คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 27-28/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มีเงื่อนไขสำคัญคือ หากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องในคดีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและคดีถึงที่สุดเสียแล้ว พนักงานอัยการก็ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องเช่นว่าตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ส่วนอำนาจของพนักงานอัยการในการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือความผิดมูลฐานอื่นตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 นั้น เมื่อศาลทำการไต่สวนคำร้องของพนักงานอัยการแล้ว หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือความผิดมูลฐานอื่น ศาลก็มีอำนาจสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินได้ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และมาตรา 51 วรรคหนึ่ง โดยมิพักต้องพิจารณาว่าบุคคลผู้เป็นเจ้าของหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินดังกล่าวต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือความผิดมูลฐานอื่นหรือไม่

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งรวมกัน โดยเรียกผู้ร้องทั้งสองสำนวนว่า ผู้ร้อง และเรียกผู้คัดค้านทั้งสองสำนวนว่า ผู้คัดค้าน
ผู้ร้องยื่นคำร้องทั้งสองสำนวนเป็นใจความว่า ทรัพย์สินทั้ง 11 รายการของผู้คัดค้าน เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านทั้งสองสำนวน ขอให้ยกคำร้อง และคืนทรัพย์สินทุกรายการให้แก่ผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้รถยนต์หมายเลขทะเบียน กท 3362 เชียงใหม่ รถยนต์หมายเลขทะเบียน 5 ท-1964 เชียงใหม่ ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 25674 และเลขที่ 25918 ตำบลเวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เงินในบัญชีเงินฝากของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาฝาง บัญชีเลขที่ 682 – 1 – 01302 – 0 จำนวน 15,110.87 บาท เงินในบัญชีเงินฝากของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาฝาง บัญชีเลขที่ 532 – 0 – 11843 – 4 (ที่ถูกเป็นบัญชีเลขที่ 532 – 1 – 11843 – 4) จำนวน 13,487.72 บาท เงินในบัญชีเงินฝากของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาฝาง บัญชีเลขที่ 374 – 0 – 47201 – 8 จำนวน 13,735.40 บาท บัญชีเลขที่ 374 – 0 – 44285 – 4 จำนวน 2,998.60 บาท บัญชีเลขที่ 374 – 2 – 13851 – 8 จำนวน 30,175.29 บาท บัญชีเลขที่ 374 – 2 – 12742 – 0 จำนวน 43,153.29 บาท และบัญชีเลขที่ 274 – 3 – 02082 – 2 (น่าจะเป็น 374 – 3 – 02082 – 2 ) จำนวน 37,160 บาท พร้อมดอกผล ตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกของผู้คัดค้านว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินจำนวน 11 รายการ ตามสำเนาบัญชีทรัพย์สิน และสำเนาบัญชีทรัพย์สินของผู้ร้องในสำนวนหลัง ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ผู้คัดค้านฎีกาว่า เมื่อศาลจังหวัดฝางมีคำสั่งยกคำร้องในคดีที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้สั่งริบทรัพย์สินจำนวน 13 รายการที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มีคำสั่งยึดหรืออายัดเสียแล้ว ผู้ร้องย่อมไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินจำนวน 11 รายการ ตามสำเนาบัญชีทรัพย์สิน และสำเนาบัญชีทรัพย์สินของผู้ร้องในสำนวนหลัง ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ได้อีก เพราะเป็นคำร้องซ้ำ ซึ่งปัญหาข้อนี้แม้ผู้คัดค้านมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ แต่เนื่องจากเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง พิจารณาข้อฎีกาของผู้คัดค้านแล้ว เห็นว่า อำนาจของพนักงานอัยการในการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใดเพราะเหตุเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มีเงื่อนไขสำคัญคือ หากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องในคดีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและคดีถึงที่สุดเสียแล้ว พนักงานอัยการก็ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องเช่นว่า ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ส่วนอำนาจของพนักงานอัยการในการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือความผิดมูลฐานอื่นตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 นั้น เมื่อศาลทำการไต่สวนคำร้องของพนักงานอัยการแล้ว หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือความผิดมูลฐานอื่น ศาลก็มีอำนาจสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินได้ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และมาตรา 51 วรรคหนึ่ง โดยมิพักต้องพิจารณาว่าบุคคลผู้เป็นเจ้าของหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินดังกล่าวต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือความผิดมูลฐานอื่นหรือไม่ จึงเห็นได้ว่า เงื่อนไขแห่งอำนาจในการยื่นคำร้องของพนักงานอัยการในกรณีขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใดเพราะเหตุเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 แตกต่างจากกรณีขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือความผิดมูลฐานอื่นตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 กล่าวคือกรณีการยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใดเพราะเหตุเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 หากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องในคดีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและคดีถึงที่สุดเสียแล้ว พนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจยื่นคำร้องเช่นว่า ส่วนกรณีการยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือความผิดมูลฐานอื่นตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 นั้น พนักงานอัยการมีอำนาจยื่นคำร้องได้โดยมิพักต้องพิจารณาว่าบุคคลผู้เป็นเจ้าของหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินดังกล่าวต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือความผิดมูลฐานอื่นหรือไม่ ดังนั้น ประเด็นที่ศาลจะต้องพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องอำนาจของพนักงานอัยการในการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลจังหวัดฝางสั่งริบทรัพย์สินจำนวน 11 รายการ ที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มีคำสั่งยึดหรืออายัดจึงแตกต่างจาประเด็นที่ศาลจะต้องพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องอำนาจของผู้ร้องในการยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ คำร้องของผู้ร้องจึงไม่เป็นคำร้องซ้ำ ฎีกาข้อนี้ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share