คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5470/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกำหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบในคดีแรงงานไม่จำต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความแพ่ง เนื่องจาก พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะสำหรับคดีแรงงานได้บัญญัติไว้แล้วในมาตรา 39 วรรคหนึ่ง และการกำหนด ให้คู่ความฝ่ายใดในคดีแรงงานนำพยานมาสืบก่อนหรือหลังเป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลแรงงานโดยเฉพาะ
แม้ศาลแรงงานกลางจะมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในกรณีร้ายแรงหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยหรือไม่ แต่การวินิจฉัยประเด็น ข้อพิพาทดังกล่าวตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางก็เกี่ยวเนื่องโดยตรงที่จะวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงเป็นไปดังคำฟ้องหรือคำให้การว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและจะต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์หรือไม่ ศาลแรงงานกลางย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวได้โดยมิใช่เป็นการวินิจฉัยเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 7,020 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง และจ่ายค่าชดเชยจำนวน 42,120 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 42,120 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 7,020 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมหรือไม่ แต่ในการพิพากษาของศาลแรงงานกลางกลับกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในกรณีร้ายแรงหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยหรือไม่ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 และถือเป็นการวินิจฉัยเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องด้วยนั้น เห็นว่า การกำหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบในคดีแรงงานไม่จำต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เนื่องจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะสำหรับคดีแรงงานได้บัญญัติไว้แล้วในมาตรา 39 วรรคหนึ่ง และการกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดในคดีแรงงานนำพยานมาสืบก่อนหรือหลังเป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลแรงงานโดยเฉพาะ
เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน หากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ จำเลยให้การว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรง จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ และจำเลยไม่ประสงค์รับโจทก์กลับเข้าทำงาน ศาลแรงงานกลางได้กำหนดให้คู่ความนำพยานเข้าสืบตามคำฟ้องและคำให้การ แม้ศาลแรงงานกลางจะมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในกรณีร้ายแรงหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยหรือไม่ แต่การวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางก็เกี่ยวเนื่องโดยตรงที่จะวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงเป็นไปดังคำฟ้องหรือคำให้การว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและจะต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์หรือไม่ ศาลแรงงานกลางย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวได้โดยมิใช่เป็นการวินิจฉัยเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องแต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share