แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 132 ที่ว่าในการตีความแสดงเจตนานั้นท่านให้เพ่งเล็งถึง เจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนตามตัวอักษรนั้น หมายความว่า ถ้าข้อความในเอกสารมีทางแปลไปได้แล้วก็พึงแปลให้เข้ากับเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญา และเจตนาในที่นี้ ก็คือเจตนาอันเห็นได้จากหนังสือนั้นเอง มิได้หมายความว่าคู่สัญญาจะทำสัญญาไว้อย่างไรก็ช่าง แต่ย่อมสืบเจตนาได้เสมอการสืบเจตนานอกไปจากที่จะคำนวณได้จากตัวหนังสือนี้ มีห้ามไว้ในประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาขายข้าวเปลือกให้แก่โจทก์เป็นเวลา 1 ปีโดยส่งตามงวดซึ่งโจทก์จะได้สั่งในวันที่ 24 สิงหาคม 2488 โจทก์แจ้งให้จำเลยส่งข้าวเปลือก 30 เกวียนจำเลยส่งให้เพียง 12 เกวียน โจทก์เตือนให้จำเลยส่งให้ครบจำเลยก็ไม่ส่ง ทางเรือนจำต้องซื้อข้าวเปลือกจากคนอื่น จึงขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย
จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา และฟ้องแย้งเรียกเงินมัดจำ และราคาข้าว 12 เกวียน
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยผิดสัญญา จึงพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เงินมัดจำให้โจทก์ริบ และให้โจทก์ชำระราคาข้าวเปลือก 12 เกวียนให้จำเลย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาเป็นใจความสำคัญว่า สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยมีวัตถุประสงค์ส่งข้าวให้ผู้ถูกคุมขังในเรือนจำกินตลอดเวลาสัญญาโจทก์สั่งเท่าใด จำเลยส่งไม่ครบก็ได้ หากมีข้าวเพียงพอเลี้ยงผู้ต้องขัง ศาลล่างและศาลอุทธรณ์ไม่ยอมให้จำเลยนำสืบความข้อนี้นั้นไม่ถูกต้อง การแปลสัญญา ต้องหยั่งถึงเจตนาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 132
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 132 ที่ว่า ในการตีความแสดงเจตนานั้น ท่านให้เพ็งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำในสำนวนตามตัวอักษรนั้น หมายความว่าถ้าข้อความในเอกสารมีทางแปลงไปได้แล้ว ก็พึงแปลให้เข้ากับเจตนาอันเท็จจริงของคู่สัญญา เพราะเจตนาในที่นี้ก็คือเจตนาอันเห็นได้จากหนังสือนั้นเอง มิได้หมายความว่า คู่สัญญาจะทำอย่างไรก็ช่างแต่ย่อมสืบเจตนาได้เสมอ นอกจากนี้การสืบเจตนานอกไปจากที่จะคำนวณได้จากตัวหนังสือนี้ ยังมีห้ามไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 194 ด้วย สัญญาเรื่องนี้มีถ้อยคำชัดเจน ไม่มีกล่าวว่า สักแต่ให้ข้าวเพียงพอผู้ต้องขังดังจำเลยว่า จึงพิพากษายืน