แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคลอันเป็นส่วนราชการ ทราบรายงานสรุปผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนและวินิจฉัยสั่งการเกี่ยวกับผู้รับผิดในทางแพ่งเมื่อวันที่ 9 มีนาคม2527 ถือว่าโจทก์เพิ่งรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันนั้น โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 8มีนาคม 2528 ยังไม่ล่วงพ้นระยะเวลา 1 ปี จึงไม่ขาดอายุความ อ.นำเอกสารที่ทำปลอมขึ้นเสนอต่อจำเลยที่ 3 ที่ 4 โดยไม่ผ่านจำเลยที่ 1 ที่ 2 ก่อนตามระเบียบ แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 3 ที่ 4 แต่ความรับผิดของผู้บังคับบัญชาในทางแพ่งจะต้องเป็นไปตามหลักเรื่องละเมิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 อันได้แก่การกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ กรณีนี้ถือว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ประมาทเลินเล่อมิได้ จำเลยที่ 3 ที่ 4 จ่ายเงินยืม-ทดรองราชการแก่ อ. ทั้งที่อ. มิได้เสนอผ่านขั้นตอนตามระเบียบ นอกจากนี้ยังมิได้เรียกหนังสือมอบฉันทะจาก อ. และมิได้ดำเนินการทวงถามเงินยืมคืนจากผู้ยืม เมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับจากวันรับเงินอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ทำให้ อ. สามารถกระทำการทุจริตได้การที่ อ. กระทำการทุจริตได้ จึงเป็นผลโดยตรงจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว จำเลยที่ 3 ที่ 4 มีหน้าที่ชดใช้เงินแก่โจทก์ หากโจทก์จะได้รับชำระหนี้จาก อ.และฉ.ในคดีที่โจทก์ฟ้องอ.และฉ.ให้รับผิดต่อโจทก์ อันเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 เพราะอาจไม่ต้องชำระหนี้ให้โจทก์อีก ก็เป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดีต่อไป หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้จึงหาซ้ำซ้อนกับคดีดังกล่าวไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่เป็นข้าราชการในสังกัดของโจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อ ไม่ใช้ความระมัดระวังพิจารณาเอกสารการขออนุมัติเดินทางไปราชการ เอกสารยืมเงินทดรอง สัญญายืมเงินและเช็คที่นางอรัญญา จริยาวัฒน์ หรือปัญญาฟู ลูกจ้างของโจทก์ทำขึ้นโดยปลอมลายมือชื่อของอธิการบดีและรองอธิการบดีของโจทก์แล้วนำไปแสดงต่อจำเลยทั้งสี่ ทั้งไม่เรียกหนังสือมอบฉันทะและยินยอมให้นางอรัญญานำเอกสารสัญญายืมเงินและเช็คไปให้ผู้มีอำนาจอนุมัติลงชื่อเอง นอกจากนี้ยังมิได้ทวงถามการชำระคืนเงินยืมทดรองภายในกำหนดเวลา เป็นเหตุให้นางอรัญญาทุจริตได้เงินของโจทก์ไปหลายครั้งเป็นเงิน 177,400 บาท แต่ได้คืนแล้ว 38,000 บาท ยังขาดอยู่อีก139,370 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การทำนองเดียวกันว่าตนเองมิได้ประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ศาลในคดีอาญาพิพากษาให้นางอรัญญาชดใช้เงินแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 2, ที่ 3ไม่ต้องรับผิด
จำเลยที่ 5 ยื่นคำให้การเกินกำหนด ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 139,370 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2527 จนถึงวันชำระเสร็จให้โจทก์ ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดในต้นเงินดังกล่าวเพียง 130,870 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราเดียวกันคิดตั้งแต่วันเดียวกันจนถึงวันชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสี่นำสืบรับกันฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า จำเลยทั้งสี่เป็นข้าราชการกองคลัง สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้อำนวยการกองคลัง จำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้างานการเงิน จำเลยที่ 3เป็นหัวหน้าหน่วยรับจ่ายเงินรายได้ จำเลยที่ 4 เป็นพนักงานการเงินและบัญชี จำเลยที่ 1 เป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 2ที่ 3 ที่ 4 จำเลยที่ 2 เป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 3 ที่ 4 เมื่อระหว่างวันที่ 29 มีนาคม 2526 ถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2526 นางอรัญญาจริยาวัฒน์หรือปัญญาฟู ลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการปลอมลายมือชื่อศาสตราจารย์นายแพทย์ประยุทธ ฐิตะสุต อธิการบดีศาสตราจารย์นายแพทย์ชัยโรจน์ แสงอุดม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัฏฐ์ชพานนท์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มนู ศิติสาร และรองศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ ปานปลอย รองอธิบการบดี ลงในเอกสารขออนุมัติเดินทางไปราชการเอกสารขอยืมเงินทดรองจ่ายไปรายการ สัญญายืมเงินและเช็คธนาคารออมสิน สาขาดอยสุเทพ รวม 41 รายการ ตามเอกสารหมาย จ.8ท้ายฟ้องแล้วนางอรัญญานำเอกสารนั้นไปรับเงินจากจำเลยที่ 3 ที่ 4ไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวรวม 177,400 บาท ได้รับคืนมาแล้ว38,000 บาท ยังขาดอยู่อีก 139,370 บาท
ข้อที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความนั้น เห็นว่าอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคลอันเป็นส่วนราชการ ได้ทราบรายงานสรุปผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนและวินิจฉัยสั่งการเกี่ยวกับผู้รับผิดในทางแพ่งเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2527 ตามเอกสารหมาย จ.27 ย่อมถือว่าโจทก์เพิ่งรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันนั้น โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2528 ยังไม่ล่วงพ้นระยะเวลา 1 ปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ข้อที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ประมาทเลินเล่อไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์นั้นเห็นว่า โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อ ไม่ใช้ความระมัดระวังพิจารณาคำขออนุมัติเดินทางไปราชการ เอกสารยืมเงินทดรองและสัญญายืมเงินที่นางอรัญญานำไปแสดงแก่จำเลยทั้งสี่ให้ถี่ถ้วน แต่ในชั้นพิจารณาไม่ปรากฏจากการนำสืบของโจทก์ว่านางอรัญญา นำเอกสารดังกล่าวไปแสดงแก่จำเลยที่ 1ที่ 2 ตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องแต่อย่างใดไม่ ได้ความแต่เพียงว่านางอรัญญานำเอกสารนั้นเสนอผ่านเฉพาะจำเลยที่ 3 ที่ 4 เท่านั้นจำเลยที่ 1 เบิกความว่า เกี่ยวกับการยืมเงิน จะต้องส่งบันทึกการขออนุมัติยืมเงินทดรองจ่ายพร้อมกับสัญญายืมเงินมายังงานธุรการกองคลังก่อน งานธุรการจะส่งเรื่องให้หัวหน้างานการเงิน แล้วหัวหน้างานการเงินจะส่งต่อไปยังหัวหน้าหน่วยรับจ่ายเงินรายได้ ต่อจากนั้นก็จะมีการส่งไปยังเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติเพื่อตรวจสอบและเสนอว่าเห็นสมควรอนุมัติหรือไม่ไปยังหัวหน้าหน่วยรับจ่ายเงินรายได้แล้วเสนอต่อไปยังหัวหน้างานการเงิน หัวหน้างานการเงินจะส่งเรื่องไปที่งานธุรการ งานธุรการก็จะเสนอไปยังผู้อำนวยการกองคลัง คือจำเลยที่ 1 นายแพทย์ประยุทธ ฐิตะสุต ศาสตราจารย์ในคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พยานโจทก์เบิกความเจือสมคำพยานจำเลยที่ 1ว่า เอกสารทั้ง 41 รายการที่มีการทุจริตนี้ ตามระเบียบแล้วจะต้องผ่านกองคลังโดยส่งไปที่สายงานธุรการก่อน จากงานธุรการก็จะไปสายงานการเงินเพื่อพิจารณาตรวจสอบแล้วนำเสนอผู้อำนวยการกองคลังคือจำเลยที่ 1 ว่าสมควรอนุมัติหรือไม่ เอกสารทั้งหมดดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 หรือปลอมลายมือชื่อจำเลยที่ 1 นายสมพรอนุสนธิ หัวหน้างานธุรการ กองคลัง สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พยานจำเลยที่ 1 เบิกความสนับสนุนว่า เกี่ยวกับทุจริตคดีนี้เอกสารต่าง ๆ ไม่ผ่านงานธุรการ เมื่อไม่ผ่านงานธุรการแล้ว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้อำนวยการกองคลังคงไม่ทราบเรื่องทุจริตดังกล่าว จำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้างานการเงิน เอกสารนั้นเมื่อไม่ผ่านงานธุรการแล้วก็จะไม่ผ่านไปทางหัวหน้างานการเงิน หัวหน้างานการเงินคงไม่ทราบเกี่ยวกับการทุจริตรายนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า เอกสารที่ปลอมทั้งหมดในคดีนี้ไม่ได้นำเสนอผ่านขั้นตอนตามระเบียบ โดยนางอรัญญาได้ปลอมขึ้นแล้วนำเสนอไปยังหน่วยรับจ่ายเงินรายได้คือต่อจำเลยที่ 3 ที่ 4 โดยไม่ผ่านจำเลยที่ 1 ที่ 2 ก่อนจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่อาจทราบได้ว่ามีการปลอมเอกสารนั้น หากมีการผ่านงานตามขั้นตอนแล้วนางอรัญญาก็ไม่สามารถกระทำการทุจริตครั้งนี้ได้ ปรากฏว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ทราบเรื่องทุจริตแล้ว ก็ได้เรียกจำเลยที่ 3 ที่ 4 มาสอบถามโดยเร็ว ให้ทำคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรตามเอกสารหมาย ล.10ล.11 ส่วนจำเลยที่ 2 ได้ทราบเหตุดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 โดยได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 1 ให้ทำการตรวจเอกสารทั้งหมด แม้จำเลยที่ 1ที่ 2 จะเป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 3 ที่ 4 ก็ตาม ความรับผิดของผู้บังคับบัญชาในทางแพ่งหาใช่ต้องมีหน้าที่ควบคุมดูแลให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้องและเรียบร้อย ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ ความรับผิดของผู้บังคับบัญชาในทางแพ่งจะต้องเป็นไปตามหลักเรื่องละเมิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 อันได้แก่การกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการปฏิบัติหน้าที่แล้ว โดยมิได้ประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 1 ที่ 2จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์ สำหรับจำเลยที่ 3 ที่ 4ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการขออนุมัติยืมเงินทดรองราชการ มีระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ พ.ศ. 2520ข้อ 40 และ 41 ระบุว่าจะต้องยื่นผ่านหัวหน้ากองคลัง เพื่อพิจารณาเสนอความเห็นต่อผู้มีอำนาจอนุมัติแต่เอกสารที่ปลอมทั้งหมดในคดีนี้ นางอรัญญาได้นำเสนอจำเลยที่ 3 ที่ 4 และจำเลยที่ 3 ที่ 4ได้จ่ายเงินยืมทดรองราชการให้แก่นางอรัญญาไป ศาลฎีกาเห็นว่า การจ่ายเงินในลักษณะเช่นนี้ต้องปฏิบัติตามระเบียบคือประกาศของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการรับการจ่ายเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย ลงวันที่ 29 เมษายน 2530 ข้อ 15 เอกสารหมายจ.10 อันมีข้อความระบุว่าการจ่ายเงินถ้าผู้มีสิทธิรับเงินไม่สามารถมารับเงินด้วยตนเองได้ จะมอบฉันทะให้ผู้อื่นเป็นผู้รับเงินแทนเมื่อได้รับอนุญาตจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้วก็ให้กระทำได้ นอกจากนี้ยังมีระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง พ.ศ. 2520 ข้อ62(3) เอกสารหมาย จ.12 ระบุว่า เงินที่ยืมไป ให้ผู้ยืมส่งใบสำคัญคู่จ่าย และเงินเหลือจ่าย (ถ้ามี) ต่อส่วนราชการผู้ให้ยืมภายใน30 วัน นับจากวันได้รับเงิน ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 ได้จ่ายเงินทดรองราชการให้นางอรัญญารับแทนไปโดยไม่เรียกหนังสือมอบฉันทะไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งรวมระเบียบดังกล่าวบุคคลที่จะมารับเงินแทนต้องมีหนังสือมอบฉันทะจากผู้มีสิทธิรับเงินแนบมาด้วย และต้องมีการทำเรื่องเบิกเงินคืนภายใน 30 วัน นับจากวันได้รับเงิน แต่เมื่อระยะเวลา 30 วัน ล่วงพ้นไปแล้วจำเลยที่ 3 ที่ 4 ก็มิได้ทวงถามให้ดำเนินการเบิกเงินคืนแต่อย่างใด เงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินรายได้ของส่วนราชการต้องปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวเช่นกัน หากจำเลยที่ 3 ที่ 4 ได้ตรวจสอบปฏิบัติหน้าที่โดยเคร่งครัดโดยเรียกเอาหนังสือมอบฉันทะไว้เป็นหลักฐานหรือทวงถามเป็นรายเรื่องทันทีที่ครบกำหนด นางอรัญญาก็ไม่สามารถกระทำการทุจริตได้ ฉะนั้นการที่นางอรัญญากระทำการทุจริตรับเงินไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวได้ เช่นนี้เป็นผลโดยตรงจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว จำเลยที่ 3 ที่ 4 จึงต้องรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์ โดยจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้บังคับบัญชาโดยตรงของจำเลยที่ 4 รู้แล้วว่าจำเลยที่ 4 จ่ายเงินโดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว แต่ปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 4 กระทำเช่นนั้น ต้องร่วมรับผิดในเงินส่วนที่จำเลยที่ 4 เป็นผู้จ่ายด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 รับผิดชดใช้เงินให้โจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์ด้วยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
ข้อที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ฎีกาว่า ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษาให้นางอรัญญาและพันตรีเฉลิม ประภัสสระกูล ร่วมรับผิดชดใช้ให้โจทก์แล้ว จำเลยที่ 3 ที่ 4 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์อีกนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 3 ที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นางอรัญญากระทำการทุจริตรับเงินไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 3 ที่ 4 มีหน้าที่ชดใช้เงินให้โจทก์เช่นกัน หากโจทก์จะได้รับชำระคืนจากนางอรัญญาและพันตรีเฉลิมอันเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่จะไม่ต้องชำระหนี้ให้โจทก์อีก ก็เป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดีต่อไป ฉะนั้น หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้จึงหาซ้ำซ้อนกับที่โจทก์ฟ้องนางอรัญญาและพันตรีเฉลิมให้รับผิดต่อโจทก์ดังที่จำเลยที่ 3ที่ 4 ฎีกาขึ้นมาไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.