แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือสำคัญรับรองการสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี มหาวิทยาลัยรามคำแหง ของผู้คัดค้านที่ผู้คัดค้านยื่นเป็นหลักฐานต่อผู้ร้องในวันสมัครรับเลือกตั้งนั้นเป็นเอกสารปลอม ซึ่งเท่ากับว่าในการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้คัดค้านนั้น ผู้คัดค้านไม่มีหลักฐานการสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่ามาแสดงต่อผู้ร้อง ซึ่งในกรณีของผู้คัดค้านที่ไม่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภานั้น พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม บัญญัติให้ต้องแสดงหลักฐานการสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่าต่อผู้ร้องเมื่อยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งด้วย เมื่อผู้คัดค้านไม่มีหลักฐานการสำเร็จการศึกษาดังกล่าวมาแสดงในวันยื่นใบสมัครรับเลือกตั้ง ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติที่จะเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 107 (3) ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีหรือไม่ เพราะไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคดีได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาเพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้งของนายสุมน ผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ในวันนัดพิจารณาคำร้อง นายฐิติวัช อัยการประจำกรม สำนักงานอัยการจังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดยโสธร ทนายผู้ร้องแถลงว่า ผู้ร้องได้มีหนังสือขอให้คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตรวจสอบวุฒิการศึกษาปริญญาตรี มหาวิทยาลัยรามคำแหงของผู้คัดค้าน ที่ผู้คัดค้านนำมายื่นในวันสมัครรับเลือกตั้ง ทางมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ตอบมาว่าผู้คัดค้านเคยมีประวัติเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ขณะนี้ขาดสภาพการเป็นนักศึกษาแล้ว และเอกสารการศึกษาที่ส่งมารับการตรวจสอบนั้นเป็นเอกสารปลอม
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านขาดคุณสมบัติมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องได้ดำเนินการตรวจสอบคุณวุฒิการศึกษาของผู้คัดค้านตามที่ผู้คัดค้านระบุไว้ในใบสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งว่าผู้คัดค้านสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี 2542 โดยมีหนังสือขอตรวจสอบวุฒิการศึกษาถึงคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ออกหนังสือสำคัญรับรองการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงพร้อมส่งสำเนาหนังสือสำคัญรับรองการสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีมหาวิทยาลัยรามคำแหงของผู้คัดค้านที่ยื่นเป็นหลักฐานต่อผู้ร้องในวันสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อให้ยืนยันรับรองความถูกต้อง และผู้อำนวยการสำนักบริการทางวิชาการและทดสอบประเมินผลซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวตรวจสอบแล้วยืนยันว่าเป็นเอกสารปลอม ซึ่งเท่ากับว่าในการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้คัดค้านนั้น ผู้คัดค้านไม่มีหลักฐานการสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่าตามที่กฎหมายรับรองไว้หรือตามที่ทบวงมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมายรับรองว่าสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่ามาแสดงต่อผู้ร้อง ซึ่งในกรณีของผู้คัดค้านที่ไม่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภานั้น พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม บัญญัติให้ต้องแสดงหลักฐานการสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่าต่อผู้ร้องเมื่อยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งด้วย เมื่อผู้คัดค้านไม่มีหลักฐานการสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่ามาแสดงในวันยื่นใบสมัครรับเลือกตั้ง ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติที่จะเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 107 (3) ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีหรือไม่ เพราะไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคดีนี้ได้ คำร้องของผู้ร้องฟังขึ้น
จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดยโสธรของผู้คัดค้าน