แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้า เป็นการเรียกร้องขอคืนเงินอากรที่ได้เสียไปแล้วก่อนนำของออกจากอารักขาของศุลกากรตามมาตรา 40ไม่รวมถึงการเรียกร้องขอคืนเงินอากรที่ถูกประเมินเรียกเก็บเพิ่มเติมภายหลังจากนำของออกจากอารักขาของศุลกากรแล้วตามมาตรา 112 และ 112 ทวิ เห็นได้จากมาตรา 10วรรคห้า ให้นับกำหนดเวลา 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้า และมิให้รับพิจารณาการเรียกร้องขอคืนเงินอากร หลังจากที่ได้เสียอากรและของนั้น ๆ ได้ส่งมอบหรือส่งออกไปแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่ผู้นำเข้าได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบว่าจะยื่นคำเรียกร้องดังกล่าว ซึ่งถ้าเป็นกรณีตามมาตรา 112 และ 112 ทวิ จะไม่อาจใช้ระยะเวลา 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้าและไม่อาจแจ้งความต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบของว่าจะยื่นคำเรียกร้อง การที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนเงินอากรขาเข้าตามที่ถูกประเมินให้ชำระเพิ่มเติมมิใช่กรณีใช้สิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรขาเข้าเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงก่อนนำของออกจากอารักขาของศุลกากร สิทธิของโจทก์จึงไม่สิ้นไปเมื่อครบกำหนด 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้าตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้า แต่เป็นกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินและแจ้งให้โจทก์ชำระอากรขาเข้าเพิ่มเติมภายหลังจากโจทก์นำของออกจากอารักขาของศุลกากรแล้ว ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานเกี่ยวกับการประเมินราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้าตามฟ้อง ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 1,169,005.45 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 1,065,516.45 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า สินค้าที่โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักรตามฟ้องเป็นสินค้าประเภทเคมีภัณฑ์ การนำเข้าสินค้าแต่ละครั้ง โจทก์สำแดงราคาสินค้าต่ำกว่าราคาแท้จริงในท้องตลาดตามกฎหมายและต่ำกว่าผู้นำเข้ารายอื่นซึ่งนำเข้าสินค้าชนิดประเภทเดียวกับของโจทก์ ทั้งยังสำแดงราคาต่ำกว่าราคาที่ปรากฏในใบกำกับสินค้าด้วยรายละเอียดปรากฏตามตารางท้ายคำให้การ เจ้าพนักงานของจำเลยจึงประเมินราคาสินค้าตามราคาแท้จริงในท้องตลาด และประเมินภาษีอากรโดยเปรียบเทียบกับราคาสินค้าชนิดเดียวกับที่มีผู้นำเข้าและราคาสินค้าตามประกาศของอธิบดีกรมศุลกากร ซึ่งอาศัยอำนาจของกฎหมายประกาศให้เป็นราคาประเมินของสินค้าชนิดนั้น ๆ การประเมินของเจ้าพนักงานจึงชอบด้วยเหตุผลและกฎหมาย
โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2539 เป็นเวลาเกิน 1 ปี นับแต่วันนำสินค้าเที่ยวที่ 1 ถึงเที่ยวที่ 4 เที่ยวที่ 6 ที่ 7 และที่ 9 ตามฟ้องเข้ามาในราชอาณาจักรการขอคืนอากรสำหรับสินค้าดังกล่าวจึงขาดอายุความตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินอากรขาเข้าและเงินเพิ่มอากรขาเข้าเพิ่มเติมสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มเลขที่ 0102-01265080-3 เลขที่ 0101-01172345-8 เลขที่0102-00570585-6 เลขที่ 0102-00470259-2 เลขที่ 0102-01171280-3 เลขที่0102-00381042-7 และเลขที่ 0102-00383676-9 ให้จำเลยคืนเงินค่าอากรขาเข้าและเงินเพิ่มแก่โจทก์จำนวน 537,571.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 55,797.30 บาท นับแต่วันที่ 11 มกราคม 2538 ในต้นเงิน 110,310.75 บาทนับแต่วันที่ 29 มีนาคม 2538 ในต้นเงิน 69,266.99 บาท นับแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2537ในต้นเงิน 41,965.19 บาท นับแต่วันที่ 29 มีนาคม 2534 ในต้นเงิน 89,920.10 บาท นับแต่วันที่ 3 มีนาคม 2538 ในต้นเงิน 79,816.68 บาท นับแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2538และในต้นเงิน 126,494.29 บาท นับแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2534 เป็นต้นไปจนถึงวันที่อนุมัติจ่ายคืน แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันที่ 11 เมษายน 2539 ต้องไม่เกิน 37,784.44 บาท ตามที่โจทก์ขอ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์นำสินค้าตามคำฟ้องเข้ามาในราชอาณาจักรรวม 12 เที่ยว แต่สินค้าเฉพาะในคดีนี้คือสินค้าเที่ยวที่ 2 เที่ยวที่ 5 เที่ยวที่ 8 เที่ยวที่ 9 เที่ยวที่ 10 เที่ยวที่ 11 และเที่ยวที่ 12 รวม7 เที่ยว โดยโจทก์ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม เลขที่ 0102-01265080-3 เลขที่ 0101-01172345-8 เลขที่ 0102-00570585-6 เลขที่ 0102-01470259-2 เลขที่ 0102-01171280-3 เลขที่0102-00381042-7 และเลขที่ 0102-00383676-9 ตามลำดับ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยสั่งให้โจทก์ชำระอากรตามจำนวนที่สำแดงไปก่อน และให้วางประกันสำหรับเงินอากรที่อาจต้องเสียเพิ่มไว้ แล้วมอบสินค้าให้โจทก์รับไป ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงเพิ่มขึ้น โดยใช้ราคาสูงสุดที่มีผู้นำเข้ารายอื่นนำสินค้าประเภทและชนิดเดียวกันเข้ามาในราชอาณาจักรในช่วง 1 เดือนก่อนการนำเข้าของโจทก์เป็นราคาประเมินตามคำสั่งทั่วไปของกรมศุลกากรที่ 18/2536 หรือใช้ราคาเฉลี่ยที่กองวิเคราะห์ราคา กรมศุลกากร กำหนดไว้เป็นราคาประเมิน โจทก์ชำระอากรเพิ่มรวมทั้งเงินเพิ่มให้จำเลยแล้ว แต่ไม่เห็นด้วยกับการประเมินดังกล่าว
ปัญหาตามอุทธรณ์จำเลยที่เห็นสมควรวินิจฉัยเป็นประการแรกมีว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับการขอคืนเงินอากรสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม เลขที่ 0102-01265080-3 (เที่ยวที่ 2) และเลขที่ 0102-00470259-2 (เที่ยวที่ 9) ซึ่งโจทก์นำเข้าเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2536 และวันที่8 เมษายน 2537 ขาดอายุความแล้วหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่า การฟ้องขอคืนเงินอากรของโจทก์เป็นกรณีเนื่องมาจากปริมาณและราคาสินค้าไม่ถูกต้อง พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงประเมินเรียกเก็บเงินอากรเพิ่มให้ครบถ้วนตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 ซึ่งมาตราดังกล่าวบัญญัติไว้ในหมวดการเสียภาษีโดยกำหนดไว้ทั้งการเรียกเก็บภาษีที่มีการชำระขาด และการเรียกคืนในกรณีที่ชำระเกิน ดังนั้น การเรียกค่าภาษีอากรหรือการขอคืนค่าภาษีอากรในทุกกรณีย่อมอยู่ในบังคับของมาตรา 10 ทั้งสิ้น โจทก์จึงต้องฟ้องขอคืนเงินอากรก่อนครบกำหนดสองปีนับแต่วันนำของเข้าหรือส่งของออกตามมาตรา 10 วรรคห้า ส่วนมาตรา 112 และ112 ทวิ เป็นเพียงการกำหนดวิธีการนำของออกก่อน โดยให้วางเงินอากรตามสำแดงและวางประกันสำหรับเงินอากรสูงสุดที่พึงต้องเสียไว้ก่อนเท่านั้น และมาตราดังกล่าวบัญญัติไว้ในหมวดเบ็ดเสร็จทั่วไป อันเป็นคนละหมวดกับการเสียภาษีตามมาตรา 10 ดังนั้น ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับการขอคืนอากรสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มเลขที่ 0102-01265080-3 และเลขที่0102-00470259-2 ซึ่งนำเข้าเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2536 และวันที่ 8 เมษายน 2537จึงขาดอายุความ ข้อนี้เห็นว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้าบัญญัติว่า “สิทธิในการเรียกร้องเอาคืนเงินอากรเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงเป็นอันสิ้นไปเมื่อครบกำหนดสองปีนับจากวันที่นำของเข้าหรือส่งของออกแล้วแต่กรณี แต่คำเรียกร้องขอคืนอากรเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิดคุณภาพ ปริมาณ น้ำหนักหรือราคาแห่งของใด ๆ หรือเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใด ๆ นั้น มิให้รับพิจารณาหลังจากที่ได้เสียอากรและของนั้น ๆ ได้ส่งมอบหรือส่งออกไปแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่ได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบหรือส่งออกว่าจะยื่นคำเรียกร้องดังกล่าวหรือในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พึงต้องรู้อยู่ก่อนส่งมอบหรือส่งออกว่าอากรที่ชำระไว้นั้นเกินจำนวนที่พึงต้องเสียสำหรับของที่ส่งมอบหรือส่งออก” ตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงการเรียกร้องขอคืนเงินอากรที่ได้เสียไปแล้วก่อนนำของออกจากอารักขาของศุลกากรตามมาตรา 40 ไม่รวมถึงการเรียกร้องขอคืนเงินอากรที่ถูกประเมินเรียกเก็บเพิ่มเติมภายหลังจากนำของออกจากอารักขาของศุลกากรแล้วตามมาตรา 112 และ 112 ทวิ โดยจะเห็นได้จากมาตรา 10 วรรคห้า ให้นับกำหนดเวลาสองปีนับจากวันที่นำของเข้า และมิให้รับพิจารณาการเรียกร้องคืนเงินอากร หลังจากที่ได้เสียอากรและของนั้น ๆ ได้ส่งมอบหรือส่งออกไปแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่ผู้นำเข้าได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบว่าจะยื่นคำเรียกร้องดังกล่าว ซึ่งถ้าเป็นกรณีตามมาตรา 112และ 112 ทวิ แล้ว จะไม่อาจใช้ระยะเวลา 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้าและไม่อาจแจ้งความต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบของว่าจะยื่นคำเรียกร้อง ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนเงินอากรขาเข้าตามที่ถูกประเมินให้ชำระเพิ่มเติม จึงมิใช่กรณีใช้สิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรขาเข้าเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงก่อนนำของออกจากอารักขาของศุลกากร สิทธิของโจทก์จึงมิได้เป็นอันสิ้นไปเมื่อครบกำหนดสองปีนับจากวันที่นำของเข้าตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้า ดังที่จำเลยอุทธรณ์ แต่เป็นกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินและแจ้งให้โจทก์ชำระอากรขาเข้าเพิ่มเติมภายหลังจากโจทก์นำของออกจากอารักขาของศุลกากรแล้ว ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปตามอุทธรณ์จำเลยมีว่า ราคาที่โจทก์สำแดงตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มทั้ง 7 ฉบับ คือ เลขที่0102-01265080-3 เลขที่ 0101-01172345-8 เลขที่ 0102-00570585-6 เลขที่0102-00470259-2 เลขที่ 0102-01171280-3 เลขที่ 0102-00381042-7 และเลขที่0102-00383676-9 ในการนำเข้าสินค้าเที่ยวที่ 2 เที่ยวที่ 5 เที่ยวที่ 8 เที่ยวที่ 9 เที่ยวที่ 10เที่ยวที่ 11 และเที่ยวที่ 12 เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดหรือไม่ ดังนั้น การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินราคาสินค้าของโจทก์เพิ่มขึ้นจึงไม่ชอบจำเลยต้องคืนเงินอากรขาเข้าและเงินเพิ่มที่ประเมินเพิ่มเติมสำหรับการนำเข้าสินค้าทั้ง 7 เที่ยว แก่โจทก์อุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์สำหรับการคืนเงินอากรขาเข้าและเงินเพิ่มที่ประเมินเพิ่มเติมในการนำเข้าสินค้าเที่ยวที่ 9 เที่ยวที่ 10 และเที่ยวที่ 12 ตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการภาษีสรรสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มเลขที่ 0102-00470259-2 เลขที่0102-01171280-3 และเลขที่ 0102-00383676-5 ตามลำดับ ยังไม่ถูกต้องเนื่องจากมิได้ให้นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระอากรตามที่ประเมินเพิ่ม ข้อนี้เห็นว่า ปรากฏตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 88 แผ่นที่ 100 และแผ่นที่ 122 ว่า โจทก์ได้ชำระอากรที่จำเลยประเมินเพิ่มสำหรับการนำเข้าสินค้าในเที่ยวที่ 9 เที่ยวที่ 10 และเที่ยวที่ 12เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2538 วันที่ 9 มีนาคม 2538 และวันที่ 7 พฤศจิกายน 2538 ตามลำดับ ดังนั้น การที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์สำหรับการนำเข้าสินค้าในเที่ยวที่ 9 นับแต่วันที่ 29 มีนาคม 2534 เที่ยวที่ 10 นับแต่วันที่ 3มีนาคม 2538 และเที่ยวที่ 12 นับแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2538 จึงไม่ถูกต้อง อุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า การคืนเงินอากรขาเข้าและเงินเพิ่มแก่โจทก์สำหรับการนำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มเลขที่ 0102-00470259-2 เลขที่ 0102-01171280-3 และเลขที่ 0102-00383676-9 ให้จำเลยคืนพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 29 มีนาคม 2538 วันที่ 9 มีนาคม 2538 และวันที่7 พฤศจิกายน 2538 ตามลำดับ เป็นต้นไปจนถึงวันที่มีการอนุมัติให้จ่ายคืน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง