คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5483/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อลูกหนี้ที่ 1 ไม่ได้ยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากรฯ เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่าได้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 71 แห่งประมวลรัษฎากรฯ การที่ลูกหนี้ที่ 1 ส่งมอบบัญชีและเอกสารต่าง ๆ มาให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบภายหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดแล้วไม่ทำให้การยื่นเอกสารรายการดังกล่าวกลับเป็นการยื่นภายในกำหนดเวลาได้ ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ทำการประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 71 แห่งประมวลรัษฎากรฯ จึงเป็นการกระทำที่ชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ทั้งสองไว้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2537 เจ้าหนี้รายที่ 1 ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลพร้อมเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 2,445,504 บาท อันเป็นค่าภาษีอากรของลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งลูกหนี้ที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจะต้องร่วมรับผิดในหนี้ของลูกหนี้ที่ 1โดยไม่จำกัดจำนวน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นว่า ลูกหนี้ที่ 1 ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีประจำปี 2531 และ 2532 ภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานประเมินจึงหมายเรียกลูกหนี้ที่ 1 มาไต่สวนและสั่งให้ลูกหนี้ที่ 1 นำบัญชีหรือพยานหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงลูกหนี้ที่ 1 ได้ส่งเอกสารดังกล่าวตามหมายเรียกแล้วเจ้าพนักงานประเมินจึงไม่มีอำนาจประเมินภาษีของลูกหนี้ที่ 1 ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากรและขัดกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป5/2527 ข้อ 1 แต่คงประเมินภาษีได้จากกำไรสุทธิ ซึ่งเมื่อรวมกับเบี้ยปรับแล้ว เจ้าหนี้รายที่ 1 มีสิทธิได้รับชำระหนี้ค่าภาษีอากรเป็นเงิน 186,702 บาท
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้เจ้าหนี้รายที่ 1 ได้รับชำระหนี้ค่าภาษีอากรจำนวน2,425,986.52 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสอง ส่วนที่ขอเกินมาให้ยก
เจ้าหนี้รายที่ 1 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และลูกหนี้ทั้งสองอุทธรณ์โดยผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรที่เจ้าหนี้รายที่ 1 จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้รายที่ 1 ได้รับชำระหนี้ภาษีอากรเป็นเงิน 2,445,504 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสองตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 107(2)
ลูกหนี้ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่าลูกหนี้ที่ 1 ไม่ได้ยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากรเจ้าพนักงานประเมินจึงหมายเรียกลูกหนี้ที่ 1 มาไต่สวนและสั่งให้ส่งบัญชีหรือพยานหลักฐานอื่นใดมาแสดง ซึ่งลูกหนี้ที่ 1 ได้ส่งเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณาของเจ้าพนักงานประเมินแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของลูกหนี้ทั้งสองว่า เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีของลูกหนี้ที่ 1 ตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่และลูกหนี้ทั้งสองต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้รายที่ 1 เพียงใด เห็นว่าเมื่อลูกหนี้ที่ 1 ไม่ได้ยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากรแล้วเจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่าได้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 71 แห่งประมวลรัษฎากร การที่ลูกหนี้ที่ 1 ได้ส่งมอบบัญชีและเอกสารต่าง ๆ มาให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบ แต่เป็นระยะเวลาภายหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ไม่ทำให้การยื่นเอกสารรายการดังกล่าวกลับเป็นการยื่นภายในกำหนดเวลาได้ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้ทำการประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 71 แห่งประมวลรัษฎากร จึงเป็นการกระทำที่ชอบแล้ว ส่วนลูกหนี้ทั้งสองจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้เป็นจำนวนเท่าใดนั้นเห็นว่า ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2531 ลูกหนี้ที่ 1 มีรายรับก่อนรายจ่ายเป็นเงิน 26,096,254.70 บาท โดยมีภาษีซึ่งหัก ณ ที่จ่ายแล้ว 260,958.68 บาท ส่วนในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 ลูกหนี้ที่ 1 มีรายรับก่อนหักค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 6,434,022.64 บาท มีภาษีซึ่งหัก ณ ที่จ่ายแล้ว 64,338.41 บาท เมื่อคำนวณภาษีตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายแล้วเป็นเงิน 1,304,812.73 บาท และ 321,701.13 บาท ตามลำดับและเมื่อนำภาษีซึ่งหัก ณ ที่จ่ายมาหักออกแล้ว คงเหลือภาษีที่ยังต้องจ่ายเป็นเงินจำนวน 1,043,854.05 บาท และ 257,362.72 บาท ตามลำดับ ซึ่งภาษีทั้งสองจำนวนนี้ลูกหนี้ที่ 1 มิได้ชำระภายในกำหนดเวลาจึงต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร คือ อัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน ของภาษีที่ต้องจ่าย นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นรายการของแต่ละปีตามกฎหมายจนถึงวันศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นเวลา 61 เดือน และ 49 เดือน ตามลำดับ รวมเป็นเงินเพิ่มในปี 2531 และ 2532 ที่ลูกหนี้ที่ 1 ต้องชำระเป็นเงิน 955,126.46 บาท และ 198,161.60 บาท ตามลำดับเมื่อรวมจำนวนภาษีที่ลูกหนี้ที่ 1 ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้รายที่ 1 แล้วเป็นเงิน 2,445,504 บาท ซึ่งหนี้ดังกล่าวลูกหนี้ที่ 2 ในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของลูกหนี้ที่ 1 ต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้ที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวน ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เจ้าหนี้รายที่ 1 ได้รับชำระหนี้ภาษีอากรเป็นเงิน 2,445,504 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสอง จึงชอบแล้ว ฎีกาของลูกหนี้ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share