แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเคยยื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดโทษจำเลยใหม่โดยไม่เพิ่มโทษ อ้างว่ามี พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับ จำเลยได้รับการล้างมลทินโดยถือว่าการกระทำความผิดในคดีก่อนถูกลบล้างไปแล้ว พระราชบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นคุณแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 ศาลชั้นต้นยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุด การที่จำเลยมายื่นคำร้องครั้งใหม่โดยอ้างเหตุอย่างเดียวกันกับในประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยชี้ขาดและคดีถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (เดิม) จำคุก 30 ปี เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 เป็นจำคุก 45 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 30 ปี ริบของกลาง คดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2550
วันที่ 20 มกราคม 2553 จำเลยยื่นคำร้องว่า ได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ จำเลยจึงได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว โดยถือว่าความผิดของจำเลยตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2292/2541 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยได้อีก ขอให้กำหนดโทษจำเลยใหม่โดยไม่มีการเพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดโทษจำเลยใหม่โดยไม่เพิ่มโทษ โดยอ้างว่ามีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับ จำเลยจึงได้รับการล้างมลทินโดยถือว่าการกระทำความผิดในคดีก่อนถูกลบล้างไปแล้ว พระราชบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 2 กำหนดให้พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไป ดังนั้น เมื่อคดีนี้ศาลได้มีคำพิพากษาและคดีถึงที่สุดไปแล้วก่อนพระราชบัญญัติมีผลใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติดังกล่าว และพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ไม่ใช่บทบัญญัติที่แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ให้ยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุด จำเลยมายื่นคำร้องครั้งใหม่โดยอ้างเหตุอย่างเดียวกันกับในประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยชี้ขาดและถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้ยกคำร้องของจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน