องแล้วโดยให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลตามราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินไปก่อน ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีตีราคาไว้ภายใน ๒๐ วัน ผู้ร้องทราบคำสั่งแล้วไม่ปฏิบัติตาม จึงเป็นการเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้เพื่อการนั้น เป็นการทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๔ (๒)พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้อง คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ให้แก่ผู้ร้องทั้งหมด
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำร้องขัดทรัพย์โดยถือตามทุนทรัพย์ที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นราคาที่เจ้าพนักงานที่ดินประเมินไว้ก่อน และต่อมาศาลได้มีคำสั่งให้ผู้ร้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่ม โดยให้คำนวณทุนทรัพย์ตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีตีราคาไว้ภายในกำหนด๒๐ วัน นั้น ตามคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ได้ตรวจคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องเป็นการถูกต้องและรับคำร้องไว้แล้ว หากแต่ว่าเงินค่าธรรมเนียมศาลที่ผู้ร้องชำระนั้นไม่ตรงตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เห็นสมควรให้ผู้ร้องชำระ จึงได้มีคำสั่งให้ผู้ร้องชำระเพิ่มให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด เมื่อผู้ร้องทราบคำสั่งโดยชอบแล้วกลับไม่ปฏิบัติตาม กล่าวคือไม่นำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลภายในกำหนด ศาลชั้นต้นจึงได้มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่รับคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องจึงฟังได้ว่าศาลชั้นต้นได้รับคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องไว้โดยสมบูรณ์และชอบด้วยกฎหมายแล้วทั้งตามฎีกาของผู้ร้องก็ระบุยอมรับไว้ชัดแจ้งด้วยว่าศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด หากผู้ร้องมิได้นำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลภายในกำหนด ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนคำสั่งที่รับคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องไว้ก่อนได้ แสดงว่าผู้ร้องก็เข้าใจดีว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งรับคำร้องของผู้ร้องไว้โดยสมบูรณ์และชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเดิมที่สั่งรับคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องไว้ เพราะเหตุที่ผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ให้นำเงินค่าธรรมเนียมเพิ่มมาวางศาลภายในกำหนด ซึ่งผู้ร้องได้ทราบคำสั่งโดยชอบแล้ว คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ผู้ร้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มภายในกำหนดเวลาที่ได้กำหนดไว้เป็นเวลา ๒๐ วัน นั้น ถือได้ว่าเป็นคำสั่งให้ผู้ร้องดำเนินคดีต่อไปภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้ เมื่อผู้ร้องทราบคำสั่งโดยชอบแล้ว กลับไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่รับคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องไว้ และจำหน่ายคดีของผู้ร้องออกจากสารบบความ คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวหาใช่คำสั่งที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธัพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๘ วรรคสุดท้าย ดังที่ผู้ร้องฎีกาไม่ ฉะนั้นเมื่อผู้ร้องทราบคำสั่งโดยชอบแล้วก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลเสียก่อน แม้ผู้ร้องจะเห็นว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้อง ผู้ร้องก็ต้องทำคำคัดค้านโต้แย้งไว้เพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๖ (๒) มิใช่ว่าผู้ร้องใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลทันที แล้วเพิกเฉยละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลดังที่ปรากฏเนื่องจากคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวมิใช่คำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี แต่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาจึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๖ (๑) ฉะนั้นเมื่อผู้ร้องทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยชอบแล้ว และเพิกเฉยละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลกลับขอขยายเวลาการนำเงินค่าขึ้นศาลที่ต้องเสียเพิ่มอีก แม้ศาลไม่อนุญาตและยกคำร้องของผู้ร้องก็ตาม ผู้ร้องก็ยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลอยู่ ดังนั้น เมื่อผู้ร้องไม่นำเงินค่าขึ้นศาลที่ต้องเสียเพิ่มมาชำระภายในเวลาที่ศาลกำหนด ถือว่าผู้ร้องเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้โดยผู้ร้องได้ทราบคำสั่งดังกล่าวโดยชอบแล้ว จึงถือว่าเป็นการทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๔ (๒) แม้ปรากฏว่าศาลชั้นต้นใช้คำว่า “สั่งไม่รับคำร้องขัดทรัพย์”รวมอยู่ในคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้รับคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องด้วยก็ตาม แต่ก็ได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความไว้ด้วย ถือว่าเป็นการใช้ถ้อยคำคลาดเคลื่อน ซึ่งมีผลเป็นว่าให้จำหน่ายคดีด้วยเหตุที่ผู้ร้องทิ้งคำร้องนั่นเอง
พิพากษายืน.

Share