คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5480/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ว่าโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ในการคิดอัตราดอกเบี้ยไม่ได้อยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 654 แต่การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 ซึ่งกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด โจทก์จึงได้ออกประกาศอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดมาใช้บังคับ กรณีของจำเลยอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินไปจากโจทก์นั้นเป็นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อชฎาทองเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งโจทก์เรียกเก็บได้เพียงร้อยละ 13.75 ต่อปี ตามประกาศของธนาคารโจทก์ข้อ 2.1.1 เท่านั้น ส่วนอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ที่โจทก์ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน ข้อ 2 นั้น เป็นอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่ระบุไว้ตอนท้ายของเอกสารต่างหาก และยิ่งไปกว่านั้นยังปรากฏว่าโจทก์ได้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งหลายอัตราตามตารางรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย ซึ่งโจทก์คิดจากจำเลยมีบางรายการในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีบ้าง ร้อยละ 19.50 ต่อปีบ้าง และร้อยละ 24 ต่อปีก็มี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตอีกต่างหาก จึงเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศของธนาคารโจทก์เอง อันเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ ดังนั้นเงินส่วนดอกเบี้ยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะทั้งหมด แต่เนื่องจากเป็นหนี้เงินซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
โจทก์เป็นผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ที่จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ ประกอบกับประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์ ทำให้โจทก์จำเป็นต้องทราบรายละเอียดหลักเกณฑ์การเรียกดอกเบี้ยเป็นอย่างดี ส่วนจำเลยซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ โดยสภาพและตามสำนวนไม่ปรากฏเหตุผลที่แสดงว่าจำเลยจะทราบถึงหลักเกณฑ์ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น ลำพังแต่การที่จำเลยนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์เพราะตนเป็นหนี้แล้วโจทก์นำไปจัดการหักชำระหนี้ต่างๆ ตามจำนวนหนี้ที่โจทก์คิดคำนวณขึ้นมาเอง ประกอบกับโจทก์เป็นสถาบันการเงินที่ประกอบการธนาคารพาณิชย์อันเป็นกิจการซึ่งเป็นที่เชื่อถือของประชาชนย่อมมีเหตุทำให้จำเลยเข้าใจและเชื่อว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยถูกต้องแล้ว กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้ที่คิดคำนวณไม่ถูกต้องไปนั้นโดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องชำระอันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิจะได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 ฉะนั้นเมื่อข้อสัญญาเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ตกเป็นโมฆะแล้วก็เท่ากับสัญญากู้ยืมเงินมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้อันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัดและไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 13,220.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 9,571.35 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ผู้บอกกล่าวบังคับจำนองไม่มีอำนาจบอกกล่าวบังคับจำนอง หนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไม่ได้ให้ระยะเวลาแก่จำเลยชำระหนี้ในเวลาอันควรไม่ชอบด้วยกฎหมายโจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง และคดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 13,220.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 9,571.35 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้ยึดห้องชุดเลขที่ 41/235 ชั้นที่ 7 อาคารเลขที่ 1 ชื่ออาคารชุด “เค.ลาย แมนชั่น” บนที่ดินโฉนดเลขที่ 17000 ตำบลบางกระสอ (บางซื่อ) อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรีพร้อมอุปกรณ์ตรึงตราติดตั้งกับอาคารชุดดังกล่าวออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์จนครบถ้วน หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยอุทธรณ์
ระหว่างอุทธรณ์ บริษัทบริหารสินทรัพย์ เพชรบุรี จำกัด ยื่นคำร้องของเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาจำนวน 13,220.98 บาท ซึ่งไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง โจทก์คงฎีกาได้เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2536 จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินไปจากโจทก์สาขาวงเวียนใหญ่ จำนวน 275,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย โดยจำเลยได้จดทะเบียนจำนองห้องชุดเลขที่ 41/235 ชั้นที่ 7 อาคารเลขที่ 1 ชื่ออาคารชด “เค.ลาย แมนชั่น” ทะเบียนอาคารชุดเลขที่ 1/2535 ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 17000 ตำบลบางกระสอ (บางซื่อ) อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ต่อมาจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โดยชำระครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2541 จำนวน 3,500 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ดอกเบี้ยตามฟ้องของโจทก์ตกเป็นโมฆะหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ตามฟ้องไม่เป็นโมฆะ เพราะโจทก์เป็นสถาบันการเงินจึงต้องใช้พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 มาใช้บังคับซึ่งให้สิทธิสถาบันการเงินคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปีได้ แต่ไม่ให้เกินกว่าอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จึงหาเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 แต่อย่างใดไม่ เห็นว่า แม้ว่าโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ในการคิดอัตราดอกเบี้ยไม่ได้อยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 แต่การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 ซึ่งกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด โจทก์จึงได้ออกประกาศอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดมาใช้บังคับ กรณีของจำเลยอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินไปจากโจทก์นั้น เป็นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อชฎาทองเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งโจทก์เรียกเก็บได้เพียงร้อยละ 13.75 ต่อปี ตามประกาศของธนาคารโจทก์ ข้อ 2.1.1 เท่านั้น ส่วนอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ที่โจทก์ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน ข้อ 2 นั้นเป็นอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่ระบุไว้ตอนท้ายของเอกสารต่างหาก และยิ่งไปกว่านั้นยังปรากฏว่าโจทก์ได้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งหลายอัตราตามตารางรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย ซึ่งโจทก์คิดจากจำเลยมีบางรายการในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีบ้าง ร้อยละ 19.50 ต่อปีบ้างและร้อยละ 24 ต่อปีก็มี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตอีกต่างหาก จึงเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศของธนาคารโจทก์เอง อันเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ดังนั้น เงินส่วนดอกเบี้ยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะทั้งหมด แต่เนื่องจากเป็นหนี้เงินซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ภายในวันที่ 25 พฤษภาคม 2543 จำเลยได้รับหนังสือแล้วแต่ไม่ชำระหนี้ในวันดังกล่าว จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2543 เป็นต้นไป โจทก์ก็มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2543 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า การที่จำเลยชำระหนี้ไปในมูลหนี้ที่ไม่ต้องชำระหรือไม่ต้องรับผิดนั้น จำเลยทั้งสองมีสิทธิที่จะเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ที่จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ประกอบกับประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์ ทำให้โจทก์จำเป็นต้องทราบรายละเอียดหลักเกณฑ์การเรียกดอกเบี้ยเป็นอย่างดี ส่วนจำเลยซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ โดยสภาพและตามสำนวนไม่ปรากฏเหตุผลที่แสดงว่าจำเลยจะทราบถึงหลักเกณฑ์ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น ลำพังแต่การที่จำเลยนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์เพราะตนเป็นหนี้แล้วโจทก์นำไปจัดการหักชำระหนี้ต่างๆ ตามจำนวนหนี้ที่โจทก์คิดคำนวณขึ้นมาเอง ประกอบกับโจทก์เป็นสถาบันการเงินที่ประกอบการธนาคารพาณิชย์อันเป็นกิจการซึ่งเป็นที่เชื่อถือของประชาชน ย่อมมีเหตุทำให้จำเลยเข้าใจและเชื่อว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยถูกต้องแล้ว กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้ที่คิดคำนวณไม่ถูกต้องไปนั้นโดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องชำระอันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิจะได้รับทรัพย์นั้นคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 ฉะนั้น เมื่อข้อสัญญาเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ตกเป็นโมฆะแล้วก็เท่ากับสัญญากู้ยืมเงินมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้อันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัดและไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ เพชรบุรี จำกัด ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์นั้น เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ คดีจึงอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ เพชรบุรี จำกัด ผู้ร้องเข้ามาเป็นคู่ความแทนโจทก์ได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบ ให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ เพชรบุรี จำกัด เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ แต่เมื่อคดีนี้มาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาและข้อเท็จจริงปรากฏจากคำร้องของผู้ร้องว่า โจทก์ได้โอนขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้เป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้แก่ผู้ร้อง ซึ่งในจำนวนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งหมดดังกล่าวมีหนี้ของจำเลยรวมอยู่ด้วย ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ได้ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ได้ตามคำร้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วทั้งหมดตามบัญชีเงินให้กู้นับตั้งแต่วันทำสัญญากู้ยืมเงิน (5 กุมภาพันธ์ 2536) ไปหักออกจากต้นเงินจำนวน 275,000 บาท เสียก่อน เมื่อเหลือต้นเงินจำนวนเท่าใดให้จำเลยชำระต้นเงินคงเหลือจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share